xs
xsm
sm
md
lg

ไอ้โม่ง ผลาญเงินคงคลัง 168,134 ล้านบาท!?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ช่วง 2-3 วันนี้มีกระแสข่าวมาอย่างต่อเนื่องว่ารัฐบาลมีเงินคงคลังเหลืออยู่เพียงแค่ 52,000 ล้านบาท ถึงขนาดมีการปล่อยข่าวลือกันว่ากระทรวงการคลังถังแตกจะไม่มีเงินเดือนจ่ายข้าราชการในเร็ววันนี้

เงินคงคลังก็คือยอดการถือเงินสดสะสมของกระทรวงการคลังที่บ่งบอกถึงสถานภาพความมั่งคั่งของกระทรวงการคลัง ในสมัยก่อนที่รัฐบาลมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีและรายได้อื่นๆ มากกว่ารายจ่าย เราก็เรียกว่ารัฐบาลใช้งบประมาณเกินดุล เงินที่เหลือเหล่านั้นก็จะมาจัดเก็บอยู่ในบัญชีที่เรียกว่าเงินคงคลัง

ในทางตรงกันข้ามเมื่อรัฐบาลมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ก็จะต้องกู้เงินมาเติมส่วนที่ขาดตามแผนของงบประมาณที่ได้วางเอาไว้ แต่ถ้าบางเดือนการกู้เงินหรือรายได้ไม่เป็นไปตามแผนก็จะต้องนำเงินคงคลังออกมาใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หลายครั้งที่เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังเห็นว่ารายรับของรัฐบาลไม่เป็นไปตามเป้า หรือมีรายจ่ายเกิดขึ้นพร้อมๆ กันโดยที่มีเงินคงคลังเหลืออยู่น้อย กรมบัญชีกลางก็จะใช้เทคนิคดึงงวดเงินการเบิกจ่ายให้ล่าช้าออกไป จนแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลงเป็นที่หงุดหงิดต่อฝ่ายรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ดังนั้นรัฐบาลนายอภิสิทธิ์จะต้องไม่ตกหลุมพรางถูกหลอกให้เข้าใจว่าการมีเงินคงคลังน้อยที่สุดเป็นเรื่องที่ดี

มาดูสถิติฐานะเงินคงคลังสูงสุดและต่ำสุดในช่วงเวลาของแต่ละรัฐบาลที่ผ่านมา

รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (ธ.ค. 39 – พ.ย. 40) มีเงินคงคลังสูงสุด 313,828 ล้านบาท มีเงินคงคลังต่ำสุดเมื่อพ้นจากตำแหน่ง 247,847 ล้านบาท

รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ชุดที่ 2 (ธ.ค. 40 – พ.ย.43) มีเงินคงคลังสูงสุด 252,142 ล้านบาท และมีเงินคงคลังต่ำสุด 37,020 ล้านบาท

รัฐบาลทักษิณ 1 และ 2 (ก.พ. 44 – ก.ย. 49) มีเงินคงคลังสูงสุด 147,200 ล้านบาท และมีีเงินคงคลังต่ำสุด 12,200 ล้านบาท

รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ (พ.ย.49- ม.ค. 51) มีเงินคงคลังสูงสุด 142,800 ล้านบาท และมีเงินคงคลังต่ำสุด 44,500 ล้านบาท

รัฐบาลนายสมัคร (ก.พ. 51-ส.ค. 51) มีเงินคงคลังสูงสุด 188,900 ล้านบาท และมีเงินคงคลังต่ำสุด 54,500 ล้านบาท

รัฐบาลนายสมชาย (ก.ย. 51 – 2 ธ.ค. 51) มีเงินคงคลังสูงสุด 229,900 ล้านบาท และมีเงินคงคลังต่ำสุด 91,000 ล้านบาท

ทุกรัฐบาลก็สามารถเอาตัวรอดผ่านมาได้ แม้จะมีเงินคงคลังในบางเดือนไม่ถึง 20,000 ล้านบาท ดังนั้นถ้ารัฐบาลชุดนี้มีเงินคงคลังเหลือในปลายเดือนมกราคม 2552 ที่ 52,000 ล้านบาท แม้ไม่ได้ถือว่าเป็นวิกฤตเงินคงคลัง แต่ก็ต้องถือว่าไม่ได้มีมากจนจะไปใช้จ่ายงบประมาณฟุ่มเฟือยแบบไม่ระมัดระวังได้

รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ได้เริ่มทำงานจริงๆ คือเดือนมกราคม 2552 ในขณะที่ตัวเลขของกระทรวงการคลังเพิ่งจะประกาศฐานะการคลังในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2552 นั้น คือเดือนตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นผลงานของรัฐบาลนายสมชาย ที่รับช่วงมรดกต่อจากแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 จากรัฐบาลนายสมัครอีกทีหนึ่ง

ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2552 “ก่อน” ที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเพื่อเริ่มทำงาน (ตุลาคม 2551 –ธันวาคม 2551) นั้นปรากฏตัวเลขที่น่าสนใจดังนี้

