xs
xsm
sm
md
lg

อาณัติและความชอบธรรมทางการเมืองอันเป็นที่ยอมรับ

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นระบบที่ต้องทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค สะท้อนถึงการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การมีส่วนร่วมทางการเมือง มีสิทธิในการคัดสรรตัวบุคคลเข้าทำหน้าที่แทนตนด้วยการหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง มีบทบาทสำคัญที่จะคอยควบคุมไม่ให้มีการลุแก่อำนาจ ฉ้อราษฎร์บังหลวง ละเมิดกฎหมาย ทำลายหลักนิติธรรม ที่สำคัญ ระบบทั้งหมดดังกล่าวนี้จะต้องมีความสามารถในการคัดสรรตัวบุคคล เพื่อได้คนดีมีความรู้ความสามารถ มีความซื่อสัตย์สุจริต เข้าทำหน้าที่ในการใช้อำนาจรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนนิติบัญญัติและบริหาร

ในระบบดังกล่าวนี้ประชาชนต้อง มีส่วนเลือกและมีส่วนร่วม ในกระบวนการคัดสรรตัวบุคคลและควบคุมการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของตน ที่สำคัญ จะต้องมีส่วนที่จะนำไปสู่การคัดสรรผู้ใช้อำนาจรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับภารกิจที่จะต้องทำให้บรรลุผล มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความเสียสละเพื่อสังคมและประเทศชาติ มีมารยาททางการเมืองและมีจิตสำนึกในหลักธรรมาภิบาล

แต่ถ้ามีหลักฐานอันเชื่อได้ว่า การลงคะแนนเสียงเป็นเพียงพิธีกรรมทางการเมือง และเสียงที่ได้นั้นส่วนใหญ่ไม่บริสุทธิ์เพราะมาจากการซื้อเสียง หรือมาจากการปลุกเร้าโดยผู้กุมอำนาจรัฐ หรือจากการทุจริตในการเลือกตั้งด้วยการโกงการนับคะแนน ก็ต้องสรุปว่าอาณัติที่ได้จากคะแนนเสียงนั้นเป็นอาณัติที่ไม่จริง เป็นการกล่าวอ้างถึงประชาชนโดยการฉ้อฉลและโดยข้อมูลที่ไม่มีน้ำหนัก ความชอบธรรมทางการเมืองก็จะเป็นความชอบธรรมที่แปลกปลอม เพราะทั้งหมดนี้เป็นเพียงเกมแห่งตัวเลขที่ได้มาจากกระบวนการซื้อเสียงและโกงการเลือกตั้ง

นอกจากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นฐานนำไปสู่การได้อำนาจรัฐในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร การคัดสรรตัวบุคคลเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเริ่มตั้งแต่นายกรัฐมนตรี จนถึงรัฐมนตรีก็มีส่วนสำคัญยิ่งต่อความชอบธรรมของระบบ ถ้าคุณสมบัติของบุคคลดังกล่าวมิได้สอดคล้องกับภารกิจการทำงาน แต่มาจากการใช้น้ำหนักของสัดส่วนที่มีบทบาทในฐานะเป็นนายทุนของพรรค หรือในการคุมจำนวน ส.ส. ก็จะได้คณะรัฐมนตรีที่ขาดการยอมรับที่เรียกว่า คณะรัฐมนตรีขี้เหร่ คณะรัฐมนตรียี้ น้ำหนักของการเป็นรัฐบาลก็จะหายไปโดยสิ้นเชิง ทั้งอาณัติและความชอบธรรมทางการเมืองก็จะไม่เป็นที่ยอมรับ ที่สำคัญจำนวนเสียงที่มากทำให้เกิดบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะคนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพในแขนงวิชาต่างๆ และผู้ประกอบการที่อยู่ในเมืองหลวงและชุมชนเมืองกลับไม่มีน้ำหนักพอที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง สอดคล้องตามสัดส่วนแห่งประโยชน์ที่ได้ทำให้กับสังคมด้วยวิชาความรู้ และด้วยการชำระภาษีอากร

