ซีเอ็นเอ็น - ผู้ประท้วงกว่าหมื่นคน ออกมาชุมนุมกันในเมืองหลวงของเซอร์เบียเมื่อวันอังคาร (29) ประท้วงการจับกุมและความพยายามส่งตัวราโดวาน คาราจิช อดีตประธานาธิบดีเซิร์บ ฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปยังศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ ในเนเธอร์แลนด์
ตำรวจปราบจลาจลกระจายกำลังรอบกรุงเบลเกรด ขณะที่ผู้ประท้วงซึ่งมาจากทั่วเซอร์เบีย และบอสเนีย ชาติเพื่อนบ้าน เดินทางมาถึงสถานที่จัดชุมนุมในเบลเกรด ส่วนประธานาธิบดีบอริส ทาดิค เตือนว่า “นี่เป็นการประท้วงที่ไม่มีเหตุผล ผิดกับความเป็นจริงที่ว่าในประเทศแห่งนี้ เราปฏิบัติตามกฎหมาย”
พวกหัวรุนแรงและชาตินิยมสุดขั้วมองคาราจิช คือ วีรบุรุษ แม้ว่าศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศจะตั้งข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก่ออาชญากรรมต่อมนุษย์และละเมิดกฎหมายสงคราม
กลุ่มผู้ประท้วงร้องเพลงฝ่ายซ้ายปลุกใจและถือป้ายภาพของคาราจิช บางรายตะโกนต่อต้านรัฐบาล ที่พวกเขามองว่าทรยศต่ออดีตประธานาธิบดีรายนี้ อย่างไรก็ตามสำนักข่าวเอพีอ้างว่าตำรวจคาดคะเนมีผู้ชุมนุมราว 15,000 คน น้อยกว่าที่แกนนำคาดหวังไว้
สำนักข่าวเอพี รายงานว่า อเลคซานเดอร์ วูชิช แกนนำผู้ประท้วงจากพรรคเซอร์เบียนราดิคอลปาร์ตี ปราศรัยกับผู้ชุมนุมว่า “ขอบคุณที่ออกมาแสดงให้เห็นว่าเซอร์เบียยังไม่ตาย แม้ว่าประเทศถูกฆ่าโดย บอริส ทาดิค รัฐบาลเซอร์เบียคือหัวขโมยและผู้ร้าย เราจะสู้เพื่อเซอร์เบียและเซอร์เบียจะเป็นอิสระ”
หน่วยสืบสวนจับกุมคาราจิช ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาซึ่งเป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดในยุโรปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ยุติการหลบหนีกว่า 12 ปีของเขา
ผู้พิพากษาตัดสินว่าเงื่อนไขของคดีบรรจบกับการส่งตัวเขาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปยังศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ แต่ทนายความของเขายังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์
ด้านทนายความของเขาเมื่อวันจันทร์ (28) ปฏิเสธที่จะเปิดเผยว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ และจนถึงวันอังคาร (29) ทางเจ้าหน้าที่ศาลระบุว่า พวกเขายังรอคำร้องอุทธรณ์อยู่ ทั้งนี้ หากไม่มีการยื่นอุทธรณ์ ทางการเซอร์เบียสามารถส่งตัวคาราจิช ไปยังเฮกเมื่อใดก็ได้
คาราจิช และรัตโก มลาดิก อดีตผู้บัญชาการทหารในสมัยนั้นที่ยังคงลอยนวลอยู่ หนีการดำเนินคดีของศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศของอดีตยูโกสลาเวียหรือไอซีทีวาย หลังจากถูกตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมในสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในบอสเนีย ในปี 1992-1995
นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังเผชิญข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จากการบงการให้สังหารหมู่ชายชาวมุสลิม 8,000 คน ในปี 1995 หลังจากกองกำลังของรัตโก มลาดิช เข้ายึดที่ปลอดภัยของยูเอ็นในเมืองซเรเบนิซาด้วย ถือเป็นเหตุการณ์ที่โหดร้ายที่สุดในยุโรปนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
การจับกุมคาราจิชได้ในครั้งนี้ได้รับการแสดงความยินดีในทันที จากทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมถึงศาลอาชญากรสงครามของสหประชาชาติ เช่นเดียวกับญาติๆ ของเหยื่อที่ถูกสังหารหมู่ในซเรเบนิซา เมื่อปี 1995 ด้วย