xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ:บัญญัติ 10 ประการ เพื่อฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจของสิงคโปร์ (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผู้เขียนได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศสิงคโปร์ไปแล้วหลายประการ สัปดาห์นี้ยังมีแนวทางการแก้ไขวิกฤตดังกล่าวมานำเสนออีก 4 ประการ เช่น มาตรการมุ่งเน้นการลดภาษี การสนับสนุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการร่วมมือกันในด้านแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งแต่ละมาตรการจะมีความน่าสนใจอย่างไรนั้น สามารถติดตามรายละเอียดได้ดังต่อไปนี้

ประการที่เจ็ด มุ่งเน้นลดภาษีเพื่อลดภาระของภาคธุรกิจ โดยได้ผ่อนคลายระบบการนำผลขาดทุนไปหักกำไรย้อนหลัง (Loss Carry Back) สำหรับปีภาษี 2552 และ 2553 เพื่อให้บริษัทที่มีผลประกอบการขาดทุน สามารถนำผลขาดทุนไปหักจากกำไรของปีก่อนหน้านี้ เพื่อขอรับเงินภาษีที่จ่ายไว้แล้วกลับคืนมา โดยเดิมจำกัดการขอคืนภาษีได้ไม่เกิน 100,000 เหรียญสิงคโปร์ และหักกับกำไรปีก่อนหน้านี้เท่านั้น แก้ไขเป็นไม่เกิน 200,000 เหรียญสิงคโปร์ และหักจากกำไรในช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้

“สิงคโปร์มุ่งมั่นจะชักจูงธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กจากทั่วโลก
ให้มาก่อตั้งธุรกิจในสิงคโปร์ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจในภูมิภาค
รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล
จากร้อยละ 18 เหลือร้อยละ 17 นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป
เปรียบเทียบกับประเทศไทยซึ่งยังสูงถึงร้อยละ 30”


เพื่อส่งสัญญาณว่าสิงคโปร์มุ่งมั่นจะชักจูงธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กจากทั่วโลกให้มาก่อตั้งธุรกิจในสิงคโปร์เพื่อให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจในภูมิภาค รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจากร้อยละ 18 เหลือร้อยละ 17 นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐบาลสิงคโปร์มีนโยบายลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว มีอัตราสูงถึงร้อยละ 40 นับว่าสูงกว่าประเทศไทยเสียอีก แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียงร้อยละ 17 เปรียบเทียบกับประเทศไทยซึ่งยังสูงถึงร้อยละ 30

ปัจจุบันสิงคโปร์และฮ่องกงได้แข่งขันกันอย่างเข้มข้นเพื่อเป็นศูนย์กลางธุรกิจในทวีปเอเชีย ขณะที่ไทยยังตามหลังอย่างไม่เห็นฝุ่น โดยเดิมฮ่องกงเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราเพียงร้อยละ 17.5 ขณะที่สิงคโปร์ร้อยละ 18 โดยช่วงห่างระหว่าง 2 ประเทศ มีเพียงแค่ร้อยละ 0.5 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในปี 2551 ฮ่องกงยังได้ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจากร้อยละ 17.5 เหลือร้อยละ 16.5 ทำให้ช่วงห่างระหว่างฮ่องกงและสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.5 ดังนั้น งบประมาณฉบับนี้จึงได้ประกาศลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือร้อยละ 17.5 เพื่อทำให้ช่วงห่างลดลงเหลือร้อยละ 0.5 ตามเดิม

นอกจากนั้น งบประมาณฉบับนี้ยังได้ประกาศที่จะอนุญาตให้หักค่าเสื่อมราคาโรงงานและเครื่องจักรในอัตราเร่งเพิ่มขึ้นสำหรับการลงทุนในปี 2552 และ 2553 โดยกฎระเบียบปัจจุบันกำหนดให้หักค่าเสื่อมแบบเส้นตรงเป็นเวลา 3 ปี แต่งบประมาณฉบับนี้ได้ประกาศกฎระเบียบพิเศษ โดยหากลงทุนในโรงงานและเครื่องจักรในช่วงปี 2552 และ 2553 จะอนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้ลดระยะเวลาหักค่าเสื่อมราคาลงเหลือ 2 ปี สำหรับกิจการบริการก็เช่นเดียวกัน กรณีที่ต้องลงทุนปรับปรุงกิจการช่วงเศรษฐกิจซบเซาในปี 2552 และ 2553 สามารถหักค่าเสื่อมได้ทั้งหมดภายในปีเดียว แตกต่างจากหลักเกณฑ์ปกติที่กำหนดว่าต้องหักค่าเสื่อมเป็นเวลา 3 ปี

ประการที่แปด สนับสนุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผ่านการให้ความช่วยเหลือครอบครัวยากจน แทนที่จะสนับสนุนเป็นการทั่วไป กล่าวคือ ให้ความช่วยเหลือเฉพาะผู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกเท่านั้น โดยเดิมรัฐบาลมีมาตรการมอบเงินให้เปล่าในรูป CPF Housing Grant (AHG) เป็นเงิน 30,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือ 750,000 บาท กรณีเป็นครอบครัวมีเงินได้ไม่เกิน 4,000 เหรียญสิงคโปร์/เดือน หรือ 10,000 บาท/เดือน