นอกจากนั้นยังต้องเผชิญกับระบบการปกครองบริหารที่ขาดคุณภาพ ไม่ซื่อสัตย์สุจริต จนนำไปสู่ความเสียหายต่อการประกอบอาชีพของตน สร้างมลพิษทางศีลธรรมและจริยธรรม ทำให้เกิดอันตรายต่ออนาคตของประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ บุคคลกลุ่มดังกล่าวนี้ย่อมมีสิทธิจะเรียกร้องให้มีบทบาทและมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เกิด “ดุลยภาพอย่างแท้จริง” ไม่ใช่เอาเฉพาะตัวเลขซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่บริสุทธิ์เนื่องจากไม่มีความเป็นตัวแทน (Genuine Representativeness) อย่างแท้จริง เพราะเป็นจำนวนตัวเลขที่มาจากการซื้อสิทธิขายเสียงจำนวนมาก

ขณะเดียวกันระบบการเมืองใดก็ตามจะต้องเป็นระบบการเมืองที่คัดสรรตัวบุคคลที่เหมาะสมที่สุด เข้ามาถือสายบังเหียนของประเทศ ถ้าระบบดังกล่าวไม่สามารถผลิตคนดีมีความรู้ความสามารถเข้ามารับผิดชอบบ้านเมืองได้ ระบบนั้นก็ล้มเหลว ขาดความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมในตัว ดังเช่นเครื่องจักรราคาแพงซึ่งซื้อมาเพื่อผลิตสินค้า แต่ใน 100 ชิ้นสินค้าเสียหาย 80 ชิ้น เครื่องจักรนั้นย่อมใช้ไม่ได้ ฉันใดก็ดี ระบบการเมืองที่ไม่สามารถผลิตคนที่ซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถเหมาะกับภารกิจการงานในคณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศได้ ระบบนั้นก็เป็นระบบที่ไม่พึงประสงค์ฉันนั้น

ทางแก้มีอยู่สองทาง รัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 พยายามคละระหว่างคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาในกลุ่มของคนที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยการมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (2540) และแบบสัดส่วน (2550) แต่ปรากฏว่าแม้ในส่วนนี้ก็ถูกการเมืองเข้าแทรกจนผิดไปจากเจตนารมณ์ วิธีการถ่วงดุลอำนาจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเอนเอียงไปในทางซื้อสิทธิขายเสียงก็คือการผสมผสานระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งในเขตเดียวคนเดียว กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งกันเองในกลุ่มอาชีพต่างๆ โดยมีสัดส่วนตามภูมิภาค เช่น แพทย์ วิศวกร นักธุรกิจ นายธนาคาร บรรษัทการเงิน เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ฯลฯ ก็เลือกตามสัดส่วนที่มีในภูมิภาคต่างๆ เป็นการเลือกตั้งกันเอง แต่ละปัจเจกบุคคลจะมีเพียงอาชีพเดียว

อีกวิธีหนึ่งก็คือการปล่อยให้สภาผู้แทนราษฎรมีการเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียวเหมือนเดิม แต่ไม่มีแบบบัญชีรายชื่อแบบสัดส่วน โดยให้เหลือจำนวนน้อยลง แต่ในส่วนของวุฒิสมาชิกให้เป็นสมาชิกที่มาจาก กลุ่มอาชีพเลือกกันเอง แต่เพิ่มอำนาจวุฒิสภาให้สามารถมีบทบาทถ่วงดุลและคานอำนาจสภาผู้แทนราษฎรได้ ดังเช่นที่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ

ทั้งนี้ทั้งนั้นมิใช่เป็นการจำกัดอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร หรือไปลดอำนาจอธิปไตยของปวงชน แต่เป็นการถ่วงดุลมิให้จำนวนเสียงกลายเป็นเครื่องมือที่ให้ความชอบธรรมที่ไม่ถูกต้องกับกลุ่มผู้มีอำนาจเงินในการซื้ออำนาจรัฐ