รายได้ตามระบบกระแสเงินสดของรัฐบาลจัดเก็บได้ 275,337 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (ตุลาคม 2550 – ธันวาคม 2550) จัดเก็บได้ถึง 330,278 ล้านบาท เป็นการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงไปถึง 54,941 ล้านบาท หรือคิดเป็นการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงไปถึงร้อยละ 16.6

รายได้หดหายไปไหนถึง 54,941 ล้านบาทในช่วงระยะเพียง 3 เดือน? จากรายงานของกระทรวงการคลังพบประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

1. ในทางบัญชีรายได้จากการจัดเก็บของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร พร้อมใจกันจัดเก็บต่ำกว่าประมาณการไป 26,445 ล้านบาท และต่ำกว่าปีก่อนหน้าประมาณ 21,300 ล้านบาท

นอกจากจะมีสาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาแล้ว สาเหตุสำคัญยังมาจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ 6 เดือนของรัฐบาลนายสมัครเพื่อหาเสียงทำให้รายได้จากการจัดเก็บหายไปต่ำกว่าเป้าหมาย 13,861 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52 .41 สาเหตุที่ทำให้รายได้ของหน่วยงานจัดเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งปัญหานี้น่าจะทยอยดีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้หันมาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันให้กลับมาเป็นปกติ

2. รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ให้กับรัฐบาลต่ำกว่าประมาณการไป 10,506 ล้านบาท หรือร้อยละ 46.8 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 59.9) โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยขอเลื่อนการนำส่งรายได้ออกไป รวมทั้ง บมจ. ทีโอที ยังไม่สามารถนำส่งรายได้ค่าธรรมเนียมการสื่อสารตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งหากเร่งรัดการจัดเก็บรายได้จากรัฐวิสาหกิจที่ตกค้างเหล่านี้ได้ก็น่าที่จะทำให้สถานภาพทางด้านการคลังดีขึ้น

3. มีเรื่องที่ต้องถือว่าน่าแปลกประหลาดยากที่จะเห็นได้ในกระทรวงการคลัง ก็คือช่วงเวลาระหว่างตุลาคม 2551 – ธันวาคม 2551 ในขณะที่รายได้จัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย กระทรวงการคลังกลับไปคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการจำนวนมหาศาลเกินกว่าประมาณการไปถึง 16,961 ล้านบาท คิดเป็นการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการเกินประมาณการไปถึงร้อยละ 33.8

ในอดีตเป็นเรื่องที่ยากมากที่กรมสรรพากรจะคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งปีนี้ 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่าเป้าหมายไปถึง 8,505 ล้านบาท แต่กลับเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการเกินกว่าประมาณการไปอีก 16,961 ล้านบาทนั้น ผิดวิสัยธรรมชาติของกรมสรรพากรหรือไม่?

ที่ว่าเป็นเรื่องที่น่าผิดสังเกตยิ่งขึ้นไปอีกก็เพราะเหตุว่าการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวนมากครั้งนี้ เกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงโดยเฉพาะช่วง “เดือนธันวาคม 2551”

เดือนธันวาคม 2551 เป็นช่วงเวลารอยต่อจากรัฐบาลนายสมชาย มาเป็นรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ซึ่งกว่าที่นายอภิสิทธิ์จะได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาก็เป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2551

ถ้าเทียบสถิติรัฐบาลรักษาการพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการในเดือนธันวาคม 2550 ประมาณ 12,231 ล้านบาท แต่ธันวาคม 2551 เพียงเดือนเดียวกระทรวงการคลังกลับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการถึง 21,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 9,069 ล้านบาท

เดือนธันวาคม 2551 เดือนเดียว มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการสูงกว่าปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 74 !

ปลัดกระทรวงการคลัง หรืออธิบดีกรมสรรพากรอาจจะอ้างว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องถามกลับอีกเช่นกันว่ามันคุ้มค่ากับภาวะที่การจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่? และประชาชนทั่วไปได้รับประโยชน์จากการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างทั่วถึงและโปร่งใสหรือไม่?

ในขณะที่ 3 เดือนแรกการจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ในอีกด้านหนึ่งรายจ่ายงบประมาณก็ได้เดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2552 การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 404,340 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.8 โดยแบ่งออกเป็นรายจ่ายปีปัจจุบัน 362,321 ล้านบาทและรายจ่ายปีก่อนที่ตกเบิกมาจ่ายในปีนี้อีก 42,019 ล้านบาท

เมื่อรายได้ตามงบประมาณลดลงแต่กลับใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้น จึงเกิดการขาดดุลเงินงบประมาณ ซึ่งไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2552 รัฐบาลขาดดุลเงินงบประมาณไปแล้ว 129,003 ล้านบาท

นอกจากขาดดุลเงินงบประมาณแล้ว ยังมีการใช้จ่ายนอกแผนงบประมาณอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการคืนหนี้ไถ่ถอนตั๋วเงินคลังสุทธิ 66,000 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินนอกงบประมาณอีก 79,131 ล้านบาท

