xs
xsm
sm
md
lg

เผยปี 51 มีผู้ติดยาเสพติดกว่า 5 แสน แต่บังคับบำบัดได้แค่ 7 หมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


1 ก.ค.ดีเดย์ รับผู้ติดสารระเหย 5-8 พันคนบำบัด เตรียมรับมือบำบัดภาวะแทรกซ้อนทางสมองรักษาต่อเนื่อง 4-6 เดือน เผยปี 2551 ผู้ติดยาเสพติดกว่า 5 แสนคน เข้ารับการบำบัดแค่ 7 หมื่นคน แถมส่วนใหญ่ต้องบังคับบำบัด เข้มเอกซเรย์ทุกพื้นที่ค้นหาผู้สมัครใจบำบัด

นาวาอากาศตรี นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์ยาเสพติดในปัจจุบัน ว่า จากการประมาณการในปี 2551 มีผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดประมาณกว่า 5 แสนคน ในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 70 หรือประมาณ 3-4 แสนคน เป็นผู้เสพผู้ติดรายใหม่ โดยมีการใช้ยาบ้ามากที่สุด เฮโรอีนลดน้อยลง และสุราเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ในระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมามีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาเกือบ 7 หมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่เข้ามารักษาในระบบบังคับบำบัด เจ้าหน้าที่พบเห็นการเสพยาแล้วนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและบำบัดรักษา นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา

นาวาอากาศตรี นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายที่จะให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดเชิงรุกในพื้นที่จะเป็นการคัดกรอง ค้นหา ผู้ที่เสพและติดยาเสพติดจากพื้นที่เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาที่มีมาตรฐาน ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรสาธารณสุขในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติด แม่ฮ่องสอน ได้จัดประชุมวิชาการเวชศาสตร์การเสพติดชนเผ่า ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาและสารเสพติดจากสถานพยาบาลและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่สูง 20 จังหวัด จำนวน 150 คน ด้วย

รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไป ผู้ติดสารระเหยจะถูกนำมาบำบัดรักษาตาม พระราชบัญญัติฟื้นฟูสภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 เช่นเดียวกับยาเสพติดประเภทอื่น โดยนำผู้ติดหรือใช้สารระเหยเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาในระบบบังคับบำบัด ในช่วงแรกคาดว่าจะมีผู้ป่วยสารระเหยเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูประมาณ 5-8 พันคน โดยเป็นทั้งผู้เสพและติดตลอดจนเป็น ผู้ติดและมีภาวะแทรกซ้อนทางสมอง โดยได้เตรียมความพร้อมของสถานพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ ได้แก่ สถาบันธัญญารักษ์และศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดในภูมิภาคทั้ง 5 แห่ง คือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น สงขลา และปัตตานี รองรับผู้ป่วยสารระเหย โดยเฉพาะผู้ติดและ มีภาวะแทรกซ้อนเป็นผู้ป่วยในที่จะให้การบำบัดรักษาเป็นระยะเวลา 4-6 เดือนขึ้นไป นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมในการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรในสถานบำบัดทั่วประเทศ และจัดทำคู่มือในการดูแลผู้ติดสารระเหย

นาวาอากาศตรี นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ รัฐบาลได้นำมาตรการ“ปฏิบัติการรวมพลังประชาไทย พ้นภัยยาเสพติด” มาใช้โดยมีกลยุทธ์ 3 ลด 3 เพิ่ม 3 เน้น คือ ลดผู้ค้า ลดผู้เสพ ลดกลุ่มเสี่ยงและปัจจัยเสี่ยง เพิ่มมาตรการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เข้มแข็ง เพิ่มบทบาทภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มบทบาทช่องทางสาธารณะร่วมเฝ้าระวังยาเสพติด และเน้นกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลบางพื้นที่ เน้นพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นพื้นที่นำเข้าและพื้นที่ต่อเนื่องซ้ำซาก โดยระดมค้นหาเอกซเรย์ทุกพื้นที่ ใช้ขบวนการประชาคม นำผู้เสพผู้ติดที่ยังเหลืออยู่เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาโดยสมัครใจให้มากที่สุดภายใน 3 เดือน

“จังหวัดแม่ฮ่องสอนถือเป็น 1 ใน 25 จังหวัดเป้าหมายในแผนปฏิบัติการรวมพลังประชาไทย พ้นภัยยาเสพติด ที่มีการแพร่ระบาดของสารเสพติดในชุมชนพื้นที่สูงในภาวะรุนแรง โดยเป็นจังหวัดที่มีการลำเลียงยาเสพติดจากภายนอกประเทศ เป็นแหล่งพักยาและนำมาสู่ส่วนกลางของประเทศ นอกจากนี้ผู้ที่ใช้ ยาเสพติดในพื้นที่สูงโดยเฉพาะชนเผ่าต่างๆ เป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ ส่วนใหญ่จะติดฝิ่น กัญชา การบำบัดรักษาจึงต้องมีลักษณะพิเศษแตกต่างกันออกไป ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ และการดำรงชีวิต” นาวาอากาศตรี นพ.บุญเรือง กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น