xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ความหาญกล้าของสื่อในห้วงวิกฤตปัญญา (ตอนที่ 5)

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

การจะเข้าใจได้ว่า ASTV มีส่วนสำคัญอย่างไรในการสร้างดุลอำนาจใหม่ในนโยบายสาธารณะและระบอบประชาธิปไตยนั้นจักตัดตอน พิจารณาเฉพาะช่วงเวลา และละเลยบทบาทการขยายพลังปัญญาผ่านการถ่ายทอดสดเวทีชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแบบ Reality ที่จุดคบไฟใกล้มอดดับของการเมืองภาคประชาชนให้กลับมาลุกโชติช่วงเชิงคุณภาพ และปริมาณจากประเด็นร่วมต่อต้านคอร์รัปชันได้เลย

กล่าวคือ ASTV เป็นฟันเฟืองเคลื่อนขับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองบนเส้นทางประชาธิปไตยไร้คอร์รัปชันห้วง ‘ก่อน ระหว่าง และหลังรัฐประหาร 9/9/49’ นับตั้งแต่แรกจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 1 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 23 กันยายน 2548 การชุมนุมใหญ่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า การจัดตั้งพันธมิตรฯ ร่วมกับ 23 องค์กรภาคประชาชน 9 กุมภาพันธ์ 2549 การเคลื่อนพลนับแสนไปทำเนียบรัฐบาล 5 มีนาคม 2549

ระหว่างการครองอำนาจของคณะรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ASTV ก็ยังเดินหน้าวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทุจริตคอร์รัปชันอย่างเผ็ดร้อนต่อไปทั้งในเชิงนโยบาย และบุคลากรท่ามกลางความเงียบงันของฟรีทีวีและเสียงต่อต้านของช่องที่ผู้อยู่เบื้องหลังเสียผลประโยชน์บ้าง หลังรัฐประหาร ASTV ก็สวมกอดบทบาทเข้มข้นยิ่งขึ้นด้วยการถ่ายทอดสดการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธยืดเยื้อยาวนานนับเดือนของพันธมิตรฯ ที่มีภาคประชาสังคมรองรับท่วงทำนอง

ถึงกระนั้น บทบาท ASTV ที่ขบถแวดวงโทรทัศน์ไทยทั้งในเชิงหลักการและพฤติการณ์ รวมถึงรังสรรค์พลังมวลชนของตนเองอันโดดเด่นยิ่ง ก็ทำให้เกิดกังขาครหาทั้งในส่วนบทบาทสื่อและมวลชนที่เข้าร่วม จนฝักฝ่ายที่ยึดติดรูปแบบมากกว่าสารัตถะเตลิดไปถึงขั้นฟันธง ASTV เป็นโฆษณาชวนเชื่อยุคดิจิตอล หรือถึงขนาดยัดเยียด ASTV ให้เป็นประเภทเดียวกับสื่อสารมวลชนที่ปลุกระดมมวลชนมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศรวันดาทวีปแอฟริกา ดังจะอธิบายความต่างต่อไป

ทั้งนี้เพราะนอกจากจะต้องยุติธรรมกับ ASTV ว่าไม่อาจควบคุมทุกข้อความระหว่างการถ่ายทอดสดการชุมนุมที่บางคราผู้ปราศรัยบางคนบนเวทีก็ใช้ถ้อยคำเข้าข่ายผลักอกคนเป็นปรปักษ์ศัตรูแล้ว ยังต้องมองภาพรวมด้วยหัวใจใหญ่ ‘อย่าติเรือทั้งโกลน’ ว่าเนื้อแท้แล้ว ASTV ต้องการถ่ายทอดข้อความ (Message) เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองปราศจากทุจริตคอร์รัปชัน และที่สำคัญชูแต่ธงสันติอหิงสา ไม่เคยปลุกปั่นมวลชนขึ้นมาหักหาญคร่าเข่นฝั่งตรงข้าม

