xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “ภาษีมรดก” บนสถานการณ์เสี่ยง “รัฐบาลอภิสิทธิ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดสูตร “ภาษีมรดก” วิเคราะห์จุดอ่อน-จุดแข็ง โอกาส และความเป็นไปได้ บนความอยู่รอดภายใต้ดุลยภาพทางการเมือง

ประเด็นการจัดเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดิน จุดกระแสความสนใจของผู้คนในสังคมไทยอีกครั้ง เมื่อ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีดำริที่จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง สอดรับกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่เตรียมผลักดันเป็นกฎหมายออกมาใช้ให้ทันในรัฐบาลชุดนี้

กระแสความสนใจของผู้คนมุ่งเน้นไปที่ประเด็นทางการเมืองมากกว่าผลกระทบต่อโครงสร้างทางการคลังของประเทศ เนื่องจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดก ส่งผลกระเทือนต่อการสะสมความมั่งคั่งของผู้มีอำนาจทางการเมืองไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายภาษีที่ดินและมรดกออกมา “คอการเมือง” ต่างจับจ้องไปที่เสถียรภาพของรัฐบาลทันที เนื่องด้วยไม่มีเหตุผลที่นักการเมืองรวมถึงกลุ่มทุนการเมืองจะยอมเถือเนื้อตัวเอง จนมีการเปรียบเปรยกันว่านโยบายภาษีที่ดินและมรดกเป็นนโยบายอาถรรพ์ที่ทำให้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต้องมีอันเป็นไป

ในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ ที่มี นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เคยส่งผลการศึกษามาแล้วครั้งหนึ่ง ด้วยหวังว่าอย่างน้อยที่สุดในยุคที่รัฐบาลไม่ต้องคำนึงถึงฐานเสียงทางการเมืองมากนักน่าจะผ่านไปได้ด้วยดี แต่ก็ไม่สามารถทานต่อกระแสคลื่นใต้น้ำไปได้ มีอันต้องเก็บเข้าลิ้นชักไปในที่สุด

ช่องว่างคนจน-คนรวยสูง

ในทางการคลังการใช้เครื่องมือทางภาษี เป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า และการเก็บภาษีมรดก จากผู้ที่มีฐานะมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ข้อมูลจากการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า สัดส่วนรายได้ของคนรวยมีช่องว่างห่างขึ้นเรื่อยๆ

โดยกลุ่มที่มีรายได้ร่ำรวยสุด 20% แรกมีสัดส่วนรายได้มากกว่า กลุ่มที่จนที่สุด 20% สุดท้าย คิดเป็น 11.88 เท่า ในปี 2531 เพิ่มเป็น 13.52 เท่า ในปี 2539 และข้อมูลจากการจัดเก็บล่าสุด เมื่อปี 2549 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 14.66 เท่า ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าการกระจายรายได้และความเป็นธรรมในสังคมลดลง ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมีสัดส่วนโดยเฉลี่ยประมาณ 5 เท่า เท่านั้น

นายเกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม นักวิชาการด้านการคลัง อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า โดยทั่วไปการจัดเก็บภาษีมีเป้าหมายสำคัญ 2 ประการ คือ การจัดเก็บเพื่อมุ่งรายได้ และการจัดเก็บเพื่อมุ่งความเป็นธรรมในสังคม ประเด็นการจัดเก็บภาษีมรดก เป็นการจัดเก็บเพื่อมุ่งความเป็นธรรมมากกว่าที่จะมุ่งจัดเก็บเพื่อหารายได้เข้ารัฐ การที่ฝ่ายค้านบอกว่าสาเหตุที่จัดเก็บเพราะรัฐบาลถังแตก แสดงว่าไม่เข้าใจเกี่ยวกับภาษีมรดก

“การจัดเก็บภาษีมรดก ไม่สามารถประมาณการรายได้ที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการตายของเศรษฐี ในทางทฤษฎีการคลัง ไม่ถือเป็นรายได้ที่ดี แต่เป็นความจำเป็นต้องมีเพื่อความเป็นธรรม”

50 ประเทศทั่วโลกเก็บภาษีมรดก

การจัดเก็บภาษีมรดก มี 3 รูปแบบ คือ วิธีที่ 1 เก็บจากกองมรดก (Estate Tax) เมื่อเจ้าของทรัพย์สินตายลง แล้วนำเอาทรัพย์สินมาประเมิน ข้อดีของวิธีการนี้คือจัดเก็บง่ายไม่ยุ่งยาก วิธีที่ 2 ภาษีรับมรดก (Inheritance Taxes) จัดเก็บจากผู้รับมรดก แต่ปัญหาของวิธีนี้คือการจัดเก็บยุ่งยาก และ วิธีที่ 3 ภาษีการให้ (Give Tax) เป็นการจัดเก็บจากทรัพย์สินที่ให้โดยเสน่ห์หา

ในทางปฏิบัติ มักจะจัดเก็บตาม วิธีที่ 1 หรือ วิธีที่ 2 แต่เพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีโดยอาจมีการโอนให้ทายาทก่อน จึงต้องมีการจัดเก็บภาษีการให้ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีประเทศที่จัดเก็บภาษีมรดกมากกว่า 50 ประเทศ ส่วนมากเป็นการจัดเก็บในรูปของภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) ควบคู่กับภาษีการให้ (Give Tax) (ดูตารางประกอบ)

