xs
xsm
sm
md
lg

ภูเขาน้ำแข็งแห่งสงครามกลางเมือง

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

วิกฤตการเมืองอันเกิดจากการจับกลุ่มขั้วทางการเมืองสุดโต่งของประชาชนตามความเชื่อศรัทธาที่ทวีความรุนแรงแหลมคมจนขยับเข้าใกล้สงครามกลางเมือง (Civil war) ขึ้นทุกขณะนี้มีสถานะไม่ต่างกับภูเขาน้ำแข็งที่มักมองเห็นแต่ยอดโผล่พ้นผืนน้ำ

ขณะใต้ท้องทะเลเขียวครามกลับซุกซ่อนสัดส่วนมืดมิดเย็นยะเยือกยิ่งกว่ามหาศาล!

เงื้อมเงามัจจุราชแห่งสงครามกลางเมืองที่สังคมทั่วไปไม่สำเหนียกนี้สามารถคร่าชีวิตผู้คนได้รวดเร็วรุนแรงยิ่งยวด ด้วยไม่เพียงพลิกผืนแผ่นดินเป็นนรกบนโลกจากการลุกขึ้นมาประหัตประหารกันเองเท่านั้น หากยังปลุกจิตวิญญาณด้านมืดขึ้นในใจมนุษย์ทั่วไปได้ไม่ยากนัก

ดั่งโศกนาฏกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศรวันดาที่นิตยสาร TIME ฉบับวันที่ 14 พฤษภาคม 1994 เผยถ้อยคำของมิชชันนารีที่สะท้อนความเหี้ยมโหดที่มนุษย์กระทำต่อกันไว้แบบไม่ต้องอาศัยจินตนาการว่า “There are no devils left in Hell, they are all in Rwanda.”

แน่นอนว่าสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันยังไม่ได้ใกล้เคียงคลื่นอคติทางชาติพันธุ์อย่างรวันดาที่นับล้านชีวิตสิ้นสลายจากแรงเคียดแค้นชิงชังรังเกียจอันเนื่องมาจากรากฐานปัญหาประเทศชาติยังคงคลี่คลายได้ด้วยหลักนิติธรรม (The Rule of Law) หลักความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย (Principle of Equality before the Law) และหลักสิทธิมนุษยชน (Human rights) ตลอดจนปริมาณและปริมณฑลความรุนแรงยังไม่รุนแรงกว้างขวางเท่า

มากกว่านั้น หากฟากรัฐบาลที่ปฏิบัติการผ่านพรรคการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เชื่อ 3 หลักการข้างต้นจริงจังเช่นเดียวกับฝั่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) การสูญเสียชีวิตประชาชนย่อมยากเกิดขึ้น เพราะการสลายการชุมนุมจะเป็นไปตามหลักสากลที่อารยประเทศยึดถือ มวลชนก็มีอริยะไม่เคลื่อนพลมาปะทะกัน โดยเฉพาะการลอบประทุษร้ายถึงตาย พิการ บาดเจ็บผ่านอาวุธตั้งแต่ไทยประดิษฐ์ประชิดตัวถึงอาวุธสงครามอานุภาพทำลายล้างระยะไกลนั้นจะกระพือความรุนแรงจนยั้งหยุดไม่ได้

เมื่อมวลชนถูกกระทำอย่างรุนแรงยาวนานต่อเนื่องจนตัวเองบาดเจ็บ เห็นญาติสนิทมิตรสหายร่วมอุดมการณ์ปลิดร่วงกราวราวใบไม้ลงเรื่อยๆ ย่อมโกรธเกลียดเคียดแค้นเป็นธรรมดา

ถ้ามวลชนถั่งโถมโหมไฟคับแค้นเสียแล้วยากจะมอดดับได้ ด้วยในระยะสั้นจะรุ่มร้อนราวลาวาปากปล่องภูเขาไฟ หากทว่าในระยะยาวเย็นเยียบเสมือนภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg) ที่ยอดแห่งความรุนแรงปรากฏให้เห็นแค่ 1 ใน 10 ขณะที่ซุกซ่อนสัดส่วนมหึมาพลานุภาพทำลายล้างมหาศาลไว้ใต้มหาสมุทรครามมากถึง 9 ใน 10