สำหรับงบประมาณฉบับนี้ได้ประกาศหลักเกณฑ์ยืดหยุ่นมากขึ้นไปอีก กล่าวคือ มอบเงินให้เปล่าเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือ 1 ล้านบาท สำหรับครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน 5,000 เหรียญสิงคโปร์/เดือน หรือ 12,500 บาท/เดือน

ประการที่เก้า เน้นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยงบประมาณฉบับนี้ได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ ทั้งในส่วนการพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพระดับโลกในช่วงประชากรอยู่ในวัยเด็ก การสร้างโอกาสในการฝึกอบรมสำหรับประชากรวัยทำงาน และนำเสนอบริการรักษาพยาบาลที่ดีเยี่ยมที่สุดสำหรับประชากรในวัยชรา

รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่มีบุตรธิดาเป็นเงิน 1,600 ล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือ 40,000 ล้านบาท ครอบคลุมถึงการจ่ายเงินเดือนกรณีมารดาต้องลาหยุดงานภายหลังคลอดบุตร การให้เงินอุดหนุนบริการเลี้ยงดูเด็กอ่อน และการช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตร

สำหรับหน่วยงาน EDB ซึ่งรับผิดชอบในด้านส่งเสริมการลงทุนของสิงคโปร์ ได้จัดทำโปรแกรมใหม่ คือ PREP-UP ซึ่งย่อมาจาก Preparing for the Upturn หรือ “เตรียมตัวสำหรับ (เศรษฐกิจ) ขาขึ้น” โดยใช้งบประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 4,000 ล้านบาท เพื่ออุดหนุนค่าใช้จ่ายในด้านบุคลากรและฝึกอบรมในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม ให้แก่บริษัทเอกชน โครงการนี้ครอบคลุมทั้งในส่วนการฝึกอบรมแก่พนักงานทั่วไป การศึกษาในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงการฝึกอบรมให้กับบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาใหม่ด้วย

งบประมาณยังได้กำหนดมาตรการปรับปรุงคุณภาพบริการในด้านการรักษาพยาบาล ให้ครอบคลุมตั้งแต่การปรับปรุงโรงพยาบาลที่มีอยู่แล้ว การก่อสร้างโรงพยาบาลใหม่ รวมถึงปรับปรุงระบบระเบียนของโรงพยาบาลให้เป็นระบบคอมพิวเตอร์แบบออนไลน์ ซึ่งจะทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่มีระเบียนทางการแพทย์แบบออนไลน์ครอบคลุมทั้งประเทศ

นอกจากนี้ รัฐบาลจะสร้างงานในภาครัฐเพิ่มเติมอีก 18,000 ตำแหน่ง ซึ่งไม่ใช่การเพิ่มจำนวนข้าราชการเพื่อมาออกกฎระเบียบมากมายก่ายกอง เพื่อไปควบคุมภาคเอกชนให้ปวดหัวเล่นเหมือนกับในประเทศอื่นๆ แต่รัฐบาลสิงคโปร์ได้กำหนดว่าหน่วยราชการต้องเล็กกะทัดรัดและมีประสิทธิภาพ การเพิ่มจำนวนการจ้างงานภาครัฐจะกระจุกตัวในบริการดูแลเด็กอ่อน การรักษาพยาบาล การศึกษาในระดับอุดมศึกษา ฯลฯ

ประการที่สิบ ความร่วมมือระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในด้านแรงงานสัมพันธ์ โดยสภาค่าจ้างแห่งชาติ (National Wages Council) ซึ่งมีกรรมการประกอบด้วยตัวแทนของหน่วยราชการ นายจ้าง และสหภาพแรงงาน ซึ่งปกติกำหนดประชุมในเดือนพฤษภาคม 2552 แต่ได้จัดประชุมล่วงหน้า 4 เดือน เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2552 เนื่องจากมีสถานการณ์เร่งด่วน

การประชุมครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่าอัตราการว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างมากในปี 2552 ดังนั้น จึงได้ออกแถลงการณ์เสนอแนะว่าบริษัทที่ประสบปัญหาทางธุรกิจควรจะต้องงดการขึ้นเงินเดือนพนักงาน หรือลดเงินเดือนพนักงานลง เพื่อให้ตนเองรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ได้

อนึ่ง มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสิงคโปร์บางคนได้อภิปรายว่ารัฐบาลควรเพิ่มมาตรการแจกเงินแก่ประชาชน 300 เหรียญสิงคโปร์/คน หรือประมาณ 7,500 บาท/คน แต่รัฐบาลสิงคโปร์กลับไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ โดยเห็นว่าปัจจุบันสิงคโปร์เป็นประเทศเปิดกว้างสำหรับการค้าการลงทุน ทำให้มีการค้าระหว่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 3 ใน 4 ของ GDP ดังนั้น เมื่อประชาชนที่ได้รับเงินก้อนนี้และใช้จ่ายออกไป จะเป็นสัดส่วนสูงถึง 3 ใน 4 ของทั้งหมด จะไหลไปซื้อสินค้าจากต่างประเทศ จึงไม่กระตุ้นการผลิตภายในประเทศได้มากอย่างที่คิด

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น