ไทยเคยเก็บแต่ยกเลิก

ในอดีตประเทศไทยเคยมีการจัดเก็บภาษีมรดกทั้ง 3 รูปแบบ ตามพระราชบัญญัติอากรมรดกและอากรการรับมรดก พ.ศ.2476 เริ่มจัดเก็บในปี พ.ศ.2484 โดยในปี 2484 มีการจัดเก็บภาษีมรดกได้มากที่สุด คิดเป็น 0.53% ของภาษีโดยรวม

อย่างไรก็ตาม หลังจากจัดเก็บได้ไม่นานก็ถูกยกเลิกไป ในปี 2487 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลที่ต้องมีการยกเลิกพระราชบัญญัติข้างต้น ไว้ว่า “อากรมรดกและการรับมรดกปีหนึ่งๆ เก็บได้เป็นจำนวนไม่แน่นอน และตามปกติเก็บได้เป็นจำนวนน้อยแต่มีภาระต้องปฏิบัติมาก จึงสมควรเลิกเก็บอากรมรดกและการรับมรดกเสีย เพื่อให้เจ้าพนักงานได้มีเวลาปฏิบัติงานอื่นซึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่า”

จุดอ่อนภาษีมรดก

ถึงแม้ว่าภาษีมรดกเป็นประโยชน์ในแง่สร้างความเป็นธรรมในสังคม แต่ก็มีจุดอ่อนที่สร้างปัญหาให้กับประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีมรดกพอสมควร อย่างกรณีล่าสุด สาเหตุที่ประเทศมาเลเซียเพิ่งยกเลิกไป เพราะไม่สามารถจัดการกับปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีโดยเคลื่อนย้ายเงินทุนออกนอกประเทศ เมื่อประเมินแล้วได้ไม่คุ้มเสีย ในที่สุดก็ต้องยกเลิกไป

ประเด็นหนึ่ง ที่นักวิชาการภาษีถกเถียงกันค่อนข้างมาก คือ การจัดเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน เพราะในขณะที่มีชีวิตอยู่และมีรายได้ก็ได้เสียภาษีมาแล้ว แต่เมื่อเสียชีวิตกลับถูกเก็บภาษีซ้ำอีกทอดหนึ่ง อาจมองได้ว่าไม่เกิดความเป็นธรรมเพราะมีการจ่ายภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมาก่อนแล้วขณะที่มีชีวิตอยู่

ประเด็นปัญหาที่สำคัญอีกประการ หากจะมีการจัดเก็บภาษีมรดกในอนาคต คือ ปัญหาการประเมินราคาทรัพย์สิน ซึ่งประเทศไทยขาดทั้งหลักการและบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการเมินราคาทรัพย์สิน นอกจากนี้ ค่าบริหารจัดการในการจัดเก็บก็ค่อนข้างสูง แต่ปัญหานี้สามารถจัดการได้ หากรัฐบาลมีการวางแผนที่ดีพอ

แนะแนวการจัดเก็บ

นายเกริกเกียรติ แนะนำว่า รูปแบบการจัดเก็บภาษีมรดกที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย คือเก็บจากกองมรดกและเก็บจากการให้
โดยมีหลักว่าทำอย่างไรเพื่อไม่ให้คนส่วนใหญ่เดือดร้อน ซึ่งวิธีจัดเก็บเพื่อไม่ให้เดือดร้อน คือการจัดเก็บเป็นอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได เช่น มรดก 500 ล้านบาท เสียภาษี 5% ต่อไป 501-1,000 ล้านบาท อัตรา 10% เป็นต้น

“ถ้าเก็บตั้งแต่ 500 ล้านขึ้นไป คาดว่า ประชาชน 99.99% ไม่เดือดร้อน ในแง่การเมือง ถ้าทำให้คิดว่ารัฐบาลจะได้คะแนนมากกว่าจะเสียคะแนน และควรจะระบุลงไปว่า ภาษีมรดกใช้ในกิจการใดบ้าง ที่จะสร้างความเป็นธรรมในสังคม”

การจัดเก็บภาษีมรดกไม่สามารถคาดการณ์รายได้ที่แน่นอนได้ ควรดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อนำรายได้มาพัฒนาท้องถิ่น ไม่ใช่เป็นรายได้ของรัฐ เช่น การนำเงินไปพัฒนาท้องถิ่น หรือสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้เสียโอกาสในสังคม

นายเกริกเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดเก็บภาษีมรดกเป็นการริเริ่มที่ดี เชื่อว่านายกรัฐมนตรีมีความเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี แต่ปัญหาคือ จะทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดคือต้องพยายามให้ข้อมูล

จุดอ่อนของภาษีมรดก คือ รายได้ไม่แน่นอน การประเมินทรัพย์สินและบริหารจัดการยาก จึงต้องมีแผนการดำเนินการอย่างรอบคอบรัดกุม เพื่ออุดรอยโหว่ต่างๆ ที่จะเป็นปัญหาในอนาคต แต่จุดอ่อนของประเทศไทย คือ ผู้มีอำนาจในทางการเมือง ที่มีส่วนได้เสียโดยตรง มีความกล้าหาญพอที่จะเสียสละเพื่อประเทศชาติหรือไม่

อนึ่ง ผลลัพธ์ของการตรากฎหมายมรดกมาบังคับใช้ อาจจะได้รับเสียงปรบมือจากสาธารณะชนทั่วไป ในอีกด้านหนึ่งก็อาจจะเป็นฉนวนให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องจบเห่ก่อนได้รับเสียงปรบมือก็เป็นได้ ต้องติดตาม …แต่ที่สามารถฟันธงไว้ล่วงหน้า เรื่องภาษีมรดก คงต้องร้องเพลงรอต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น