xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บัญญัติ 10 ประการ เพื่อฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจของสิงคโปร์ (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

นายลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ได้กล่าวปราศรัยเนื่องในวันปีใหม่ 2552 โดยกล่าวเตือนประชาชนว่าจะต้องเตรียมพร้อมรับกับช่วงระยะเวลาแห่งความยากลำบาก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 และได้ให้ทัศนะว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อครั้งวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ครั้งนี้ยากลำบากที่จะเอาชนะมากกว่า เนื่องจากเป็นวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก และได้กล่าวว่าประชาชนควรจะต้องรู้จักพึ่งพาตนเองในภาวะวิกฤต แทนที่จะมุ่งเน้นขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเท่านั้น มิฉะนั้น จะส่งผลทำให้สังคมสิงคโปร์อ่อนแอลง

เดิมสิงคโปร์มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในปี 2550 เติบโตสูงถึงร้อยละ 7.7 แต่ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1.2 ในปี 2551 ยิ่งไปกว่านั้น แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2552 ยังคงมืดมน โดยรัฐบาลสิงคโปร์ได้พยากรณ์ว่าจะติดลบในอัตราระหว่างร้อยละ -2 และ -5 ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้นำเสนองบประมาณรายจ่าย 20,500 ล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 500,000 ล้านบาท ภายใต้ชื่อว่า “กลุ่มมาตรการเพื่อยืดหยุ่นกลับสู่สภาพเดิม” (Resilience Package) ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2552 เพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ ซึ่งมีหลายหัวข้อน่าสนใจ และนับเป็นกรณีศึกษาสำคัญของประเทศไทยที่จะจัดทำงบประมาณปี 2553 ในอนาคต

ประการแรก รัฐบาลสิงคโปร์ได้พยายามนำกลยุทธ์ทางการตลาดมาประยุกต์ใช้กับการนำเสนองบประมาณ กล่าวคือ ตั้งชื่อมาตรการด้วยภาษาสละสลวยและง่ายต่อความเข้าใจของประชาชน นับเป็นการสร้างภาพลักษณ์หรือแบรนด์ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า โดยจำแนกมาตรการออกเป็น 5 กลุ่ม และตั้งชื่อ ดังนี้

-ตำแหน่งงานสำหรับชาวสิงคโปร์ (Jobs for Singaporeans)

-กระตุ้นการให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อ (Stimulating Bank Lending)

-ปรับปรุงกระแสเงินสดและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ (Enhancing Business Cash-Flow and Competitiveness)

-เกื้อหนุนครอบครัว (Supporting Families)

-ก่อสร้างบ้านสำหรับอนาคต (Building a Home for the Future)

ประการที่สอง แม้งบประมาณฉบับนี้ซึ่งขาดดุลงบประมาณสูงเป็นประวัติการณ์ คือ 8,700 ล้านเหรียญสิงคโปร์ คิดเป็นการขาดดุลร้อยละ 6 ของ GDP แต่ไม่กระทบต่อฐานะทางการคลังของประเทศแต่อย่างใด เนื่องจากในระยะที่ผ่านมารัฐบาลสิงคโปร์ได้ดำเนินนโยบายการคลังแบบอนุรักษนิยม ทำให้มีเงินเก็บสำรองจำนวนมาก จึงไม่ส่งผลกระทบให้เป็นภาระแก่ประชาชนรุ่นต่อไปที่จะมาใช้หนี้

อนึ่ง รัฐบาลสิงคโปร์ได้ชี้แจงว่าไม่จำเป็นแต่อย่างใดที่จะกู้เงินเพื่อมาดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลสำหรับวิกฤตการณ์ครั้งนี้ แม้รัฐบาลได้กู้ยืมโดยการออกพันธบัตรรัฐบาลก็ตาม แต่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาตลาดทุนเท่านั้น กล่าวคือ เพื่อให้เป็นตราสารหนี้สำหรับการลงทุนของกองทุนบำเหน็จบำนาญ

ประการที่สาม งบประมาณของสิงคโปร์ได้มุ่งเน้นในด้านอุปทานรวมเป็นเป้าหมายหลัก กล่าวคือ พยายามส่งเสริมและช่วยเหลือเพื่อให้ภาคธุรกิจรักษาการจ้างงานไว้ให้ได้ โดยผ่านมาตรการช่วยเหลือด้านการลดต้นทุน เพิ่มกระแสเงินสด และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แถลงต่อรัฐสภาว่าต้องการให้ภาคธุรกิจแสวงหาทุกวิถีทางในการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน เพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยงการลดจำนวนพนักงานลง โดยได้ยกคำพูดที่ว่า “ธุรกิจควรลดต้นทุนเพื่อรักษาการจ้างงานเอาไว้ ไม่ใช่ลดการจ้างงานเพื่อรักษาต้นทุน”

