xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธการฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจของรัฐบาลโอบามา

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

ภายหลังชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี นายบารัค โอบามา ได้ประกาศเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2551 ยอมรับว่าปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมีความซับซ้อนและสะสมมาเป็นเวลายาวนาน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จในชั่วข้ามคืนได้ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรีบเร่ง ยิ่งดำเนินการล่าช้ามากเท่าใด ก็จะยิ่งทำให้ชาวสหรัฐฯ ตกงานเป็นจำนวนมากขึ้น โดยหวั่นเกรงว่าอัตราการว่างงานเมื่อสิ้นปี 2551 อยู่ที่ระดับ 7.2% จะกลายเป็นตัวเลข 2 หลักในอนาคต และเศรษฐกิจของประเทศจะยิ่งถลำลึกในภาวะวิกฤตมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะหากดำดิ่งลงไปถึงจุดที่ไม่สามารถพลิกฟื้นกลับขึ้นมาได้

ปัญหาเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ดำเนินการในระยะที่ผ่านมานั้น นายโอบามาได้วิพากษ์วิจารณ์ว่า การใช้จ่ายเงินงบประมาณที่มาจากภาษีอากรของประเทศอย่างปราศจากความฉลาดรอบคอบและขาดวินัย ก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ

ประการแรก มีรูปแบบ “การขว้างเงินไปสู่ปัญหา” กล่าวคือ เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างไม่มีกลยุทธ์ หน่วยราชการคิดมาตรการอะไรได้ก็ยำรวมกันเข้าไป ซึ่งเปรียบเสมือนกับ “จับฉ่าย” โดยจะมีการบูรณาการเฉพาะเมื่อนำมาตรการต่างๆ มารวมเล่มเท่านั้น การดำเนินงานดังกล่าวจึงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างขอไปที ไม่ใช่การวางรากฐานสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวแต่อย่างใด

ประการที่สอง มีจัดสรรงบประมาณรายจ่ายไปสู่โครงการที่จะสร้างคะแนนเสียง แทนที่จะจัดสรรไปสู่โครงการที่แก้ไขปัญหาของประชาชน ส่งผลทำให้ประชาชนสูญเสียความเชื่อถือและความมั่นใจทั้งต่อเศรษฐกิจ ตลาดการเงิน และรัฐบาล

รัฐบาลโอบามาได้เสนอแผนฟื้นฟูและเพิ่มการลงทุนอีกครั้งหนึ่งสำหรับสหรัฐอเมริกา (American Recovery and Reinvestment Plan) แก่รัฐสภาเมื่อเดือนมกราคม 2552 โดยกำหนดเป้าหมายทั้งในส่วนการสร้างงานในระยะเฉพาะหน้า กระตุ้นการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในระยะยาว โดยต้องการให้รัฐสภาอนุมัติแผนฉบับนี้เพื่อให้เขาสามารถลงนามประกาศเป็นกฎหมายได้ภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2552

แผนข้างต้นกำหนดจะใช้งบประมาณ 825,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงเวลา 2 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าหมายสร้างงาน 3 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเป็นตัวเลขขั้นต่ำที่จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยร้อยละ 80 ของจำนวนตำแหน่งงานดังกล่าว กำหนดจะเป็นการสร้างงานในภาคธุรกิจเอกชน และต่อมาเขาได้กล่าวว่ามาตรการข้างต้น จากการคำนวณของทีมเศรษฐกิจของเขา น่าจะสร้างงานมากกว่าที่คาดหมายไว้เดิม กล่าวคือ เพิ่มเป็น 4.1 ล้านตำแหน่ง

แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของนายโอบามาประกอบไปด้วยส่วนผสมทั้งในส่วนเพิ่มการใช้จ่ายและลดภาษีอากร เนื่องจากต้องการได้รับเสียงสนับสนุนทั้งจากสมาชิกรัฐสภาของฝ่ายพรรคเดโมแครต ซึ่งสนับสนุนการเพิ่มรายจ่าย และเสียงสนับสนุนจากพรรครีพับลิกันที่ต้องการให้ลดภาษีอากร เพื่อให้กฎหมายผ่านสภา โดยมีรายจ่ายหลายรายการที่น่าสนใจมาก เนื่องจากเป็นผลดีต่อประเทศในระยะยาว

ประการแรก การจัดสรรเงินงบประมาณ 141,600 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับด้านการศึกษา เพื่อนำไปใช้จ่ายในการปรับปรุงโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ให้ทันสมัยในระดับโลกทั้งในส่วนห้องเรียน ห้องแล็บ และห้องสมุด รวมถึงติดตั้งคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีใหม่ และฝึกอบรมครูอาจารย์

