เอเจนซี/ผู้จัดการออนไลน์-หลังจากที่โดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์โจมตีมาตลอด เกี่ยวกับเรื่องที่จีนรุกปูพรมลงทุนธุรกิจในแอฟริกาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทรัพยากรอันอุดมโดยเฉพาะน้ำมัน ถึงขั้นตีตราว่าจีนทำตัวไม่ผิดอะไรกับจักรวรรดินิยมตะวันตกที่รุกเข้าไปสูบผลประโยชน์ในดินแดนโลกที่สาม แต่รายงานใหม่ฉบับล่าสุดของธนาคารโลก หรือเวิร์ด แบงค์ที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสฯ(10 ก.ค.) กลับชี้ว่า จีนกำลังช่วยบุกเบิกกาฬทวีปที่ยากไร้ ปฏิวัติโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขจัดความยากจน
รายงานฉบับใหม่ของธนาคารโลก หัวเรื่อง “"Building bridges: China's growing role as infrastructure financier for Sub-Saharan Africa" ยังได้ชี้ว่า กลุ่มชาติผู้ช่วยเหลือด้านการเงินรุ่นเกิดใหม่ อย่างจีน อินเดีย บรรดาชาติตะวันออกกลาง กำลังรุกลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในแดนซับซาฮารา โดยมุ่งไปที่โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
สัญญาการลงทุนในแดนกาฬทวีปของกลุ่มทุนช่วยเหลือเกิดใหม่เหล่านี้ ได้ขยายตัวจากปีละ ไม่ถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงก่อนปี 2004 ถึงปีละ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2006 และสูงถึง 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐในเฉพาะปีที่ผ่านมา ซึ่งในแง่หนึ่ง มันเป็นสัญญาณชี้ถึงความร่วมมือระหว่างกลุ่มชาติกำลังพัฒนาด้วยกัน
Obiageli Katryn Ezekwesili, รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคแอฟริกา ได้ชี้ทัศนะใหม่ในรายงานฉบับใหม่ ที่เขาเป็นผู้เขียนขึ้นว่า สัญญาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในแอฟริกาของจีนนั้น จะช่วยเยียวยาวิกฤตโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค คู่หุ้นส่วนโครงสร้างพื้นฐานใหม่เหล่านี้ดำเนินไปด้วยดี เนื่องจากปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของคู่หุ้นส่วนที่ช่วยอัดฉีดทุนเข้ามา บรรยากาศลงทุนที่เป็นมิตร แนวโน้มความต้องการด้านสินค้าวัตถุดิบของจีนและอินเดียที่ขยายตัว
นาย Vivien Foster เศรษฐกรของธนาคารโลก และเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับนี้ ขยายความว่าคู่หุ้นส่วนทั้งสองฝ่ายมีปัจจัยที่เอื้อลงตัวกันพอดี คือจีนกำลังหิวกระหายทรัพยากรธรรมชาติ ขณะที่ชาติแอฟริกันก็มีแหล่งสำรองทรัพยากรสินแร่และน้ำมันซึ่งไม่ได้รับการพัฒนาอยู่มาก นอกจากนี้ ขณะที่แอฟริกาตกอยู่ในวิกฤตขาดแคลนด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างสาหัสและต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน จีนก็มีอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่ทรงศักยภาพระดับโลก
สำหรับจีนซึ่งนำเข้าน้ำมันร้อยละ 30 จากแอฟริกา ได้รุกลงทุนในแดนกาฬทวีปมานาน และได้ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของตะวันตกบางกลุ่ม ว่าปล่อยปละละเลยสิ่งแวดล้อมที่ทรุดโทรมอันเป็นผลมาจากการขุดทรัพยากร ทั้งไม่ใส่ใจคอรัปชั่นและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างบ้าเลือดในดินแดน ดังกรณีที่ร้อนแรงที่สุดคือ การรุกลงทุนในซูดาน โดยจีนเป็นผู้อุดหนุนซื้อน้ำมันรายหลักและผู้ลงทุนรายใหญ่ของรัฐบาลซูดาน ซึ่งทำสงครามเข่นฆ่ากบฏในเมืองดาร์ฟูร์ของตน คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 300,000 คน จีนถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงว่า ผลักดันปฏิบัติการไม่เพียงพอที่จะหยุดศึกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดาร์ฟูร์ และเป็นประเด็นโจมตีความคู่ควรในการเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกของปักกิ่ง
ด้านรองประธานธนาคารโลก Ezekwesili ผู้เขียนรายงานฉบับใหม่ ก็ได้ยอมรับถึงปัญหาขัดแย้งดังกล่าว และได้ชี้ว่ากลุ่มชาติแอฟริกันและจีนตลอดจนคู่หุ้นส่วนร่วมพัฒนาอื่นๆจะต้องจับมือกันคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ด้วย
รายงานฉบับใหม่ของธนาคารได้ชี้ช่องทางคลี่คลายความขัดแย้งนี้ว่า ในโลกปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนแปลงที่มีกลุ่มผู้เล่นใหม่และรูปแบบการอัดฉีดความช่วยเหลือใหม่ๆ กำลังอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ทั้งผู้ลงทุนและผู้รับ โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจาถึงปัญหาเกี่ยวโยงที่ซับซ้อน เพื่อสร้างข้อตกลงที่สร้างสรรค์ มีการกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมในการดูแลสิ่งแวดล้อมละสังคม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสำเร็จระยะของคู่หุ้นส่วน เพื่อที่จะช่วยเหลือดินแดนที่ยากไร้และด้อยพัฒนาที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ในรายงานยังได้ระบุว่า กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา ต่างเห็นพ้องกันว่าวิกฤตขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานได้หั่นการเติบโตของกลุ่มชาติแอฟริกันมากถึงร้อยละ 1 ในแต่ละปี อาทิ 1 ใน 4 ของชาติแอฟริกาไม่มีไฟฟ้าใช้ การใช้เวลาเดินทางบนถนหนทางในแอฟริกาและส่งออกสินค้า ใช้เวลามากว่าชาติเอเชียเอเชียถึง 3 เท่าตัว ซึ่งทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น.