ปริมาตร 9 ใน 10 ที่มืดมิดสุดหยั่งของสงครามการเมืองจักเผยตัวตนอย่างประจักษ์ชัดผ่านอาการปลาบปลื้มปีติใจในการสมรู้ร่วมคิดหรือลงมือล่าสังหารฟากฝั่งตรงข้ามด้วยตัวเอง โห่ร้องดีใจในการตายของผู้คนที่เรานิยามเป็นปฏิปักษ์ หรือแม้กระทั่งในหมู่คนที่ตั้งสังกัดตนเองเป็น ‘กลาง’ ก็ยังแสดงอาการนิ่งเฉยแม้นรับรู้ข่าวสารความสูญเสียของพี่น้องคนไทยด้วยกัน

ใช่หรือไม่ว่าคนไทยในวันนี้ไม่ว่าจะสวมเสื้อสีใด หรือต่อให้เป็นกลางก็เริ่มออกอาการ ‘เลือดเย็น’ ชาเฉยเคยคุ้นกับการบาดเจ็บล้มตายอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองจนไม่ฉายความเกื้อการุณย์ในแววตา เฉกเช่นเดียวกันกับอาการเฉยชาต่อการพลัดพราก 3 พันกว่าชีวิตในสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ล่วงมานานนับครึ่งทศวรรษ

ถ้าปล่อยให้เลือดเย็นยังไหลเวียนซึมซ่านในกระแสเลือดคนไทยต่อไปจะบ่มเพาะความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ที่พร้อมเปลี่ยนแปรเป็นปฏิบัติการความรุนแรงทางตรงทุกรูปแบบเพื่อยุติชีวิตและบทบาทฝั่งตรงกันข้ามด้วยมวลชนจัดตั้งและกองกำลังจัดตั้ง

เงื่อนไขความรุนแรงของวิกฤตการณ์การเมืองไทยจึงไม่ใช่แค่การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะและสถานที่ราชการดังหลายฝ่ายวาดภาพ หากเนื้อแท้แล้วเป็นการพยายามหยุดยั้งอำนาจประชาชนโดยใช้ความรุนแรงทางกายภาพผ่านวิธีการสลายการชุมนุมที่ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน การลอบทำร้ายประชาชนเห็นต่างผ่านมวลชนจัดตั้ง และการสนธิกำลังทั้งมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐส่วนหนึ่งเข้าด้วยกันดังปรากฏการณ์สลายการชุมนุมนับแต่ปี 2549

ควบคู่กับอธิบายง่ายๆ ว่าความรุนแรงทางกายภาพทั้งหมดมาจากความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ของชนชั้นนำ 2 กลุ่มที่ต่างก็ปลุกระดมมวลชนมาชนกันในฐานะเบี้ยบนกระดานอำนาจ ก่อนเกี้ยเซียะกันหลังเจรจาลงตัว โดยไม่มองเบื้องหลังลึกๆ ว่าประชาชนก็คิดเป็นมีอุดมการณ์เป็น และพร้อมผนึกพลังกันต่อสู้ตามความเชื่อศรัทธา

ทว่าถ้าศรัทธาความเชื่อที่แปลงเป็นปฏิบัติการจริงสวนทางกับระเบียบแบบแผนกฎเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดแล้ว การติดฉลากเป็นกลุ่มกวนเมือง กบฏต่อราชอาณาจักร จนถึงกลุ่มก่อการร้ายจักถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมกับรัฐบาลในการควบคุมปราบปรามเพื่อคืนความสงบเรียบร้อยสู่ชาติบ้านเมืองแม้ต้องละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ตามที

ต่อให้ประชาชนต้านรัฐบาลอยุติธรรมผ่านอารยะขัดขืนรูปแบบต่างๆ แต่ท้ายสุดก็ยังคงถูกแขวนป้ายร้ายๆ เสมอ เพราะนิยามพลเมืองดีที่สังคมไทยยอมรับนั้นคับแคบครอบคลุมแค่คนเห็นด้วยกับรัฐบาลและเชื่อฟังกฎหมายเท่านั้น ซ้ำร้ายยังถูกกระหน่ำตีขนาบจากสังคมทุนนิยมถ้าการเคลื่อนไหวไปกระทบจีดีพี เพราะพวกเขาเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจคือสังคมทั้งหมด ไม่มีมิติอื่นๆ อีก

