xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพฯ ชู ท้องถิ่นร่วมสร้างคนไทยสุขภาพดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมอนามัย เตรียมจัดประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ภายใต้หัวข้อหลัก “ภาคีรวมจิต ท้องถิ่นร่วมใจ สร้างเสริมให้คนไทยสุขภาพดี” เน้นสร้างความร่วมมือกับภาคีท้องถิ่น เพื่อให้คนไทยสุขภาพดีภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

วันที่ 21 กรกฎาคม นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในการแถลงข่าวประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 3 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าว ประกอบด้วย นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และ นายบุญสืบ แช่มช้อย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า กรมอนามัยได้กำหนดให้มีการจัดประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการได้นำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิด นวัตกรรม และยังเป็นโอกาสทำให้เกิดและพัฒนาเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างภาคท้องถิ่น ภาคประชาชน และนักวิชาการจากแวดวงสาธารณสุข รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังกล่าวทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจ อันจะนำไปสู่การมีความสามารถที่จะร่วมคิดร่วมทำ และร่วมตัดสินใจในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศและท้องถิ่นได้ตามบทบาทหน้าที่ที่เหมาะสม

“งานส่งเสริมสุขภาพและงานอนามัยสิ่งแวดล้อม นับว่า เป็นงานสาธารณสุขพื้นฐานที่สำคัญยิ่งที่จะทำให้คนมีสุขภาพพลานามัยที่ดี เป็นงานที่เน้นกระบวนการสร้างและพัฒนาศักยภาพให้ประชาชนแต่ละคน รวมไปถึงชุมชนและสังคม สามารถจัดการกับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญ คือ การนำแนวคิดและหลักการของการสร้างสุขภาพมาใช้ในการดำเนินงานสาธารณสุขของประเทศ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีภาคีสุขภาพที่เข้มแข็ง และให้ความสำคัญร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นมากขึ้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า การที่จะพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาท้องถิ่น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่ทำให้ไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ ซึ่งการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นต้องควบคู่ไปกับการให้อำนาจในการตัดสินใจ การพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมสนับสนุนให้สามารถดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ที่กำหนดได้ ดังนั้น การประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2551 ในระหว่างวันที่ 23-25 กรกฎาคม 2551 ณ ฮอลล์ 9 อิมแพค เมืองทองธานี นั้น กรมอนามัยได้กำหนดเนื้อหาหลักของการประชุม คือ “ภาคีรวมจิต ท้องถิ่นร่วมใจ สร้างเสริมให้คนไทยสุขภาพดี” โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สามารถกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมในการให้บริการส่งเสริมสุขภาพร่วมกับอนามัยสิ่งแวดล้อมได้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างเหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งบริบทด้านอื่นๆ ของท้องถิ่น โดยอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่าย อันจะนำไปสู่การวางแนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งภาครัฐและเอกชนต่อไป

“ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การประชุมวิชาการโดยมีการนำเสนอผลงานที่เป็นการศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมอบรางวัลให้แก่ผลงานวิชาการดีเด่นและรับฟังการบรรยายพิเศษและอภิปรายในหัวข้อที่กำลังเป็นประเด็นร้อนด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน อาทิ การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากภาวะโลกร้อน การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพในระดับชุมชนและท้องถิ่น การดำเนินงานเมืองน่าอยู่ การพัฒนาส้วมสาธารณะ และการดูแลสุขภาพเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ โดยองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เป็นต้น” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว

นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัลให้แก่หน่วยงานที่มีผลงานดีเด่นด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยจะมีการนำเสนอผลสำเร็จของการดำเนินงาน ที่เป็นตัวอย่างที่ดี เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคีด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่เป็นไฮไลต์ของการจัดประชุมในครั้งนี้ คือ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่องานสาธารณสุขของประเทศไทย

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวด้วยว่า การจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้ กรมอนามัยจึงคาดหวังให้เกิดการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคีเครือข่ายด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมขององค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นและของประเทศ ด้วยการประกาศเจตนารมณ์ของพันธมิตรและภาคีที่จะดำเนินการร่วมกันภายหลังการประชุม เพื่อมุ่งเน้นให้คนไทยมีสุขภาพดีภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมอย่างยั่งยืนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น