xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

โฉมหน้าใหม่ของไต้หวัน

เผยแพร่:   โดย: นพ.ยงยุทธ มัยลาภ

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน เมื่อวันเสาร์ที่ 22 มีนาคม 2008 นั้นนับได้ว่าเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของไต้หวันทีเดียว เพราะเป็นการปิดฉากการปกครองที่ยาวนาน 8 ปี ภายใต้การนำของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือ DPP ของประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยน ที่เน้นการสร้างกระแสรักไต้หวันและปลุกเร้าความต้องการเป็นเอกราชจากจีน ซึ่งท้าทายและยั่วยุรัฐบาลจีนให้เกิดความไม่พอใจมาแล้วหลายครั้ง และสร้างความอึดอัดใจให้แก่สหรัฐฯ มาแล้วหลายครั้งด้วยเช่นกัน เพราะสหรัฐฯ เกรงว่า ท่าทียั่วยุของนายเฉินจะกระทบต่อสภาวะแห่งความสมดุลและความนิ่งทางการเมืองในช่องแคบไต้หวัน แม้ว่าจะเป็นบรรยากาศทางการเมืองระหว่างประเทศที่มีความอึมครึมอยู่มากก็ตาม และผลการเลือกตั้งก็เป็นการเปิดฉาก ฟื้นศักราชใหม่ให้แก่พรรคจีนคณะชาติ หรือก๊กมินตั๋ง ที่นำโดยนายหม่า ยิ่งเจียว วัย 57 ปี ซึ่งชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยคะแนนเสียงถึง 58% นำห่างจากพรรค DPP ถึง 17%

ไต้หวันเคยอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคก๊กมินตั๋งมาตลอดนับตั้งแต่ไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่แยกการปกครองจากกัน ด้วยผลของสงครามกลางเมืองในปี 1949 มีเพียงช่วง 8 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ที่พรรค DPP สอดแทรกขึ้นมาคุมบังเหียนการบริหารประเทศแทน แต่ผลการบริหารดูจะไม่เป็นที่พอใจของประชาชนไต้หวันส่วนใหญ่ ที่มองกันว่าปัญหาเศรษฐกิจของไต้หวันเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข มากกว่าการเดินหน้าสู่การเป็นเอกราชจากจีน ที่จะนำมาซึ่งปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงจากจีน และติดตามมาด้วยความวุ่นวายสับสนทางการเมือง เศรษฐกิจและความมั่นคงอีกมาก

นอกจากนั้นรัฐบาลของพรรค DPP ก็ไม่ได้ฉกฉวยโอกาสจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีน ที่จะกระโดดเข้าไปเป็นหุ้นส่วนทางการค้า การลงทุน กับจีนได้อย่างเต็มที่นัก เพราะบรรยากาศคุกรุ่นทางการเมืองระหว่างรัฐบาลของนายเฉินสุยเปี่ยนกับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ไม่เอื้ออำนวยนั่นเอง ต่างจากแนวนโยบายที่นายหม่า ยิ่งเจียว ประกาศหาเสียงไว้ว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจคือภารกิจสำคัญที่สุดของเขา เขาต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของไต้หวันด้วยแนวทางที่ชัดเจนกว่าของพรรค DPP โดยพรรคก๊กมินตั๋งจะลดปัจจัยกีดกันการไปลงทุนของคนไต้หวันบนผืนแผ่นดินใหญ่ สนับสนุนให้บริษัทไต้หวันเข้าถึงตลาดใหญ่ของจีนได้ และจะเปิดเส้นทางการคมนาคมโดยตรงระหว่างจีนกับไต้หวัน ทั้งทางอากาศและทางน้ำ จากปัจจุบันที่ยังต้องไปผ่านฮ่องกงเสียก่อน

นายหม่าให้ความสำคัญต่อการขยายความเชื่อมโยงระหว่างจีนกับไต้หวันในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ปัจจุบันนี้ในแต่ละปี มีชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของไต้หวัน ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกส่งไปป้อนโรงงานประกอบชิ้นส่วนทางฝั่งตะวันออกจากจีน นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมเช่นนี้ได้ใจนักลงทุนไต้หวัน และคงกวาดคะแนนเสียงให้แก่นายหม่าได้อย่างมาก

ขณะที่หลายฝ่ายก็เชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันจะดีขึ้นอย่างมากภายใต้การนำของรัฐบาลของนายหม่า เพราะนายหม่าไม่สนับสนุนแนวทางปลุกกระแสการเป็นเอกราชจากจีนของรัฐบาลของนายเฉินสุยเปี่ยน และต้องการส่งเสริมให้มีสนธิสัญญาสันติภาพอย่างเป็นทางการระหว่างไต้หวันกับจีน ที่จะทำให้ช่องแคบไต้หวันปลอดการเผชิญหน้ากันทางทหาร แต่คนไต้หวันบางส่วนอาจไม่ไว้วางใจนายหม่าว่า ความใกล้ชิดระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งกับรัฐบาลจีนที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาจจะทำให้ไต้หวันต้องเสียเปรียบจีน และถึงกับทำให้ไต้หวันต้องกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของจีนในไม่ช้า แต่นายหม่าก็ออกมาประกาศไว้แล้วว่า จะไม่เจรจากับจีนในเรื่องการรวมชาติอย่างแน่นอนในช่วงที่เขารับตำแหน่งผู้นำรัฐบาล และยืนยันจะปกป้องรักษาดินแดนประชาธิปไตยอย่างที่เป็นอยู่นี้เอาไว้

