xs
xsm
sm
md
lg

ตะลึง!! เด็ก 6 ขวบ อยากขาวคว้าไฮเตอร์อาบน้ำ เหตุเลียนแบบโฆษณา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การแสดงความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนในงานแถลงข่าว ดู ดู๊ ดู สื่อไทย ทำไมถึงทำกับเด็กได้
เครือข่ายเด็กและเยาวชน เผย โทรทัศน์ไทยสุดเน่า! ละครฉากข่มขืน นางร้ายกรี๊ด โฆษณาเหล้า เกลื่อนจอ ตะลึงหนูน้อย 6 ขวบ จ้องจอสื่อบอกต้องขาวถึงสวย คว้าไฮเตอร์อาบน้ำ ชี้ โทรทัศน์มีอิทธิพลกับเด็ก ร้องรัฐบาล อย่าปล่อยให้ทุกช่องฝ่ากฎหมาย มูลนิธิเพื่อนหญิง ชี้ ปี 50 ข่มขืน-กระทำชำเรา พุ่งเฉียด 3 เท่า ทำร้ายร่างกายเกิน 4 เท่าตัว ระบุ ล่าสุด เกิดกรณีละเมิดทางเพศที่เกิดใน บ.การเงินยักษ์ใหญ่ แต่ผู้บริหารกลับขอให้ไม่เอาเรื่อง เพราะกลัวองค์การเสื่อม แถมประณามผู้หญิงว่าอ่อยเอง! กร้าว หากเรื่องในละครดังเป็นจริง ลาก “คาวี” เข้าคุกแน่

วันนี้ (11 พ.ค.) ที่สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย “แนวร่วมเยาวชนสร้างสรรค์สื่อไทย” อันประกอบไปด้วย สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร เครือข่ายประธานนักเรียนกรุเทพและปริมณฑล เครือข่ายเอดส์และเพศศึกษา V Teen เครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์สังคม Saf และเครือข่ายนิเทศศาสตร์ ได้ร่วมกันจัดการแถลงข่าว “ดู ดู๊ ดู สื่อไทย ทำไมถึงทำกับเด็กได้” โดยก่อนจะมีการอ่านแถลงการณ์ เครือข่ายเอดส์และเพศศึกษา ได้เล่นละครสะท้อนทีวี โฆษณาขนมกรุบกรอบ โฆษณาเหล้า โฆษณาเกมทางโทรศัพท์จำพวก 1900-xxx-xxx รวมถึงละครเรื่อง “สวรรค์เบี่ยง” ที่มีทั้งฉากข่มขืน ฉากนางร้ายกรี๊ดเมื่อไม่ได้อย่างใจ และฉากความรุนแรงที่พระเอกฉุดกระชากนางเอก เรียกเสียงปรบมือจากเยาวชนผู้เข้าร่วมงานกว่า 50 คน ได้ไม่น้อย

นายเอก วงศ์อนันต์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ระบุว่า จากผลสำรวจ การดูโทรทัศน์ของเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 10-25 ปี จำนวน 565 ตัวอย่าง พบ กลุ่มตัวอย่างเกือบ 60% จะดูทีวีคนเดียว ในขณะที่เด็ก 58% ระบุว่า ดูรายการที่ไม่เหมาะสมต่อเด็กและรายการที่ควรมีผู้ใหญ่แนะนำเป็นเรื่องปกติ ส่วนกลุ่มที่ดูทีวีกับผู้ปกครอง แล้วเจอรายการไม่เหมาะกับวัยแต่ดูโดยไม่เปลี่ยนช่องนั้น มีผู้ปกครอง เพียง 54.8% ที่พูดคุยให้คำแนะนำระหว่างดู

“สื่อโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อเด็กมาก และน่าตกใจอย่างยิ่งที่เราเห็นข่าวเร็วๆ นี้ เราเห็นเด็กอายุไม่ถึง 10 ขวบ เล่นผัวเมียที่ไม่ใช่เล่นพ่อแม่ลูก แต่ได้รับอิทธิพลจากละครโทรทัศน์ และเล่นผัวเมียกันจริงๆ แบบเล่นทำลูกกันแทน สื่อโทรทัศน์เป็นสื่อที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ละครโทรทัศน์ แต่ที่น่ากลัวคือ บางครั้งคนดูละครหลายคนก็รู้สึกสนุก กับฉากข่มขืน และรู้สึกสงสารพระเอก ซึ่งเป็นผู้ลงมือข่มขืนนางเอกด้วยซ้ำ”

ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ผลสำรวจยังบอกด้วยว่า ความเห็นของเด็กต่อละครโทรทัศน์ในฉากที่มีความรุนแรงและไม่เหมาะสม ชี้ว่า 8 อันดับแรกของ ฉากรุนแรงคือ ฉากตบตีกันนานๆ, ข่มขืน, ด่าทอ, ขว้างปาทำลายสิ่งของ, ล้อเลียนดูถูก คนแก่ ผู้หญิง เพศทางเลือก, แต่งกายโป๊, ดื่มเหล้า และฉากกระโดดถีบ โดย 70.4% บอกว่า เคยเห็นเด็กๆ เลียนแบบการแสดงต่างๆ ในทีวี เช่น ร้องกรี๊ดๆ เวลาไม่พอใจ ด่ากัน ตบตีกัน เล่นเป็นพ่อผัวเมีย และกลุ่มตัวอย่าง 33.8% ยอมรับว่า ตัวเองก็เคยอยากเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านี้ และในส่วนขนมกรุบกรอบนั้น เอก กล่าวว่า ไม่ใช่ต้องการให้ควบคุมมิให้มีการฉายทางโทรทัศน์ แต่อยากขอร้องเจ้าของผลิตภัณฑ์ให้ดูแลความเหมาะสม และควรดูแลมิให้มีการโฆษณาเกินจริงด้วย

น.ส.อาวีวรรณ สร้อยคำ หรือน้องเหมียว อายุ 17 ปี ชั้น ม.6 ร.ร.เทพศิรินทร์ร่มเกล้า เครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์สังคม กล่าวว่า การแสดง การโฆษณา หรือพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทีวี มีอิทธิพลอย่างมากต่อเด็กและเยาวชน ไม่ใช่แค่การมีพฤติกรรมรุนแรงเท่านั้น การฉายภาพซ้ำๆ เดิมๆ ก็ยิ่งตอกย้ำ ความคิด ความเชื่อ แบบในทีวีให้กับเด็ก

“จากประสบการณ์ส่วนตัว เคยพบญาติของตัวเองวัย 6 ขวบ เสพสื่อโฆษณาที่ยัดเยียดทัศนคติความเชื่อว่า ผู้หญิงจากจะสวยต้องผิวขาว ทำให้เด็กวัย 6 ขวบคนนั้น นำไฮเตอร์มาอาบน้ำเพื่อหวังจะให้ผิวขาวและเป็นผู้หญิงสวยตามความเชื่อของสังคม นอกจากนี้ ค่านิยมที่แฝงมากับการโฆษณาหรือสปอตต่างๆ ที่ว่าผู้หญิงจะสวยต้องหุ่นดี ทำให้เพื่อนของเหมียวคนหนึ่ง เลือกวิธีทำให้ตนเองผอมด้วยการ รับประทานและล้วงคอให้อาเจียน ซึ่งส่งผลร้ายต่อร่างกายมาก” น้องเหมียว กล่าว

ในขณะที่ ประธานที่ปรึกษาด้านการพัฒนาจิตสาธารณะและการเรียนรู้สังคม เครือข่ายประธานนักเรียนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่าง นายวรภัทร วีรพัฒนคุปต์ เปิดเผยว่าจากรายงานของหน่วยงานอาชญากรรมและยาเสพติด องค์การสหประชาชาติ พ.ศ.2550 ระบุว่า ประเทศไทยติดอยู่ในกลุ่ม 68 ประเทศ ที่มีสถิติการข่มขืนเพิ่มขึ้น จากการสำรวจใน 189 ประเทศทั่วโลก สอดคล้องกับสถิติการกระทำ ความผิดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งแต่เดือน ต.ค.2548-ก.ย.2549 พบคดีที่เกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ อาทิ ทำร้ายร่างกาย ข่มขืนฆ่ากันตาย สูงถึง 33,669 คดี ขณะที่ข้อมูลศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง มีผู้เข้ารับคำปรึกษาปัญหาข่มขืนกระทำชำเรา จากปี 2548 มี 51 ราย เพิ่มเป็น 140 ราย ใน ปี 2550 ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว การทำร้ายร่างกายที่มี 44 ราย เพิ่มเป็น 191 รายในปี 2550 หรือสูงขึ้นเกิน 4 เท่าตัว

“คดีความรุนแรงทางเพศที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ ในกรณีข่มขืนมีหลายครั้งที่ผู้ถูกกระทำเลือกที่จะจบปัญหาด้วยการปิดเงียบ ไม่สู้คดี เพราะอายแล้วก็โทษตัวเอง หากผู้เสียหายตั้งครรภ์บางคนเลือกแก้ปัญหาด้วยการอยู่กินฉันสามีภรรยากับคู่กรณี สิ่งเหล่านี้มีส่วนให้การกดขี่ทางเพศในสังคมไทยเพิ่มสูงขึ้น น่าเสียดายที่สื่อ ซึ่งเป็นขุมพลังทางปัญญา สามารถชี้นำสังคมไปสู่การสร้างบรรทัดฐานที่ดีขึ้น กลับทำให้ค่านิยมเรื่อง ข่มขืน ทำร้ายร่างกาย เป็นเรื่องปกติจนถึงขั้นกลายเป็นเรื่องถูกต้องดีงามน่าชื่นชม” นายวรภัทร กล่าว

