ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - สคร.5 นครราชสีมา ร่วมกับ สสจ.ชัยภูมิ สรุปบทเรียน และปัญหาอุสรรคในการสอนเพศศึกษา พร้อมผลักดัน โรงเรียน ในทั้ง 3 เขตพื้นการศึกษาชัยภูมิรับหลักสูตรเพศศึกษา ในโครงการ “ก้าวย่างอย่างเข้าใจ” สร้างเกราะป้องกันภัยเด็กเยาวชนจากภาวะเสี่ยงทางเพศ
วันนี้ (19 มี.ค.) ที่ห้องประชุม 99 ปี โรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพล อ.เมือง จ.ชัยภูมิ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้สรุปบทเรียนโครงการพัฒนาทักษะ เตรียมความพร้อมครูผู้สอนเพศศึกษา และส่งเสริมการสอนเพศศึกษาในโรงเรียนมัธยมจังหวัดชัยภูมิ ในโครงการ “ก้าวย่างอย่างเข้าใจ” โดยมีครูผู้สอนเพศศึกษาที่ผ่านการอบรม วิทยากรหลักของจังหวัด (Master of Trainer) และคณะวิทยากร รวม 80 คนร่วมเวทีแลกเปลี่ยน
นางทิติยาณี เทพหัสดิน ณ อยุธยา นักวิชาการสาธรณสุข สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาหลายคนมีความเชื่อว่า การสอนเพศศึกษา เป็นการชี้โพรงให้กระรอกหากสอนเพศศึกษา ส่วนใหญ่จึงมักจะเป็นการสร้างความเข้าใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เรื่องโรคติดต่อโดยจะแทรกอยู่ในวิชาสุขศึกษาเท่านั้น
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์กรแพธ (PATH) ,กระทรวงศึกษาธิการ และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรเพศศึกษาที่เน้นการสร้างการเรียนรู้ที่รอบด้าน ภายใต้โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างสุขภาวะทางเพศแก่เยาวชน เพื่อลดปัญหาเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์, การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และความรุนแรงทางเพศ สร้างความสามารถในการพัฒนาสัมพันธภาพที่สร้างสรรค์ของเยาวชนต่อผู้อื่น
โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชัยภูมิทั้ง 3 เขต ได้ให้ความสำคัญของโครงการนี้ จึงได้คัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อม นำร่องสอนเพศศึกษาในโรงเรียน 4 แห่งตั้งแต่ปีการศึกษา 2550 และสามารถขยายการดำเนินงานได้อีก 8 โรงเรียน โดยใช้หลักสูตรการสอนเพศศึกษาในระดับชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ใช้เวลาเรียนอย่างน้อย 16 คาบต่อปี ต่อชั้นเรียน
โดยครูผู้สอนต้องผ่านการอบรมเรื่องเพศศึกษาให้ได้รับการพัฒนาการปรับเปลี่ยนทัศนะคติ แนวคิดที่ถูกต้องในการสอนเรื่องเพศศึกษาและเอดส์ มีการจัดการเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีส่วนร่วม และเคารพสิทธิเยาวชนในการเรียนรู้เรื่องเพศ พร้อมเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงออกและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และระหว่างครูผู้สอนด้วย โดยจะมีทีมวิทยากรหลักของจังหวัดติดตามประเมินผล
การจัดเวทีในวันนี้เป็นการสรุปผลการดำเนินงาน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ปัญหาอุปสรรคและหาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อให้การจัดการเรียนรู้เพศศึกษาในปีการศึกษาต่อไปประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น และสามารถขยายโอกาสให้เด็กทุกคนในพื้นที่จังหวัดได้เรียนรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างรอบด้าน อย่างเท่าเทียมกันเพื่อนำความรู้ที่ได้รับเป็นเกาะป้องกันภัยให้จากภาวะเสี่ยงทางเพศของตนเองในอนาคตได้