ด้าน ASTV เองก็ต้องเข้มงวดกวดขันกับการควบคุมเนื้อหา (Content) พิธีกร และผู้ประกาศข่าว ไม่ให้สื่อสารข้อความหรือสอดแทรกความคิดเห็นที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ (Dehumanization) ของผู้ทุจริตคอร์รัปชัน และทบทวีความเข้าใจ ใช้ขันติธรรม (Tolerance) ค่อยๆ เปลี่ยนผ่านผู้หลงทาง รวมถึงอดทนต่อกระบวนการเปลี่ยนประชาชนเป็นพลเมืองที่กินระยะเวลายาวนานกว่าจะก่อเกิดวัฒนธรรมการเมืองเอื้อต่อระบอบประชาธิปไตยแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ย่อมไม่อาจปฏิเสธว่าวัฒนธรรมการเมืองไทยในหลายขวบปีที่ผ่านมาได้เคลื่อนย้ายจากจุดไพร่ฟ้าประชาชนผู้คอยปฏิบัติตามอำนาจชนชั้นปกครองมาตรงตำแหน่งตรวจสอบถ่วงดุลการบริหารจัดการบ้านเมืองด้วยจิตสำนึกประชาธิปไตยที่ ASTV มีส่วนฟูมฟักได้!

นัยนี้ พันธมิตรฯ จึงเป็นภาพตัวแทนการเมืองภาคประชาชนที่ผลิดอกออกผลจากความเพียรพยายามของ ASTV ที่ปรารถนาสถาปนาการเมืองสะอาดปราศจากขื่นคาวฉ้อราษฎร์บังหลวง ขณะข้อคลางแคลงเรื่องคุณภาพของมวลชนที่เข้าร่วมขบวนการขับไล่รัฐบาลกังฉินกินบ้านโกงเมืองก็สามารถอธิบายจนสลายภาพ ‘ล้าหลังคลั่งชาติ’ จากการติดฉลากของผู้คัดค้านได้

ด้วยระดับมวลชนผู้เข้าร่วมชุมนุมนั้นจะมีปฏิสัมพันธ์กันแนวราบมากกว่าตั้งอย่างชัดเจน ด้วยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลข่าวสารการฉ้อฉลกลโกงของรัฐบาลระหว่างกันจากการติดตาม ASTV และสลายปัจเจกเข้าร่วมชุมนุม รวมทั้งยังก่อเกิดไมตรีมิตรจิตเอื้ออาทรซึ่งกันและกันอย่างแน่นแนบ ขณะเดียวกันก็ผูกสัมพันธ์กับแกนนำพันธมิตรฯ ทั้งแนวดิ่งและแนวนอนควบคู่กันไปด้วย

กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ที่ร่วมกันแสวงหาทางออกจากวิกฤตการณ์ตัวแทนปวงชนชาวไทยยิ่งนานวันยิ่งพิสูจน์ศักยภาพ เพราะไม่เพียงหนุนเสริมตุลาการภิวัฒน์จนแข็งแกร่ง ดังกำลังใจที่มอบให้แด่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ผู้มีพันธกิจตรวจสอบแทนประชาชน หากการจัดการชุมนุมยังมากประสิทธิภาพด้านการระดมทรัพยากรทั้งเงินทอง ข้าวปลาอาหาร หยูกยารักษาโรค ตลอดจนอุปกรณ์ป้องกันอันธพาลการเมือง

ด้านปริมาณผู้เข้าร่วมชุมนุมก็ยังยั่งยืนขึ้นมากจากการสร้างพันธมิตรใหม่ๆ ผ่านเครือข่ายนักวิชาการ ศิลปิน เอ็นจีโอ และสหภาพ รวมถึงขยายขุมข่ายพลังปัญญาผ่านการซื้อและบริจาคจานดาวเทียม ASTV ติดตั้งตามสถานที่ห่างไกลข่าวสารข้อมูลอีกด้านที่รัฐบาลกังฉินไม่อยากได้ยิน

ASTV จึงเป็นตัวเชื่อมร้อยสำคัญยิ่งในการระดมและรณรงค์มวลชนเชิงคุณภาพและปริมาณมาร่วมชุมนุมกันโดยสงบ และปราศจากอาวุธยาวนานกว่า 2 เดือนแล้วได้อย่างราบรื่น ด้วยต้องยอมรับว่าในสังคมไทยที่เชิดชูปริมาณมากกว่าคุณภาพ การรวมมวลชนให้มีจำนวนมากเพียงพอจึงจะสามารถกดดันรัฐบาลได้ เฉกเช่นเดียวกันกับการยืดระยะเวลาการชุมนุมให้ยาวนานออกไปโดยมีไฮไลต์ในแต่ละช่วงเวลาก็จะได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากขึ้นเท่านั้น

ผลที่ผลิจากการร่วมชุมนุมคุ้มค่ามหาศาล เพราะจะได้พลเมืองผู้เคี่ยวกรำความรู้นอกเหนือทฤษฎีตำราจากการปฏิบัติการภาคสนามที่มีชีวิตชีวายิ่ง อีกทั้งยังใช่ไหมว่า ประสบการณ์คราวนี้ควรเก็บรับเป็นบทเรียนของภาคประชาสังคมไว้ใช้เป็นแนวทางเคลื่อนไหวต่อกรกับรัฐบาลที่มักใช้กลไกราชการแก่งแย่งทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ทุนธุรกิจการเมือง

