xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

เวทีนโยบาย:ความหาญกล้าของสื่อในห้วงวิกฤตปัญญา (ตอนที่ 6)

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

ความพยายามยัด ASTV ให้อยู่ในระนาบเดียวกันกับสื่อสารมวลชนที่ปลุกระดมมวลชนมาล้างผลาญเผ่าพันธุ์กันในประเทศรวันดาทวีปแอฟริกานับว่าไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง เพราะเพียงพลิกหน้าประวัติศาสตร์ก็จักพบพันธกิจบทบาทของสื่อที่ต่างกันยิ่ง

ด้วยจุดเริ่มต้นโศกสลดมวลมนุษย์ครานั้นเกิดจากชาวทุตซี่ (Tutsi) ชนกลุ่มน้อยตกเป็นเป้าหมายในการสังหารหมู่อย่างเป็นระบบ ตามมาด้วยการยิงเครื่องบินและการเสียชีวิตของประธานาธิบดี Habyarimana เมื่อ 6 เมษายน 1994 กระทั่งปิดฉากชีวิตพลเรือนชาวทุตซี่ราว 5 แสนคนจากการถูกสังหารอย่างเป็นระบบ (systematic killing) ไปทั่วประเทศ

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) อย่างเป็นระบบในปี 1994 ส่วนหนึ่งมาจากสื่อมวลชนในรวันดาอย่างน้อย 3 รายสร้างกระแสความเกลียดชังชาวทุตซี่ผ่านการปลุกปั่นประชาชนชาวฮูตู (Hutu) ที่เป็นชนส่วนใหญ่ในชาติให้ลุกขึ้นมาจับอาวุธไล่ล่าสังหารโหดเพื่อนมนุษย์ร่วมประเทศ

คนแรกคือ Hassan Ngeze เจ้าของ ผู้ก่อตั้ง และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ KANGURA ที่รู้จักกันดียิ่งในห้วงเวลาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะในฉบับที่ 6 เดือนธันวาคม 1990 ได้ตีพิมพ์บทความชื่อบัญญัติ 10 ประการ (The Ten Commandments) เตือนชาวฮูตูว่าศัตรูยังอยู่ที่นี่ ในระหว่างพวกเรา และในช่วงโอกาสอำนวยพวกเขาจะทำลายล้างเรา ชาวฮูตูไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนต้องลุกขึ้นอย่างหนักแน่นและตื่นตัว เดี๋ยวนี้หรือไม่เลย และต้องใช้มาตรการที่จำเป็นทุกอย่างยับยั้งศัตรู

การโฆษณาบรรยากาศเกลียดกลัวชิงชังชนกลุ่มน้อยชาวทุตซี่ และปลุกระดมชาวฮูตูยังยาวนานต่อมาผ่านประเด็น ‘ชาติพันธุ์’ (Ethnicity) ตั้งแต่ฉบับที่ 10 เดือนกุมภาพันธ์ 1991 ถึงมีนาคม 1994 โดยเฉพาะฉบับที่ 26 ที่เฉลยคำตอบว่า ‘มีดขนาดใหญ่’ คืออาวุธที่พวกเราชาวฮูตูควรใช้พิชิตชาวทุตซี่ที่เป็นคนโกหก ขี้ขโมย และฆาตกร คนเดียวหรือทั้งหมด

ข้อความแห่งความรุนแรง (Message of violence) นี้ถูกขับเน้นขึ้นเมื่อ KANGURA ฉบับที่ 58 และ 59 เดือนมีนาคม 1994 เริ่มเกมการแข่งขัน 11 คำถามร่วมกับสถานีวิทยุ Radio-Télévision Libre des Milles Collines: RTLM อีกหนึ่งสื่อโฆษณาชวนเชื่อเพื่อปูทางความคิดของสาธารณชนให้อ่อนไหวไปในแนวเดียวกันกับหนังสือพิมพ์

Jean-Bosco Barayagwiza ผู้ก่อตั้ง CDR พรรคการเมืองที่ชูธงความเป็นหนึ่งเดียวทางชาติพันธุ์ของชนส่วนใหญ่ และสนับสนุนการสังหารชาวทุตซี่ อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและคณะกรรมการกำกับทิศสถานีวิทยุ RTLM โดยหลังการตายของประธานาธิบดี ประเด็นพูดคุยได้เข้าสู่โหมดปลุกระดมทางชาติพันธุ์ และเรียกร้องชาวฮูตูออกมาปฏิบัติการเลือด พกพาอาวุธ ค้นหา และเข้าเข่นฆ่าชาวทุตซี่และผู้สมรู้ร่วมคิดที่ถูกปักป้ายปรปักษ์

แรงเกลียดกลัวชิงชังทางชาติพันธุ์ถูกกระตุ้นมหาศาลจาก RTLM ที่มีแฟนจำนวนมาก ดังดีเจรายหนึ่งที่พูดกับผู้ฟังว่าพวกเราชาวฮูตูต้องลุกขึ้นมาฆ่าชาวทุตซี่และถอนรากถอนโคนพวกเขาเพราะพวกเขาไม่ใช่ชาติพันธุ์เดียวกันกับเรา ถ้าเห็นจมูกเล็กๆ เมื่อไรละก็ตีให้หักไปเลย

