xs
xsm
sm
md
lg

“เหลิม” ประกาศยกเครื่องอนามัย-รพ.4 จว.ใต้ หวังนั่งกลางหัวใจ ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เหลิม” ประกาศยกเครื่องงานบริการในสถานีอนามัย-โรงพยาบาล ใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ อบรมหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทุกระดับ บริการด้วยหัวใจแบบมืออาชีพ หวังให้งานสาธารณสุขนั่งกลางหัวใจประชาชน ชี้ ความรุนแรงในรอบ 7 เดือนปีนี้ ยังเกิดต่อเนื่อง มีผู้บาดเจ็บ 899 ราย เสียชีวิต 218 ราย

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีประมาณ 2 ล้านกว่าคน และมีนโยบายเร่งพัฒนางานสาธารณสุขในพื้นที่ ซึ่งเป็น 1 ใน 12 นโยบายหลัก เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างมีคุณภาพและอยู่ใกล้ที่สุด ไม่ต้องเสี่ยงเดินทางไกล ซึ่งขณะนี้ปัญหาขาดแคลนแพทย์บรรเทาลงไปมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ มีแพทย์เฉพาะทางให้บริการครบทุกสาขา ส่วนพยาบาลวิชาชีพที่ยังขาดอีกประมาณร้อยละ 50 ในอีก 3 ปี ก็จะได้ครบทุกแห่งจากโครงการผลิตพยาบาล 3,000 คน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นไป รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนในพื้นที่ เริ่มจาก 2 กระทรวงก่อน คือ สาธารณสุข กับ มหาดไทย ในหน่วยให้บริการประชาชนหลักๆ ได้แก่ โรงพยาบาล สถานีอนามัย สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักงานที่ดิน ใน 13 อำเภอ ของ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ อ.หนองจิก อ.โคกโพธิ์ อ.สายบุรี และ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี อ.ธารโต อ.เมือง อ.เบตง และ อ.กาบัง จ.ยะลา อ.แว้ง อ.รือเสาะ อ.เมือง และ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ตามนโยบายดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขจะเน้นบริการของโรงพยาบาลทุกระดับ สถานีอนามัยทุกแห่ง ซึ่งดีอยู่แล้วแต่จะเพิ่มในด้านการให้บริการแบบมืออาชีพมากยิ่งขึ้น หวังให้งานสาธารณสุขนั่งอยู่ในหัวใจประชาชน เชื่อว่า จะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดสันติสุข ปราศจากเงื่อนไขที่เอื้อต่อการใช้ความรุนแรง

ทางด้านนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในรอบ 7 เดือนปีนี้ ได้รับรายงานผลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความรุนแรง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.สงขลา ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2551 มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ในจังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสรวม 342 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 899 ราย เสียชีวิต 218 ราย ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ รองลงมาคือ เกษตรกร เป็นชายมากกว่าหญิง 6-7 เท่า การทำร้ายที่พบบ่อยที่สุด คือ จากอาวุธปืน รองลงมาคือ ระเบิด เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้เฉลี่ยร้อยละ 25 ของผู้บาดเจ็บ โดยมีผู้ที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 741 ราย มีค่าใช้จ่ายรวม 8 ล้านบาทเศษ หากรวม 19 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2550 เป็นต้นมา มีผู้บาดเจ็บ 3,106 ราย เสียชีวิต 819 ราย ค่ารักษากว่า 20 ล้านบาท

สำหรับการพัฒนาระบบริการให้โดนใจประชาชนใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน จัดอบรมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่อื่นๆ ในหลักสูตรการให้บริการที่เป็นเลิศ ให้มีความเข้าใจถึงแก่นแท้ความต้องการประชาชนที่เจ็บป่วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาวมุสลิม จะเน้นทุกจุดบริการ ตั้งแต่ย่างก้าวเข้าสู่ประตูโรงพยาบาล แผนกผู้ป่วยนอกและหอผู้ป่วยใน จนกระทั่งหายป่วยออกจากโรงพยาบาล โดยตั้งเป้าหมายสร้างความพึงพอใจผู้ใช้บริการให้ได้ร้อยละ80
กำลังโหลดความคิดเห็น