xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

เวทีนโยบาย:การเมืองใหม่ในปีกผีเสื้อ

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

แรงกระเพื่อมเพียงน้อยนิดในจุดแรกเริ่มห่างไกลใต้มหาสมุทรจากภูเขาไฟระเบิดหรือแผ่นดินไหวสามารถขยายวงเกลียวคลื่นเคลื่อนสูงรุนแรงกระแทกชายหาดพังพินาศได้ฉันใด การกระพือปีกผีเสื้อแค่ครั้งเดียวก็พัดพากระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงโลกน้ำเงินครามได้ฉันนั้น

เช่นนั้นแล้วการเมืองใหม่ใสสะอาดปราศจากทุจริตคอร์รัปชันจากการขับเคลื่อนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ไยจะเกิดแรงผลักดันมหาศาลจนกวาดล้างนักการเมืองผู้กระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of interest) ให้ตกเวทีอำนาจไปไม่ได้ ในเมื่อไม่ได้เคลื่อนไหวแค่คราเดียวหรือมาเดี่ยวโดด แต่หลอมรวมภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมผู้พร้อม ‘ปฏิรูปการเมืองใหม่’ ไว้มากมายหลายหลาก โดยเฉพาะประชาชนธรรมดา

ทว่าว่าก็ว่าเถอะ นับแต่อดีตถึงปัจจุบันการปฏิรูปการเมืองยังขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ถึงจะพบพานความล้มเหลวอันเนื่องมาจากนักการเมืองอันเป็นกลไกสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยไม่ตระหนักถึงความสำคัญของเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ซ้ำร้ายกว่านั้นยังเกาะกุมตำแหน่งยับยั้งขัดขวางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยเกรงเสียผลประโยชน์ส่วนตน ตลอดจนกลัวแผลแต่หนหลังปริประจานตามกฎแห่งกรรมถ้าถูกตรวจสอบหลังสูญเสียอำนาจ

เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญในการปฏิรูปการเมืองทั้งบันทึกและไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรจึงถูกทิ้งขว้างมาเรื่อย หรือไม่ก็ถูกวินิจฉัยตีความตามแบบศรีธนญชัยจนประชาชนกลายเป็นผู้เสียหายจากการถูกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบังคับ หรือไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นการแสวงแนวทางปฏิรูปการเมืองนอกจากต้องสามารถนำรัฐธรรมนูญไปปฏิบัติตามเจตนารมณ์ให้เกิดมรรคผลเชิงพลวัต ควบคู่กับสร้างจิตสำนึกสาธารณะในนักการเมืองให้ได้แล้ว ยังต้องเปิดกว้างให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากกว่ามิติหย่อนบัตรเลือกตั้งด้วย เพราะจะเคลื่อนขับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองพร้อมๆ กับปรับปัญหาแก้ผลกระทบจากการแปรเปลี่ยนเพื่อให้ระบบการเมืองดำเนินไปในทิศทางพึงประสงค์ได้อย่างยั่งยืน

ในทางปฏิบัติเพื่อผลักดันการปฏิรูปการเมืองให้บรรลุวัตถุประสงค์จึงต้องสร้างแนวทางการนำรัฐธรรมนูญไปปฏิบัติบังคับใช้อย่างเคร่งครัดทั้งในภาคส่วนผู้แทนที่มีบทบาทหลักใช้อำนาจรัฐ ภาคส่วนองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีบทบาทหลักสนับสนุนตรวจสอบควบคุมจำกัดอำนาจรัฐของนักการเมือง และส่งเสริมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพภาคพลเมือง และภาคพลเมืองที่เป็นพลังสำคัญในการสร้างพลวัตทางการเมืองผู้มีบทบาทหลักกำกับอำนาจและเรียกร้องสิทธิ