ทว่าน่ากลัวยิ่งกว่าเมื่อ RTLM เผยแพร่รายชื่อบุคคลและครอบครัวชาวทุตซี่ รวมถึงผู้สมรู้ร่วมคิดชาวฮูตูออกสู่สาธารณะทั้งก่อนและหลังวันที่ 6 เมษายน 1994 โดยหลายรายถูกสังหารหลังถูกเปิดเผยชื่อ มากกว่านั้นยังใช้กลยุทธ์กระจายข่าวสารเรียกร้องชาวทุตซี่ให้ออกจากที่หลบซ่อนเดินทางกลับบ้าน ก่อนต่อมาจะพบว่าพวกเขาถูกสังหารจากการแกะรอยของ RTLM

ด้วยวิทยุเป็นสื่อมวลชนที่เข้าถึงชาวรวันดามากสุด เมื่อนำเสนอข่าวสารบิดเบือน ชีวิตชาวฮูตูจึงถูกครอบงำโดยเมฆหมอกแห่งความเคียดแค้นชิงชังรังเกียจ กระทั่งระเบิดเป็นการสังหารหมู่ชาวทุตซี่ โดยพลเรือนชาวฮูตูผู้สวมบทฆาตกรจำนวนหนึ่งสารภาพว่าออกปฏิบัติการสังหารเหี้ยมโหดอันเนื่องมาจากรับฟังข้อมูลข่าวสารของ RTLM

สุดท้ายคือ Ferdinand Nahimana ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ผู้ก่อตั้งและคณะกรรมการกำกับทิศ RTLM ที่เปรียบเป็น Mastermind ของสถานีแห่งนี้ ได้เขียนบทความชื่อปัญหาและทางออกของรวันดาในปัจจุบันเพื่อนำเสนอวิถีแห่งความรุนแรงว่าเป็นทางออกเดียว ควบคู่กับกระตุ้นเยาวชนชาวฮูตูให้ตั้งกองกำลังป้องกันตนเอง ก่อนจะปลุกเร้าลุกล่าชาวทุตซี่

RTLM ถูกตั้งข้อหาว่าสร้างความเกลียดกลัวทางชาติพันธุ์แก่ชาวทุตซี่ด้วยการทำให้ไร้คุณค่าแม้แต่ความเป็นมนุษย์ ส่วน KANGURA ก็ปูทางการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผ่านการกระตุ้นให้ชาวฮูตูลุกขึ้นฆ่าระห่ำ เฉกเช่นเดียวกับ CDR ที่กรอบความคิดทางการเมืองก็ถูกพบว่าเอื้อต่อการฆ่าชาวทุตซี่และฮูตูผู้เป็นปรปักษ์ผ่านการสมรู่ร่วมคิดตั้งด่าน จัดหาอาวุธ และวางแผนล่าสังหาร

หลักฐานทั้งหมดชี้ว่าวัตถุประสงค์ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาจากความต้องการกำจัดชาวทุตซี่ให้สิ้นสูญ ดัง Nahimana เล่าว่าดีใจที่ RTLM เป็นเครื่องมือสร้างความชิงชังชาวทุตซี่ได้สำเร็จ

ทว่าท้ายสุดผลการยุยงปลุกปั่นก็ออกดอกผลเป็นข้อกล่าวหาหนักหน่วงว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime against humanity) ตามการตัดสินของศาลอาญาระหว่างประเทศสำหรับรวันดา (International Criminal Tribunal for Rwanda: ICTR)

เช่นนี้แล้ว ASTV ที่มิเคยปลุกระดมมวลชนให้หักหาญกันด้วยประเด็นอคติทางชาติพันธุ์ (Ethnic bias) หรืออื่นๆ ถึงจะถูกกลุ้มรุมทำร้ายอย่างเถื่อนถ่อยที่จังหวัดอุดรธานีและมหาสารคราม และมีแต่จะก้าวย่างทางอหิงสาสันติจะถูกจัดวางตำแหน่งแห่งที่เช่นเดียวกับสื่อของรวันดาได้อย่างไร แม้คราหนึ่งจะพลาดพลั้งผ่อนทอนความเป็นมนุษย์ของผู้คิดล้มล้างสถาบันในรายการ Metro Life จนถูกสร้างภาพว่าเป็นเหมือนสื่อในรวันดา หรือขนานนามว่าวิทยุยานเกราะยุคดิจิตอล

หากก็รับผิดการกระทำนั้นแล้วด้วยการออกแถลงการณ์สถานีวิทยุชุมชนเจ้าฟ้า FM 97.75 MHZ เรื่องขออภัยต่อกรณีการใช้คำพูดไม่เหมาะสมในการจัดรายการ และยุติจัดรายการตั้งแต่ 10 พฤษภาคม 2551 ตลอดจนยืนยันว่าไม่ได้เป็นนโยบายสื่อในเครือผู้จัดการ หรือพันธมิตรฯ

ในทางกลับกันสื่อเครือผู้จัดการ โดยเฉพาะ ASTV ได้หลอมรวมชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ที่ต่างกันของคนในชาติผ่านวาทกรรมอย่าง ‘ลูกจีนรักชาติ ลูกไทยรักชาติ ลูกลาวรักชาติ ลูกแขกรักชาติ’ ให้ลุกขึ้นมาประหัตประหารกับคณะฉ้อราษฎร์บังหลวง

นับต่อจากนี้ ASTV จะขยายเกลียวคลื่นปัญญากว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการเมืองภาคประชาชนที่ไม่ได้จำกัดแค่ชาติพันธุ์เดียวอีกแล้ว (มีต่อตอน 7)

คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น