การดำเนินการข้างต้นได้ตั้งเป้าหมายปรับปรุงสถานศึกษาจำนวน 10,000 แห่ง เพื่อปรับปรุงบรรยากาศการศึกษาให้แก่นักเรียนนักศึกษาจำนวน 5 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลทำให้นักเรียนในนครชิคาโกและนครบอสตันสามารถแข่งขันได้กับนักเรียนในกรุงปักกิ่งสำหรับตำแหน่งงานในอนาคตซึ่งต้องการความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีและมีผลตอบแทนการทำงานในรูปเงินเดือนระดับสูง

ประการที่สอง รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายลงทุนปรับปรุงอาคารหน่วยราชการของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก คิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ของอาคารทั้งหมด ให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน โดยสามารถประหยัดค่าพลังงานได้มากถึงปีละ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงปรับปรุงที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อย จำนวนไม่น้อยกว่า 2 ล้านหลัง ให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน ทำให้ครอบครัวที่มีฐานะยากจนประหยัดพลังงานได้เฉลี่ย 350 เหรียญสหรัฐ/ปี ฯลฯ

ประการที่สาม สนับสนุนค่าใช้จ่ายในด้านการรักษาพยาบาลและด้านสุขภาพ 111,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบด้วยการใช้จ่ายเงิน 87,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ที่มีรายได้ต่ำ โดยเฉพาะผู้ตกงานที่ไม่ได้จ่ายเงินประกันสุขภาพ

ส่วนเงินงบประมาณอีก 4,1000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะนำไปใช้ในการสาธารณสุขเพื่อป้องกันโรค เป็นต้นว่า การรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขโรคอ้วน การรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ ฯลฯ เนื่องจากได้วิเคราะห์ว่าประชาชนวัยผู้ใหญ่เป็นสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ดังนั้น จะต้องเน้นในด้านการป้องกันโรคควบคู่ไปกับการรักษาโรค

สำหรับเงินที่เหลืออีก 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะนำไปปรับปรุงระบบระเบียนทางการแพทย์ไปสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันแพทย์สหรัฐฯ ได้ใช้ระบบระเบียนคอมพิวเตอร์เป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 17 ของทั้งหมด โดยจำกัดอยู่เฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า ระบบระเบียนของโรงพยาบาลทั่วประเทศจะเป็นระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ซึ่งจะช่วยลดความล่าช้าในการรับบริการ ลดความสูญเปล่าในการตรวจวิเคราะห์ในห้องแล็บโดยไม่จำเป็น รวมถึงลดปัญหาความผิดพลาดในการรักษาพยาบาล ซึ่งนับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในระบบโรงพยาบาลในสหรัฐฯ และอาจทำให้คนไข้ถึงกับเสียชีวิตได้ โดยปัญหาเหล่านี้สามารถป้องกันได้ หากใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดี

ประการที่สี่ ลดภาษีอากรให้กับคนทำงานชนชั้นกลาง ทำให้เสียภาษีน้อยลง 500 – 1,000 เหรียญสหรัฐ/คน และมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10 เหรียญสหรัฐ/สัปดาห์ มีการเพิ่มเงินเครคิตภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อเลี้ยงดูบุตร ฯลฯ สำหรับภาคธุรกิจจะลดภาษีในรูปการนำผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในปี 2551 ไปหักจากกำไรในช่วง 5 ปี ก่อนหน้านี้ เพื่อขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีดังกล่าว ซึ่งตามกฎหมายปัจจุบันสามารถย้อนหลังไปได้ 2 ปีเท่านั้น ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายจะทำให้รัฐขาดรายได้ประมาณ 25,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

ประการที่ห้า กระตุ้นการพัฒนาด้านพลังงานสะอาดตามโครงการ Clean Energy Finance Initiative เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและการวิจัยและพัฒนาในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพลังงานสะอาด มีเป้าหมายการลงทุนของเอกชน 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายใน 3 ปีข้างหน้า กำหนดมาตรการต่างๆ เป็นต้นว่า การค้ำประกันสินเชื่อ รวมถึงการลดภาษีและเครดิตภาษีเป็นวงเงินมากกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่ามาตรการด้านพลังงานนี้จะก่อให้เกิดการสร้างงานราว 500,000 ตำแหน่ง

