“หมอประกิต” ชี้ กฎหมายยาสูบไทยยังถูกละเมิด เหตุเล่ห์บริษัทบุหรี่ ชี้ กม.ห้ามสูบในที่สาธารณะยังทำได้ไม่เต็มที่ ขาดเจ้าหน้าที่ ศจย.เผย เยาวชนยังเป็นแชมป์สิงห์อมควัน เตรียมระดมสมองนักวิชาการ นักวิจัย จัดการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 พระองค์เจ้าโสมสวลี เสด็จเป็นประธาน และประทานรางวัลบุคคลและองค์กรดีเด่น ประจำปี 2551
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า สถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบของไทย ขณะนี้แม้ว่าจะมีการทำงานอย่างต่อเนื่องแต่ยังต้องมีการพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะในส่วนของการปรับปรุงกฎหมาย ตามมาตรา 5.3 อนุสัญญาควบคุมยาสูบ ขององค์การอนามัยโลก เพื่อปกป้องนโยบายการควบคุมยาสูบในประเทศต่างๆ ไม่ให้บริษัทบุหรี่ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องของนโยบายการควบคุมบุหรี่ในทุกระดับ เพราะมีหลักฐานชัดเจน ว่า บริษัทบุหรี่เป็นตัวการในการบ่อนทำลายกฎหมายในประเทศต่างๆ เช่น ต้องมีการออกกฎหมายให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้หน่วยงานภาครัฐพบปะกับบริษัทบุหรี่ หากไม่จำเป็น เพื่อป้องกันการล็อบบี้ต่างๆ
ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า การบังคับใช้กฎหมายยาสูบ ในเรื่องการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ยังถูกละเมิดอยู่บางส่วน โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการ มีปัญหาในเรื่องการจัดเขตสูบบุหรี่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งปัญหาจำนวนเจ้าหน้าที่ที่มีจำกัดทำให้ยังไม่สามารถควบคุมได้ทั่วถึง เช่น การสำรวจการบังคับใช้กฎหมายห้ามแสดงบุหรี่ ณ จุดขาย โดยใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2549 พบว่า มีร้านค้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายกำหนดเพียงร้อยละ 50 อีกร้อยละ 25 ปฏิบัติบ้างไม่ปฏิบัติบ้าง และอีกร้อยละ 25 ไม่ปฏิบัติตามเลย และผลสำรวจเดียวกัน ยังชี้ว่า มีร้านค้าเพียงครึ่งเดียวเห็นด้วยกับกฎหมาย แต่ส่งผลชัดเจนว่า กฎหมายดังกล่าวทำให้ยอดการจำหน่ายบุหรี่ลดลงชัดเจน ดังนั้น การส่งเสริมให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า อัตราการสูบบุหรี่ในประเทศไทย มีแนวโน้มลดลงในทุกกลุ่มอายุ ยกเว้นในเยาวชนที่ยังคงมีอัตราเพิ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มผู้หญิงที่แม้ว่าจะมีอัตราการสูบที่ต่ำ แต่ในอีกด้านหนึ่งหมายถึง การทำการตลาดของบริษัทบุหรี่สามารถขยายตัวได้อีกมาก นอกจากนี้ ยังพบว่ามีเล่ห์ของบริษัทบุหรี่ ในอีกหลายรูปแบบ โดยในวันที่ 4-5 สิงหาคม 2551 ศจย.ได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 7 เรื่อง “เยาวชนรุ่นใหม่ ร่วมใจ ต้านภัยบุหรี่” ณ โรงแรมมิราเคิล โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุม ถือได้ว่าประชุมครั้งที่ 7 นี้ เป็นการระดมความคิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานทางวิชาการ งานวิจัยใหม่ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและทางออกร่วมกัน
ผศ.ดร.ลักขณา กล่าวว่า นอกจากนี้ ภายในงานพิธีเปิดจะมีพิธีประทานโล่รางวัลควบคุมยาสูบแห่งชาติ แก่บุคคลและองค์กรดีเด่น ประจำปี 2551 (Thailand Tobacco Control Awards 2008 ) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบแก่บุคคลหรือองค์กรที่มีผลงานดีเด่นในการดำเนินงานเพื่อการควบคุมยาสูบ ทั้งสิ้น 10 รางวัล จากรางวัลทั้งหมด 6 ประเภท ได้แก่ ประเภทบุคคลที่มีคุณูปการต่อวงการควบคุมยาสูบ ประเภทบุคคลดีเด่นด้านการควบคุมยาสูบในเยาวชน ประเภทองค์กรภาครัฐดีเด่นด้านการควบคุมยาสูบในเยาวชน ประเภทองค์กรภาคเอกชนดีเด่นด้านการควบคุมยาสูบในเยาวชน ประเภทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่นด้านการควบคุมยาสูบในเยาวชน ประเภทองค์กรเยาวชนดีเด่นด้านการควบคุมยาสูบในเยาวชน