นอกเหนือจากนี้เพื่อมิให้มีการแก่งแย่งตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องกำหนดมิให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ขณะเดียวกันรายได้ของสมาชิกทั้งสองสภารวมทั้งสวัสดิการต่างๆ ต้องปรับปรุงให้สูงขึ้นอย่างน้อย 3 เท่าของปัจจุบัน และต้องมีระบบการให้เกียรติกับผู้ที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติเช่น นาย ก. และพวกเป็นผู้เสนอร่างกฎหมาย เมื่อกฎหมายผ่านทั้งสองสภา เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการประมงก็อาจจะกล่าวถึงกฎหมายดังกล่าวว่า พระราชบัญญัติ นาย ก. การประมง พ.ศ. 2551 ดังเช่นที่ทำในต่างประเทศ สมาชิกรัฐสภายังควรมีที่ทำงานเป็นกิจจะลักษณะ มีผู้ช่วยกินเงินเดือนมากกว่าปัจจุบัน 3 เท่า ที่จบทางรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ และมีเลขาส่วนตัวหนึ่งคน ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติอย่างแท้จริง ส่วนการดูแลชาวบ้านก็ให้อยู่ในหน้าที่ของผู้บริหารท้องถิ่น

ที่สำคัญที่สุด คือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งมีข้อพิจารณา 2 ประเด็น คือ

ประเด็นที่หนึ่ง นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเมืองไทยพัฒนามาถึงจุดที่ว่าคงจะไม่สามารถถอยหลังเข้าคลองต่อไปแล้ว จึงต้องคงไว้ดังเดิม

ประเด็นที่สอง จะเลือกอย่างไรเพื่อไม่ให้การลงคะแนนเสียงนั้นเป็นการต่อรองทางการเมือง บางคนเสนอว่าให้มี การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง ข้อเสนอดังกล่าวนั้นแม้จะมีเหตุผลแต่ก็ต้องคำนึงถึงผลดีผลเสีย ทั้งในความเป็นจริงและจิตวิทยา และประเพณีการปกครองที่มีอยู่ และต้องคิดอย่างรอบคอบ แต่ถ้าให้มี การเลือกในสภาผู้แทนราษฎร ก็จะนำไปสู่การสร้างอำนาจต่อรองขึ้นอีก ประเด็นการเลือกนายกรัฐมนตรีจึงเป็นประเด็นใหญ่ จะต้องมีการขบคิดกันต่อไป

การพยายามหาระบบที่ป้องกันไม่ให้มีการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองอย่างผิดๆ ถ่วงดุลอำนาจเพื่อให้เกิดเสถียรภาพนั้นทำได้ไม่ง่ายนัก ถ้าใช้ระบบรัฐสภาอังกฤษก็ต้องอาศัยความมีอุดมการณ์ มีจริยธรรมของนักการเมือง ถ้าใช้ระบบประธานาธิบดีแบบสหรัฐอเมริกาก็ต้องเลือกตั้งโดยตรง การปฏิบัติก็คงมีปัญหามากมาย จึงเป็นภารกิจสำคัญของผู้ที่รับผิดชอบหาทางออกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 3

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นซึ่งคงจะมีจุดที่รับได้และจุดที่ต้องถกเถียงกันมากมาย เป็นเพียงการเสนอให้เป็นแนวคิดเผื่อจะจุดประกายให้ขยายวงถกเถียงอภิปรายกันต่อไป ไม่มีอะไรประกันความถูกความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำไปปฏิบัติ เพราะในบริบทของวัฒนธรรมการเมืองไทยและสังคมไทย การสร้างระบบการเมืองที่ทำงานได้ผลเป็นสิ่งยากเย็นยิ่ง เพราะความอิสระและหลากหลายความคิดของคนในสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น