จิตแพทย์ ระบุ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไทย เข้าขั้นวิกฤติ ที่น่าตกใจ สังคมไฮโซคนรวย ครองแชมป์จิตวิปริต นิยมใช้ความรุนแรงทางเพศมากที่สุด สถิติในปัจจุบันชี้สตรี เด็ก เผชิญชะตากรรม โดนทำร้ายทั้งร่างกาย และจิตใจ ถึงขั้นเข้ารักษาเยียวยาที่ รพ.เฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 50 ราย
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะผู้จัดการหน่วยจัดการความรุนแรงในครอบครัว เปิดเผยว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในสังคมไทย ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถิติตัวเลขที่น่าตกใจคือ ในปัจจุบัน มีผู้ป่วยที่เข้ามารักษาเยียวยาตามสถานพยาบาลต่างๆ จากเหตุถูกทำร้ายจากบุคคลในครอบครัวเฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 50 ราย มีอัตราที่สูงขึ้นกว่าสองปีก่อนที่มีจำนวน 36 ราย
ประเด็นหนึ่งที่น่าติดตาม คือ สังคมคนรวย หรือ กลุ่มไฮโซ พบว่า เป็นกลุ่มคนที่มีปัญหาความรุนแรงชนิดที่น่าตกใจมาก โดยเฉพาะปัญหาความรุนแรงทางเพศ ถูกพบว่า คนกลุ่มนี้มีอัตราความเสี่ยงในการรูปแบบจิตวิปริตสูงมาก เช่น สามีพาผู้หญิงมาบ้าน ร่วมเพศบังคับให้ภรรยาดู สามีบางรายโรคจิตชอบลวนลามคนรับใช้ในบ้านชนิดที่ มาอยู่บ้านกี่รายก็เจอปัญหานี้ตลอด ภรรยาบางคนเกิดวิตกจริตคิดว่าสามีตังเองมีชู้ตลอดเวลาทั้งที่ในความเป้นจริง ไม่มีเหตุอันใดเลย ฯลฯ
“กลุ่มคนจน หรือ หาเช้ากินค่ำยังวิเคราะห์ได้ไม่ยาก ความรุนแรงของคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักเกิดจากความเครียดเรื่องค่าครองชีพ ดื่มเหล้า เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้ความรุนแรง แต่กลุ่มคนรวยเป็นกลุ่มที่น่าตกใจมากความรุนแรงมีสาเหตุของความซับซ้อนมาก มีหลายคนที่อยู่ในสถานะความเป็นอยู่ พร้อมทุกอย่าง มีหน้ามีตาในสังคมแต่ชีวิตล้มเหลว ชอบทำร้ายคนในครอบครัว ตบเมีย ตีเมีย”
ศ.นพ.รณชัย ย้ำอีกว่า ในฐานะแพทย์ที่ทำงานนี้ เชื่อไหมว่า คนรวยที่มีหน้ามีตาในสังคมมีปัญหาทางจิต และสุ่มเสี่ยงให้เกิดความรุนแรงสูงมากกว่ากลุ่มคนหาเช้ากินค่ำกิน คนรวยหลายคนหรือมีเกือบทุกวันที่เข้ามาปรึกษา ถึงขั้นต้องบำบัดทางจิต ซึ่งส่วนใหญ่เท่าที่วิเคราะห์คนเกลุ่มนี้เกิดขึ้นจากปัญหาการเลี้ยงดูมาตั้งแต่เด็ก การสะสมความเครียด ซึ่งต้องดูแลเยียวยากันอย่างใกล้ชิด
ความรุนแรงในครอบครัว นับเป็นปัญหาที่ซ่อนเร้นที่ยังขยายวงกว้างขึ้นตลอดเวลา เนื่องจากในปัจจุบันยังขาดการจัดการที่ดี ทั้งในรูปแบบองค์ความรู้ที่เป็นระบบ หลายหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนี้ ยังขาดการประสานงาน และแก้ปัญหาได้ตรงจุด
ปัจจุบันหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชนได้ร่วมงานในการแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว สามารถผลักดันพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง ปี 2550 จนสำเร็จ แต่ยังต้องพัฒนาทั้งในเชิงกฎหมาย เชิงนโยบาย เชิงปฏิบัติงาน โดยได้นำระบบการแก้ปัญหาทุกภาคส่วนไปใช้นำร่องจังหวัดปทุมธานี เป็นแห่งแรก และจะขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆต่อไปในอนาคต เพื่อให้เกิดผลของการดำเนินการแก้ปัญหาที่ชัดเจนต่อไป