ยิ่งกว่านั้น หาก ASTV และพันธมิตรฯ หันมาเชื่อมร้อยประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่ถูกละเมิดหนักหน่วงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติที่ธรรมของสงครามยาเสพติด และจารีตวัฒนธรรมประเพณีดีงามที่ถูกล่วงละเมิด เข้ากับความโดดเด่นด้านการตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชันอันสลับซับซ้อนขึ้นทุกวันก็จักมลายภาพประทับตราข้างต้นได้ชะงัด

ขณะประเด็นร้อนแรงชวนขบคิดถกเถียงเรื่องการเมืองใหม่ก็เรียกร้องพันธกิจพันธมิตรฯ ที่จักต้องอธิบายให้ได้ชัดเจนว่า หากเคลื่อนสังคมไทยไปในทิศทางนั้นจะขจัดคอร์รัปชันเชิงนโยบายและนักการเมืองอันตรายได้อย่างไรในระยะสั้นและยาวโดยไม่เสียหลักการประชาธิปไตย

เหนืออื่นใด ASTV ต้องมุ่งมั่นเพิ่มพูนพลังปัญญาภาคประชาสังคมให้รู้เท่าทันทุจริตของนักเลือกตั้งและสื่อมวลชนเอียงข้างอำนาจธนกิจการเมืองสม่ำเสมอต่อเนื่องเพื่อท้ายสุดจะพัฒนาการประชาธิปไตยแบบตัวแทนให้พ้นหุบเหววิกฤตตัวแทนที่กลืนกินประเทศชาติมานานเนิ่น

ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนจึงต้องให้อำนาจสื่อมวลชนและประชาสังคมตรวจสอบถ่วงดุลนโยบายสาธารณะต่างๆ ว่าไม่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ลดทอนอำนาจการตัดสินใจต่างๆ ไม่ให้ผูกขาดอยู่ในมือนักการเมือง กลุ่มทุนธุรกิจ และข้าราชการที่มักจะประสานประโยชน์กันเองโดยข้ามหัวชาวประชารากหญ้า

สายธารนี้จะยืนยาวขยายฐานมวลชนจนเคลื่อนองคาพยพสังคมไทยไปพ้นก้นบึ้งทุจริตหรือหดสั้นสั่นคลอนจนมวลชนทั้งระดับปัจเจก และองค์กรถอนตัวจากพันธมิตรฯ และกระเทือนถึงฐานผู้ชม ASTV จึงเป็นไปได้เสมอ เพียงแค่ไม่เห็นพ้องต้องกันกับประเด็นข้อเรียกร้องของแกนนำ อย่างน้อยๆ ก็ในระยะเฉพาะหน้านี้ โดยเฉพาะข้อเสนอจากสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำมวลชนที่ตามติดประเด็นคอร์รัปชันและขยายเหตุปัจจัยเชื่อมโยงยอกย้อนด้วยภาษาที่ชาวรากหญ้าเข้าใจได้ไม่ยาก

กระนั้น ASTV จักต้องลงเสาเข็มเป็นสถาบันสื่อที่ไม่ได้มีผู้นำเดี่ยว ทว่าต้องสร้างเครือข่ายขุมกำลังสื่อมวลชนที่หาญกล้าท้าชนอำนาจรัฐอยุติธรรมดั่งผู้ก่อตั้งที่กร้าวว่า ‘ตายเป็นตาย เจ๊งเป็นเจ๊ง’ และพร้อมต่อกรการทุจริตคอร์รัปชันและครอบงำองค์กรอิสระ รวมถึงสื่อมวลชนเพื่อรักษาสิทธิเสรีภาพการนำเสนอข่าวสารอย่างเสรีที่จะเป็นปัญญาของภาคประชาชน ดังที่ประกาศหนักแน่นไว้ในหัวหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ‘ขอแค่เป็นยามเฝ้าแผ่นดิน’ และสโลแกน ASTV ที่ว่า ‘Truth to know’ ที่สืบสานจาก ‘ความจริงที่รัฐบาลไม่อยากฟัง มีคำถามที่รัฐบาลไม่กล้าตอบ แต่ประชาชนมีสิทธิจะรับรู้’ (มีต่อตอน 6)

คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น