ประการที่หก ลงทุนในโครงการด้านสาธารณูปการพื้นฐาน เป็นเงินงบประมาณรวม 90,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ครอบคลุมถึงการลงทุนก่อสร้างถนน สะพาน รถไฟ ชลประทาน รวมถึงการวางเครือข่ายระบบสายส่งไฟฟ้าความยาว 5,000 กม. การสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปยังชนบทและพื้นที่ห่างไกล ฯลฯ ซึ่งนับเป็นโครงการลงทุนของรัฐในด้านก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ที่สุดนับแต่ทศวรรษที่ 1950 หรือประมาณ 50 – 60 ปีมาแล้ว

นายโอบามาตระหนักว่าหลายฝ่ายได้สงสัยในแผนที่เขาได้นำเสนอ เนื่องจากในระยะที่ผ่านมาแม้รัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีบุช จะใช้จ่ายเงินไปเป็นจำนวนมากแล้ว โดยที่เงินเหล่านี้ยังไม่ได้แปลงมาเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของการเพิ่มการจ้างงานหรือเพิ่มรายได้หรือเพิ่มความมั่นใจในเศรษฐกิจ แต่เขาย้ำว่าแผนการซึ่งเขาได้นำเสนอนั้น ไม่เหมือนกับมาตรการที่แล้วมา โดยไม่ใช่เป็นเพียงแค่การโยนเงินเข้าไปยังปัญหา แต่เป็นการลงทุนในสิ่งที่จะเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

ภายหลังประกาศข้อเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ศจ.ดร.เบน เบอร์นานคี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ตอบรับอย่างเต็มที่ โดยกล่าวให้ทัศนะเมื่อกลางเดือนมกราคม 2552 ว่ามาตรการทางการคลังดังกล่าวจะมีส่วนอย่างมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และได้กล่าวเตือนว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะไม่ยั่งยืน เว้นเสียแต่จะมีมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงินของประเทศ โดยกล่าวว่าเมื่อย้อนไปศึกษาบทเรียนจากประวัติศาสตร์แล้ว พบว่าเศรษฐกิจจะไม่เติบโตหากภาคสถาบันการเงินยังไม่สามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพได้

ส่วนนายแบร์ เลวิน อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ และที่ปรึกษาด้านนโยบายเทคโนโลยีของประธานาธิบดีโอบามา ได้กล่าวว่าสิ่งที่น่าสนใจของมาตรการข้างต้น คือ ไม่เฉพาะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการก่อสร้างฐานรากสำหรับการเพิ่มผลิตภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอข้างต้นได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ทางลบจากนาย Kent Conrad วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตจากมลรัฐนอร์ทดาโคตา และเป็นประธานคณะกรรมาธิการงบประมาณอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยให้ทัศนะว่าแผนที่นำเสนอมีลักษณะเป็นแบบพื้นๆ และไม่โดดเด่นเท่าที่ควร

ส่วน นาย Peter Morici อาจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์เห็นว่า แม้จะมีการลดภาษีสำหรับผู้ใช้แรงงานแล้วก็ตาม แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังนิยมจับจ่ายใช้สอยสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ จึงไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ ดังนั้น น่าจะมุ่งเน้นนำเงินงบประมาณไปลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานน่าจะเหมาะสมกว่า

ขณะที่สมาชิกพรรครีพับลิกันกลับมีทัศนะตรงกันข้าม โดยเห็นด้วยกับการลดภาษีอากร แต่ตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับการที่รัฐบาลจะใช้จ่ายเงินจำนวนมากในด้านโครงสร้างพื้นฐานว่าไม่น่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

อีกความเห็นหนึ่ง คือ นาย John A. Boehner สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครีพับลิกันแห่งมลรัฐโอไฮโอ ได้ให้ทัศนะว่าแม้เศรษฐกิจต้องการรับความช่วยเหลือ แต่การใช้จ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น หากเป็นจำนวนเงินที่มากเกินไปแล้ว จะสร้างภาระหนี้สินจำนวนมากให้แก่ประชาชนรุ่นลูกรุ่นหลาน ดังนั้น จึงเปรียบเสมือนกับพวกเราได้ไปกู้เงินจากรุ่นลูกรุ่นหลานที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต เพื่อนำมาจับจ่ายใช้สอยในปัจจุบัน

ล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้เห็นชอบกับแผนฉบับนี้แล้วเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 และได้นำเสนอวุฒิสภาเพื่อขอความเห็นชอบในขั้นต่อไป ก่อนลงนามประกาศเป็นกฎหมาย

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น