วรภัทร กล่าวต่อไปว่า เมื่อไม่นานมีนี้ ก็เพิ่งจะเกิดกรณีกระล่วงละเมิดทางเพศในบริษัทใหญ่ แต่ผู้ถูกกระทำกลับถูกผู้บริหารขอร้องให้ไม่เอาเรื่อง เพราะกลัวเสื่อมเสียชื่อเสียง ซ้ำยังตั้งข้อสังเกตว่า ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายอ่อยฝ่ายชายจนอดใจไม่ได้ และก่อเรื่องขึ้น อย่างในละครโทรทัศน์เรื่องหนึ่ง ที่มีฉากข่มขืนถึง 4 ครั้ง ฉากที่พระเอกทำร้ายจิตใจนางเอก เช่น ฉากพระเอกให้นางเอกเปิดประตูห้องน้ำระหว่างอาบน้ำ อันนี้เป็นสิ่งไม่ดีต่อเยาวชน

ด้าน นายอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ประธานสภาเยาวชนกรุงเทพฯ กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการเกิดสุญญากาศ เมื่อ พ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ ทำให้กรมประชาสัมพันธ์คิดว่าหมดอำนาจกำกับดูแลทีวี ประกาศการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหาสื่อโทรทัศน์ (เรตติ้ง) ที่รายการ น.13 ปี ออกอากาศได้หลัง 20.00น.รายการ น.18 ออกอากาศได้หลัง 20.30 น.รายการเฉพาะ “ฉ” ออกอากาศหลัง 22.00 น. รวมถึงประกาศคุมโฆษณาขนมขบเคี้ยวในรายการสำหรับเด็ก จึงถูกฝ่าฝืน เกิดวิกฤตกับผู้บริโภคสื่อโทรทัศน์ โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และครอบครัว

“รายการและโฆษณาที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน สามารถออกอากาศในเวลาที่เด็กและเยาวชนส่วนมากกำลังดูทีวี ซึ่งจะนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบและค่านิยมไม่พึงประสงค์ เรื่องอบายมุขและความรุนแรง ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ การพัฒนาเด็กต้องคำนึงถึงการจัดสภาพแวดล้อม การรับรู้บริโภคข้อมูล ที่เหมาะสมแก่วิจารณญาณตามวัยวุฒิ เพื่อสร้างพื้นฐานทางความคิด สติปัญญา และอารมณ์ที่มีคุณภาพสมวัยบนพื้นฐานของสังคมคุณธรรมจริยธรรม และโลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก” สมิทธิ กล่าว

ประธานสภาเยาวชนกรุงเทพฯ กล่าวต่อไปว่า ในวันนี้เด็กและเยาวชนจึงต้องมารวมตัวกันในนาม “แนวร่วมเยาวชนสร้างสรรค์สื่อไทย” เพื่อขอความจริงใจจากรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องด้านโทรทัศน์ ให้แก้ปัญหา ความรุนแรงบนหน้าจอ โดยมี ข้อเรียกร้องคือ 1.รัฐบาลควรเร่งหามาตรการเฉพาะหน้าในช่วงสุญญากาศเร็วที่สุด

2.ต้องมีมาตรการป้องกันแก้ปัญหาระยะยาว ทบทวนแนวทางจัดระดับความเหมาะสมของสื่อต่างๆให้สอดคล้องกับบริบทสังคมไทย ยึดการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และครอบครัว ให้มีส่วนร่วมวางนโยบาย

3.ในอนาคต ให้สนับสนุนการจัดตั้งองค์กรที่เป็นอิสระเพื่อเป็นพื้นที่ของเด็ก เยาวชน ครอบครัว องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคมในการพิจารณารายการโทรทัศน์

4.ขอให้ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ผู้ผลิตรายการ และผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการเดิม และร่วมมือกับทุกมาตรการที่เป็นไปเพื่อคุ้มครองเด็ก เยาวชนและครอบครัว อย่าเห็นแก่ผลประกอบการจนลืมความรับผิดชอบต่อสังคม
เอก วงศ์อนันต์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่ง ประเทศไทย
อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ประธานสภาเยาวชนกรุงเทพฯ
วรภัทร วีรพัฒนคุปต์
ละครสะท้อนสื่อทีวี สวรรค์เสี่ยง
 ละครสะท้อนสื่อทีวี สวรรค์เสี่ยง
กำลังโหลดความคิดเห็น