xs
xsm
sm
md
lg

เผยแนวโน้มความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น ดันตั้งศูนย์แก้ฯระดับ จ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐดันตั้งศูนย์แก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวระดับจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและสตรีที่ถูกทำร้ายในครอบครัว โดยนำร่องที่จังหวัดปทุมธานีเป็นจังหวัดแรก คาดหวังสื่อมวลชนมีบทบาทในการสร้างความตระหนักแก่สังคม เผยสถิติแนวดโน้มความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นอีก

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก และสตรีในครอบครัว ในการประชุมวิชาการระดับชาติ เพื่อยุติความรุนแรงต่อครอบครัว เด็กและสตรีครั้งที่ 2 ว่า เป็นกระแสสากลที่ทั่วโลกตื่นตัว เห็นได้จากการมีกลไกระหว่างประเทศ เช่น ข้อตกลงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ปฏิญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวไม่เพียงส่งผลกระทบต่อบุคคลและความมั่นคงของครอบครัว และสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กและสตรียังมีผลต่อการพัฒนาคนและสังคมโดยรวมอีกด้วย โดยมีรายงานในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา พบความอบอุ่นของครอบครัวในสังคมไทยมีระดับลดต่ำลง นำมาสู่ปัญหาสังคมหลายรูปแบบ เห็นได้จากสถิติของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ระบุว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและสตรีในปี 2550 มีคนไข้มาขอความช่วยเหลือมากถึง 12,225 ราย เฉลี่ย 34 รายต่อวัน ผู้กระทำเป็นสามี เพื่อน คนใกล้ชิดและคนรู้จักตามลำดับ ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีภาครัฐและองค์กรเอกชนฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายบริการทางการแพทย์ ฝ่ายสังคมสงเคราะห์รวมกว่า 500 คน จะมาร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหา และทำความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 หลังมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นพ้องที่จะให้มีการจัดตั้งศูนย์แก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวระดับจังหวัดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและสตรี ที่ถูกทำร้ายในครอบครัว

นายสุรเดช ฉายะเกษตริน ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พ.ญ.เพ็ญศรี พิชัยสนิธ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พ.ญ.ชนิกา ตู้จินดา รองประธานคนที่ 2 กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ นายพิเชษฐ์ ไพบูลย์ศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ร่วมแถลงข่าวการประชุมวิชาการระดับชาติ เพื่อยุติความรุนแรงต่อครอบครัว เด็กและสตรี ครั้งที่ 2 ประจำปี 2551 เรื่อง “ก้าวย่างสู่ทศวรรษใหม่ สังคมไทย ไร้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” ว่า การประชุมวันนี้ เพื่อจัดหาแนวทางสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์แก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวระดับจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและสตรีที่ถูกทำร้ายในครอบครัว ภายใต้กรอบของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลประกาศใช้เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2550 เนื่องจากปัจจุบันปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น กฎหมายนี้จึงมุ่งสร้างความตระหนักว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาสาธารณะ ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะครอบครัว และคาดหวังให้สื่อมวลชนมีบทบาทในการสร้างความตระหนักแก่สังคม ทั้งนี้ จะนำร่องศูนย์ดังกล่าวที่จังหวัดปทุมธานี เพื่อพัฒนากลไกในการดำเนินงานด้านนี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงฯ ซึ่งจะเป็นต้นแบบไปสู่จังหวัดอื่น โดยตั้งเป้าว่า อีก 10 ปีข้างหน้า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวจะหมดไป

สำหรับข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข มีผู้ถูกกระทำรุนแรงที่เข้ารับการบำบัดช่วยเหลือ ในปี 2548 จำนวน 11,542 ราย ปี 2549 จำนวน 15,882 ราย และปี 2550 จำนวน 17,518 ราย และข้อมูลของศูนย์ประชาบดี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีการรับแจ้งเรื่องและขอคำปรึกษาเรื่องการกระทำรุนแรงต่อเด็กและสตรีทางโทรศัพท์ ในปี 2549 จำนวน 303 ราย ปี 2550 จำนวน 385 ราย และตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค.2551 จำนวน 142 ราย สถิติเหล่านี้จึงเห็นได้ว่า มีการกระทำความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกปี และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะผู้กระทำความรุนแรงมากที่สุดเป็นสามี 3,280 ราย เป็นเพื่อนคนใกล้ชิด 2,929 ราย และเป็นคนรู้จัก 2,671 ราย
กำลังโหลดความคิดเห็น