แต่นายหม่าก็ยอมรับว่า ประเด็นอธิปไตยของไต้หวันเป็นปัญหายากที่สุดซึ่งอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวัน แต่การยอมรับในอธิปไตยซึ่งกันและกันเป็นเรื่องที่ไม่มีทางเป็นไปได้อยู่แล้ว นายหม่าจึงมีแนวคิดสายกลางที่อาจจะเป็นที่ยอมรับได้ของทั้งฝ่ายจีนและฝ่ายไต้หวัน นั่นก็คือ การเห็นพ้องร่วมกันที่จะไม่ปฏิเสธ นั่นหมายความว่า ไต้หวันจะไม่ปฏิเสธความมีอยู่และอธิปไตยของจีน แต่ขณะเดียวกัน ไต้หวันภายใต้การนำของนายหม่า อิงจิ่ว ก็จะไม่ยอมรับการที่จีนอ้างว่า จีนมีอธิปไตยเหนือเกาะไต้หวัน

นอกจากนี้ นายหม่ายังบอกด้วยว่า การเจรจาทำสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างกัน คงต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลจีนที่จะต้องถอนจรวดนับพันลูกที่ตั้งประจำการและเล็งเป้ามาที่เกาะไต้หวันออกไปเสียก่อน นายหม่าจึงจะยอมเดินหน้าพูดจาในเรื่องนี้ด้วย นั่นคือ จะพูดคุยกันเพื่อส่งเสริมสันติภาพระหว่างกัน ก็ควรแสดงทีท่าที่เป็นมิตรต่อกันให้มากขึ้นเสียก่อน ไม่ใช่พูดว่า ต้องการสันติภาพ แต่ยังมีปืนผาหน้าไม้ชี้ใส่กันอยู่ซึ่งๆหน้า ท่าทีเช่นนี้อาจจะทำให้คนไต้หวันที่เคลือบแคลงในตัวนายหม่าและพรรคก๊กมินตั๋งเบาใจลงไปได้บ้าง

อีกข้อยืนยันหนึ่งที่น่าจะชี้ได้ว่า คนไต้หวันส่วนใหญ่ไม่ต้องการเดินหน้าในการแยกตัวเป็นเอกราชจากจีนในขณะนี้ ก็คือผลการลงประชามติที่มีขึ้นพร้อมๆ กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันเสาร์ การลงประชามตินี้ได้รับการผลักดันโดยนายเฉินสุยเปี่ยน เพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชนว่า ให้รัฐบาลเดินหน้ากับการขอเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติภายใต้ชื่อว่า ไต้หวัน ไม่ใช่สาธารณรัฐจีน ประเด็นนี้ได้สร้างความไม่พอใจแก่จีนเป็นอันมาก เพราะทางการจีนมองว่า เป็นเสมือนหนึ่งการขอประชามติเพื่อเดินหน้าในการแยกตัวเป็นเอกราชจากจีน ซึ่งนายเฉินผลักดันการลงประชามตินี้ ส่วนหนึ่งน่าจะหวังผลทางการเมืองให้แก่พรรคของตน ถึงแม้ตนเองไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีได้อีก คือ หวังผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่พรรค DPP ส่งนายแฟรงค์ เซี๊ยะ ลงสมัคร นั่นเอง

แต่ผลการลงประชามติกลับปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนข้อเสนอของรัฐบาลพรรค DPP ซึ่งอาจจะตีความได้ว่า คนไต้หวันส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญต่อประเด็นการแยกตัวเป็นเอกราช และน่าจะหมายความด้วยว่า คนไต้หวันไม่ต้องการสภาวการณ์อะไรที่จะเป็นการยั่วยุจีน กวนน้ำในช่องแคบไต้หวันให้ขุ่น สร้างปัญหาน่าปวดหัวให้แก่คนไต้หวัน ที่ต้องการทำมาหากินและต้องการชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำมาค้าคล่อง ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่นิ่งๆ สมดุล แม้ว่าอาจจะอึมครึมอยู่บ้างก็ตาม เพราะเรื่องปากท้องเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลมุ่งความสนใจมากกว่าการแยกตัวเป็นเอกราช

คนไต้หวันหลายคนคงจำคำประกาศของนายหม่า ยิ่งเจียว ได้ดีว่า นโยบายเศรษฐกิจของเขามีสามจุดสำคัญ หนึ่งคือ ต้องรักไต้หวัน สอง ต้องดูเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรม และสาม ต้องก้าวออกไปสู่โลกภายนอก ทั้งหมดนี้ หลายคนเชื่อว่า นายหม่าอาจจะทำได้สำเร็จมากกว่านายเฉิน โดยเฉพาะนายหม่ามีความได้เปรียบทางการเมืองในขณะนี้สูง เพราะพรรคก๊กมินตั๋งกวาดที่นั่งในสภาได้ถึงสองในสามของที่นั่งทั้งหมดไปแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม 2008

การชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างขาดลอย ก็เท่ากับว่า ไม่เพียงแต่สภาเท่านั้นที่น่าจะสนับสนุนการทำงานของนายหม่าในด้านของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่นายหม่ายังได้แรงสนับสนุนจากคนไต้หวันอย่างท่วมท้น ในการบริหารเกาะไต้หวันอีกด้วย เส้นทางจากนี้ไปสำหรับนายหม่า ยิ่งเจียว แม้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสียทีเดียวนัก แต่ก็นับว่า ปลอดจากอุปสรรคทางการเมืองเปลาะสำคัญ คือปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองในระยะใกล้ ไปเรียบร้อยแล้ว

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นความร่วมมือระหว่างหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Website: http://www.thaiworld.org
กำลังโหลดความคิดเห็น