แนวโน้มการเมืองไทยจึงเลื่อนไหลไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory democracy) ที่พลเมืองมีส่วนร่วมตัดสินใจ (Decision making) แบบอารยะประเทศที่ยึดหลักการปกครองของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชน (Government of the people, by the people, for the people) อย่างแท้จริง ถึงวันนี้จะยังติดขัดขวากหนามจากภาคผู้แทนที่หวงแหนประโยชน์ส่วนตนมากกว่าสาธารณะและกตัญญูพรรคมากกว่าประชาชนอยู่ก็ตาม

ด้วยการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทยที่บัญญัติครั้งแรกไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2492 นั้นผสานประชาธิปไตยแบบรัฐสภากับแบบมีส่วนร่วมจนเกิดดุลยภาพได้ เพราะภาคประชาชนสามารถเข้ามามีบทบาทกำหนดหรือหยุดยั้งนโยบายสาธารณะที่กระเทือนคุณภาพชีวิต ‘ในครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ และกำกับนักการเมือง โดยเฉพาะคณะรัฐมนตรีให้มีธรรมาภิบาล รวมถึงตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐสภาให้มีประสิทธิภาพตามหลักการควบคุมกันแบบคานดุลอำนาจ (Balances of power)

การเคลื่อนไหวของ พธม.จึงไม่ใช่แค่ส่งเสริมการปกครองระบอบดังกล่าวเท่านั้น ทว่ายังแผ้วถางทางสายนี้เนื่องจากไม่มีประชาธิปไตยใดอยู่ได้ถ้าปราศจากระบบยุติธรรมที่เป็นอิสระไม่ตกใต้อาณัติอิทธิพลใดๆ และไร้หลักประกันสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการดำรงอยู่ของสื่อสารมวลชนอิสระ (Free media)

ขบวนการทางสังคมที่ชูธงการเมืองใหม่ เช่น พธม.จึงตรวจสอบควบคุมกำกับอำนาจบริหารและนิติบัญญัติเข้มข้น ขณะที่ไม่แทรกแซงแทรกซึมแทรกซื้ออำนาจตุลาการแต่อย่างใด

ประชาธิปไตยแท้จริงเป็นระบบที่สังคมทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมได้ ในทุกระดับ ในทุกกระบวนการการตัดสินใจและควบคุมให้เป็นไปตามนั้น ภายใต้การสร้างเสริมวัฒนธรรมด้านขันติธรรม (Tolerance) และการเคารพผู้อื่นให้พัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ เฉกเช่นเดียวกับสนับสนุนความสมดุลและพหุนิยม (Pluralism) ในสังคม อีกทั้งยังเน้นหนักการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนดังปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ.1948

ศักยภาพภาคพลเมืองอันกอปรด้วยปัจเจกบุคคล ชุมชนท้องถิ่น กลุ่มผลประโยชน์ภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชนจึงเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อคุ้มครองส่งเสริมสิทธิประโยชน์ตนเองด้านต่างๆ ทั้งสิทธิเสรีภาพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นพลเมือง และความเสมอภาค ผ่านทักษะความสามารถการใช้เหตุผล ตลอดจนควบคุมจำกัดอำนาจรัฐร่วมกับกลไกองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในลักษณาการของความร่วมมือนับแต่ขั้นการควบคุมการเข้าสู่อำนาจที่ต้องสุจริตเที่ยงธรรม การใช้อำนาจที่ต้องชอบธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และการพ้นจากอำนาจที่ต้องผ่านกระบวนการถอดถอนและลงโทษจากกระบวนการยุติธรรม เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

กระบวนการขับเคลื่อนการเมืองโดยภาคประชาชนจึงเป็นปัจจัยหลักในการปฏิรูปการเมืองใหม่ให้ปลอดคอร์รัปชันเชิงนโยบายและต้านทานการรุกรานของบรรษัทข้ามชาติตามแรงลมโลกาภิวัตน์ได้ในเวลาเดียวกัน ด้วยปรับตัวเท่าทันสถานการณ์มากกว่ารัฐล้าหลังทั้งยังจำนนอำนาจเงิน