เป็นผลทำให้ดุลเงินสดของรัฐบาลขาดดุลทั้งในงบประมาณและนอกงบประมาณเพียง 3 เดือนแรกในปีงบประมาณ 2552 ไป 208,134 ล้านบาท

เมื่อเงินสดขาดมือรัฐบาลก็เลยใช้วิธีการกู้เงินโดยการออกพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลเงินสดไป 40,000 ล้านบาท แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการขาดดุลเงินสดของรัฐบาลทั้งหมด

ใน 3 เดือนแรก “ก่อน” ที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์จะได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา จึงได้มีการล้วงเงินคงคลังไปใช้แล้วประมาณ 168,134 ล้านบาท เป็นผลทำให้เงินคงคลังเหลือเพียง 61,400 ล้านบาท และมาเหลือประมาณ 52,000 ล้านบาทในเดือนมกราคม 2552 ตามการให้ข้อมูลของนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง

คำถามที่ว่าเงินคงคลังหายไปไหน ก็น่าจะสรุปได้ว่าเป็นเพราะการจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เพราะมีไอ้โม่งวางยาเอาไว้ ทั้งการลดการเก็บภาษีน้ำมันเพื่อหาเสียง อีกทั้งยังมีการเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการมากกว่าปกติ รายได้เก็บไม่เข้าเป้าแต่กลับไม่ลดค่าใช้จ่าย ออกพันธบัตรกู้เงินไม่สอดคล้องกับจำนวนเงินที่มีการคืนหนี้ไถ่ถอนตั๋วคลัง เมื่อเงินสดขาดมือจึงต้องล้วงเอาเงินคงคลังไป 168,134 ล้านบาท

ภาวะเงินขาดมือเช่นนี้จึงทำให้วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 คณะรัฐมนตรีที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงได้อนุมัติกรอบการกู้เงินประมาณ 270,000 ล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินอย่างเร่งด่วน

12 ปีมาแล้วที่ประเทศไทยไม่รู้จักคำว่างบประมาณสมดุล หรืองบประมาณเกินดุล มีแต่การขาดดุลงบประมาณติดต่อกันมาเป็นเวลานาน เร่งใช้จ่ายเพื่อการหาเสียงและทำอภิมหาโครงการอย่างสุรุ่ยสุร่ายเพื่อทำมาหากินกันในหมู่วงศาคณาญาติของนักการเมืองจนชาติใกล้จะล่มจม ทุกๆ ปีก็ต้องมีการกู้เงินมาจนไม่รู้ว่ารัฐบาลจะมีเงินงบประมาณเกินดุลเพื่อคืนหนี้สาธารณะทั้งหมด 3.4 ล้านล้านบาท ได้อย่างไร นอกจากการ “หมุนหนี้” กู้เงินใหม่มาคืนหนี้เก่า กู้เงินมาแก้ปัญหาการขาดดุลการคลัง และกู้เงินใหม่มาคืนดอกเบี้ยเงินกู้ไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบสิ้น

ประเทศไทยต้องขาดดุลงบประมาณตลอด 12 ปี และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดการขาดดุลงบประมาณได้ ในขณะที่หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเงินคงคลังก็ร่อยหรอลงจนหนี้สาธารณะมีจำนวนสูงกว่าเงินคงคลังถึง 65 เท่าตัวแล้วในขณะนี้

ฐานะการคลังเช่นนี้ รัฐบาลจึงจะต้องพิจารณาให้ดีในการที่จะใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และต้องคำนึงถึงความยั่งยืนทางเศรษฐกิจที่จะสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น และควรหามาตรการอื่นเช่นนโยบายการเงินเพื่อเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนและเติบโตขึ้นโดยใช้ภาคเอกชน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องช่วยกันป้องกันการรั่วไหลและปราบปรามการคอร์รัปชันงบประมาณแผ่นดินด้วยความเสียสละ ซื่อสัตย์ และกล้าหาญ อย่างถึงที่สุด
รัฐฯถังแตก!เงินคงคลังวูบ ชงครม.กู้เงินนอก7หมื่นล้าน
ปลัดคลังแจง กมธ.วิสามัญพิจารณางบเพิ่มเติมปี 52 เผยยอดจัดเก็บ 3 เดือนแรกลดลง 16 % หากไม่เร่งอัดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจติดลบ 3% ขณะที่เงินคงคลังสิ้นปี 51 เหลือก้นถัง 5.2 หมื่นล้าน ต้องกู้ยืมมาโปะ พิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล ชี้ควรจะมีอย่างน้อย 6.4 หมื่นล้าน เพราะรายจ่ายประจำเดือนละ 3.2 หมื่นล้าน ไตรรงค์ยอมรับไทยหนีวิกฤตโลกไม่พ้น สศค.โต้ตัวเลข ม.ค.ฟื้น ลั่นไม่ปัญหาสภาพคล่อง ด้านคลัง ชงครม.กู้เงินนอก 7 หมื่นล้าน จากธนาคารโลก เอดีบี และไจก้า ระบุนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น