ครั้นเหตุปัจจัยเป็นเช่นนี้ก็ไปหมุนกงล้อสงครามกลางเมืองบดขยี้ผืนแผ่นดินไทยเร็วขึ้น หรืออย่างน้อยสุดก็ซ้ำรอย 6 ตุลา 19 เพราะยิ่งโดนทำร้ายยิ่งยากยุติความรุนแรง มวลชนย่อมต้องการทวงแค้นคืนบทเรียนร้าวลึกสู่ผู้กระทำตนเองไม่ต่างกันแม้วันเวลาผ่านไปเนิ่นนาน

เงื่อนไขความรุนแรงแห่งสงครามกลางเมืองจึงไม่ได้ยึดโยงอยู่แค่คน 2 กลุ่มขัดแข้งแตกแยกกัน แต่เป็นสังคมทั้งมวลร่วมกันก่อกลไกวิกฤตด้วยการวาง ‘อุเบกขาเทียม’ ต่อรากฐานปัญหานานัปการนับแต่ร่วมสร้างค่านิยม บรรทัดฐานผิดครรลองคลองธรรม และหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตคอร์รัปชันอันเป็นเชื้อไฟในการชุมนุมประท้วงของ พธม.ในขวบปีแรกที่ยาวนานนับถึงปัจจุบันก็ยังไม่อาจบังคับใช้หลักความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเลย เพราะผู้กระทำผิดทั้งเคยและยังคงครองอำนาจรัฐยังลอยนวลอยู่ ยิ่งผนวกแรงสนับสนุนของมวลชน นปช.ผู้คัดค้านกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินกับปัจเจกบุคคลและพรรคการเมืองที่พวกเขายึดมั่นด้วยแล้ว การกระทำรุนแรงเชิงกายภาพกับมวลชนตรงข้ามทั่วทุกภูมิภาคจึงเกิดขึ้นสม่ำเสมอ โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ อุดรธานี และกรุงเทพฯ ที่ปะทุเดือดเรื่อยมา

กอปรกับองค์กรสถาบันทางสังคมก็เงียบงันกับความรุนแรงเช่นนี้จนเสมือน ‘ให้ท้าย’ ตราบใด ‘เหยื่อ’ ยังสังกัดฝั่งตรงกันข้ามกับหลักวิชาที่ร่ำเรียนมา หรือว่าศาสตร์ต่างๆ อย่างวารสารศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ มากคุณค่ากว่าชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน?!

ท่าทีวางเฉยต่อความสูญเสียของมวลชนต่อต้านรัฐบาลโดยองค์กรสถาบันสังคม นักวิชาการ คนเป็นกลาง ยามผสานกับการกระทำความรุนแรงของผู้สถาปนาตนเองเป็นกลไกรัฐได้ก่อภูเขาน้ำแข็งแห่งสงครามกลางเมืองขึ้นมโหฬารแล้ว เพียงแต่ว่าวันนี้คนไทยทั่วไปยังมองเห็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งที่มี พธม. นปช. และรัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้ง ทั้งลึกๆ แล้วเราต่างเติมเต็มภูเขาน้ำแข็งก้อนนี้จนบดขยี้ประเทศมากกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์

สงครามกลางเมืองจึงเปรียบประดุจภูเขาน้ำแข็งที่พร้อมกระแทกประเทศไทยให้ดำดิ่งติดพื้นมหาสมุทรดุจเรือไททานิคที่เชื่อว่าไม่มีวันจม (Unsinkable) เพราะการรุกรับรบในสงครามประชาชนนั้นไม่มีฝ่ายใดได้ชัยชนะทั้งแบบ “Lose the battle, but win the war.” หรือ “Win the battle, but lose the war.” ด้วยถึงที่สุดแล้วจักเป็นดังถ้อยสรุปเกี่ยวกับรวันดาในนิตยสาร TIME ฉบับวันที่ 1 สิงหาคม 1994 ว่า “This is the beginning of final days. This is the apocalypse.”
กำลังโหลดความคิดเห็น