บทบาทโดดเด่นของ พธม.ในมิติติดตามตรวจสอบควบคุมจำกัดอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ โดยเฉพาะการป้องกันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดเป็นถูก และการทำสนธิสัญญาหรือหนังสือสัญญาระหว่างประเทศอย่างคลุมเครือจึงสอดผสานเป็นเอกภาพกับการเมืองภาคพลเมืองที่เน้นการกำกับอำนาจและเรียกร้องสิทธิ

การวาดภาพการเมืองภาคประชาชนล้มหายตายจากหรือต้องปิดฉากการชุมนุมเคลื่อนไหวจากการกระทำของ พธม.จึงคลาดเคลื่อน ยิ่งพินิจการเปิดโปงคอร์รัปชันสลับซับซ้อนของผู้มีอำนาจรัฐด้วยแล้วก็ยากยิ่งจะหาขบวนการทางสังคมใดมีคุณูปการเทียมเท่า เนื่องจากมูลค่าความสูญเสียจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงมหาศาลกว่ามาก

ทั้งนี้ยุทธวิธีที่ พธม.ใช้อาจถกเถียงได้ในหลายแง่มุม หากแต่ยุทธศาสตร์การเมืองใหม่ไร้โกงกินน่าจะเป็นหมุดหมายร่วมเดียวกันของวิญญูชนผู้เชิดชูคุณธรรมจริยธรรม หรือยึดมั่นหลักนิติรัฐนิติธรรม หรือศรัทธาธรรมาภิบาล เพราะท้ายสุดหลักเหล่านั้นปฏิเสธการคอร์รัปชันเหมือนๆ กัน

แทนจะพยายามดิสเครดิต พธม.ว่าทอนหลักการประชาธิปไตยด้วยแนวทาง ‘มองใบไม้ใบเดียวแล้วเขียนภาพป่าทั้งป่า’ ทว่าควรลุกขึ้นยืนปรบมือกึกก้อง ‘Standing ovation’ แก่มวลชนที่ถ้าไม่มีจิตสาธารณะเข้าร่วมชุมนุมแล้วไม่แคล้วกฎหมายสูงสุดต้องถูกแก้ไขเพื่อพรรคพวกแน่นอน ตลอดจนมวลชนส่วนใหญ่ยังอหิงสาไม่ตอบโต้สิ่งผิดด้วยสิ่งผิด ตอบแทนความรุนแรงด้วยความรุนแรง เพราะเชื่อมั่นว่าไม่ใช่แนวทางถูกต้องตามอารยะขัดขืน

ถึงกระนั้นการเมืองใหม่ในความวาดหวังของมวลชน พธม.ที่เคลื่อนไหวมานานคงไม่ใช่การสลับขั้วเปลี่ยนข้างของนักการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่ท่วมท้นด้วยการต่อรองผลประโยชน์ หากเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงลึกและกว้างราวเกลียวคลื่นสึนามิพัดพาซากสกปรกคอร์รัปชันจากไป

แม้นห้วงนี้ยังไม่สัมฤทธิผล แต่ปัจเจกชนที่หลอมรวมเป็นขบวนการทางสังคม พธม. ต้องตั้งจิตใจให้แน่วแน่มั่นคง มีสติแม้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากแนวร่วม รวมถึงไม่ตอบโต้ด้วยอารมณ์หวาดกลัว ผิดหวัง หรือลังเล แต่ต้องหนักแน่นในพลังตัวเองเฉกเช่นผีเสื้อที่เพียงกระพือปีกบางเบาก็พัดพาสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงมาเยือนได้ดังปรากฏการณ์ ‘Butterfly effect’

บอบบางแบบผีเสื้อยังเปลี่ยนโลกใบน้อยได้ แล้วไยแข็งแกร่งเช่น พธม.จะพลิกผืนแผ่นดินไทยให้ปราศจากทุจริตคอร์รัปชัน ควบคู่กับธำรงรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสืบต่อไปไม่ได้ ขอแค่ไม่ถดถอยท้อต่อการเกาะเกี่ยวกันกระพือ ‘ปีกแห่งปัญญา’

คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น