สำหรับรูปแบบความช่วยเหลือหลัก คือ การเครดิตการจ้างงาน (Job Credit) กล่าวคือ เป็นการจ่ายเงินให้เปล่าแก่นายจ้างร้อยละ 12 สำหรับรายได้ของพนักงาน 2,500 เหรียญสิงคโปร์แรก หรือประมาณ 62,500 บาท ในแต่ละเดือน โดยมีระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นไป ยกตัวอย่างเช่น กรณีนายจ้างได้จ่ายเงินเดือนแก่ลูกจ้างเป็นเงินเดือนละ 2,500 เหรียญสิงคโปร์ หรือ 62,500 บาท/เดือน รัฐบาลจะจ่ายเงินคืนให้แก่นายจ้าง 300 เหรียญสิงคโปร์ หรือ 7,500 บาท/เดือน ดังนั้น จะจ่ายเงินแก่ลูกจ้างสุทธิลดลงเหลือเพียง 55,000 บาท/เดือน เท่านั้น

ประการที่สี่ เป็นการเตรียมพร้อมระยะยาวเพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยใช้โอกาสในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในการเสริมสร้างความสามารถและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ประกอบด้วยมาตรการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพระดับโลก ครอบคลุมทั้งการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ทางด่วน ระบบระบายน้ำ ปรับปรุงสภาพบ้านเมืองเพื่อสร้างความมั่นใจว่าเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ให้ชาวสิงคโปร์สนุกสนานกับเมืองที่น่าอยู่อาศัยในแง่มุมต่างๆ ทั้งหมด

ประการที่ห้า ไม่มุ่งเน้นมาตรการในด้านอุปสงค์ ซึ่งเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน กล่าวคือ กรณีประเทศอื่นๆ เมื่อประสบกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอย มักรณรงค์ให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่กรณีสิงคโปร์กลับตรงกันข้าม รัฐบาลได้ออกรณรงค์ด้วยวิธีต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยอย่างประหยัด โดยเสนอแนะด้านต่างๆ เช่น อาบน้ำฝักบัวโดยใช้เวลาน้อยลง เพื่อประหยัดน้ำ การเปลี่ยนไปรับประทานผักให้มากขึ้นเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ เนื่องจากมีราคาถูกกว่าและดีต่อสุขภาพ รวมถึงเสนอแนะให้ซื้อโทรศัพท์มือถือที่มีราคาต่ำกว่า แทนที่จะซื้อรุ่นที่มีราคาแพง

ประการที่หก เน้นใช้กลไกตลาดเพื่อการกระตุ้นให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากสิงคโปร์เริ่มประสบปัญหาสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อน้อยลงนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 เป็นต้นมา และรัฐบาลสิงคโปร์ได้ตระหนักว่าภาวะขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจเป็นผลเนื่องมาจากธนาคารได้ระมัดระวังความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ

ธนาคารของสิงคโปร์นับว่าคล้ายคลึงกับธนาคารของไทย กล่าวคือ มีส่วนผู้ถือหุ้นค่อนข้างแข็งแกร่ง มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้เป็นสัดส่วนเพียงแค่ร้อยละ 1 ของสินเชื่อทั้งหมด ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่รัฐจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือโดยซื้อหุ้นเพิ่มทุน ยิ่งไปกว่านั้น ตัวธนาคารเองก็ไม่ขาดสภาพคล่องแต่อย่างใด

รัฐบาลสิงคโปร์ได้ตระหนักว่าภาวการณ์ขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ธนาคารจำเป็นต้องระมัดระวังความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อมากกว่าในช่วงภาวะเศรษฐกิจปกติ จากการที่ปัญหานี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ กล่าวคือ เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ก็มักจะเกิดปัญหานี้ ดังนั้น แนวทางแก้ไขปัญหาจะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบตามไปด้วย (This is a systemic problem and requires a systemic solution.) ไม่ใช่แก้ไขปัญหาอย่างไม่เป็นระบบ

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา คือ รัฐบาลจะต้องร่วมรับผิดชอบความเสี่ยงในด้านสินเชื่อกับธนาคาร โดยรัฐบาลยอมรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 80 นอกจากนี้ ยังยินยอมให้ธนาคารสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ลูกค้าได้ตามใจชอบ เพื่อให้ธนาคารสนใจปล่อยสินเชื่อแก่กลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง

จะเห็นได้ว่า มาตรการที่รัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินการเพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และยังมีอยู่อีกหลายประการ ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถติดตามได้ในวันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น