xs
xsm
sm
md
lg

หัวกะทิไต้หวันเครียดวิกฤตศก.-การเมือง หนีซบอกแผ่นดินใหญ่หาความก้าวหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - ไต้หวันเจอวิกฤตสมองไหล เหตุผู้เชี่ยวชาญหนีเศรษฐกิจฝืดเคืองในบ้านเกิด หันขุดทองแผ่นดินใหญ่เพื่อแสวงหาอนาคตทางหน้าที่การงานที่แจ่มกว่า ไม่หวั่นกระแสความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสองดินแดนช่องแคบไต้หวัน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักธุรกิจไต้หวันแห่เข้าไปลงทุนเปิดโรงงานในแผ่นดินใหญ่นับหมื่นแห่ง อันเปรียบเสมือนการสร้างรังใหม่ดึงดูดเพื่อนร่วมชาติผู้มีความเชี่ยวชาญด้านบัญชี การบริหารจัดการ การวางแผนการผลิต และควบคุมคุณภาพสินค้าแห่แหนกันเข้ามาพึ่งพิง

อีกทั้งความต้องการบุคลากรมากความสามารถในจีนยังขยายสู่ผู้มีความรู้ในด้านอื่นๆ อาทิ การบริหารจัดการสินทรัพย์ บริหารธุรกิจ วิจัยและพัฒนา การตลาด วิทยาศาสตร์การแพทย์ และการบิน ซึ่งกระตุ้นให้ชาวไต้หวันที่มีความรู้ความสามารถพยายามเข้ามาแสวงหาความก้าวหน้าในจีนมากขึ้น

ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ 104 คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นเว็บไซต์หางานชั้นนำของไต้หวัน ปรากฏว่าจนกระทั่งถึงเดือนธันวาคมที่ผ่านมามีชาวไต้หวัน 15,000 คน หรือ 6% ของผู้ที่เข้ามายื่นประวัติไว้กับทางเว็บไซต์ ระบุต้องการเดินทางไปทำงานที่แผ่นดินใหญ่ ขณะที่ตำแหน่งงานที่บริษัทในจีน ซึ่งรวมไปถึง ฮ่องกง และมาเก๊า ได้ประกาศรับสมัครในเว็บไซต์นั้นมีทั้งสิ้น 8,000 อัตรา

แม็กซ์ ฟาง ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเว็บไซต์ดังกล่าวอธิบายถึงปรากฏการณ์ข้างต้นว่า “ผู้สมัครต้องการทำงานในตลาดใหญ่และมีศักยภาพในการเติบโต ผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานแล้วก็ต้องการมองหาความก้าวหน้าในอาชีพ ขณะที่นักศึกษาจบใหม่ก็หวังจะไปพัฒนาศักยภาพของพวกเขาที่จีน”

เนื่องด้วยเศรษฐกิจของไต้หวันอยู่ในช่วงขาลง กอปรกับความไม่ลงรอยทางการเมืองระหว่างพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) พรรครัฐบาลที่สนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระของไต้หวัน และพรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคก๊กมินตั๋ง เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ชาวไต้หวันโผเข้าสู่อ้อมกอดของจีนมากขึ้น

ซ่งกั๋วเฉิง นักวิจัยเกี่ยวกับกิจการไต้หวัน-จีนจากสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเจิ้งจื้อของไต้หวันกล่าวว่า “เป็นเรื่องธรรมดาของโลกที่ประเทศยักษ์ใหญ่ที่กำลังเติบโตจะสร้างรายได้ที่ดีกว่า และดึงดูดมันสมองจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ไต้หวัน แต่ระเบิดที่ร้ายแรงที่สุดของวิกฤตสมองไหลก็คือ การไหลออกของนักวิจัยชั้นแนวหน้าด้านชีวเคมี การแพทย์ วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และการบิน”

พร้อมกล่าวว่า การที่ไต้หวันและแผ่นดินใหญ่มีภาษาที่ใกล้เคียงกัน ความใกล้ชิดด้านประวัติศาสตร์และพันธะทางวัฒนธรรมระหว่างสองดินแดน ทำให้ชาวไต้หวันสามารถทำงานในแผ่นดินใหญ่ได้อย่างง่ายดายแม้รัฐบาลจีนและไต้หวันจะยังมึนตึงกันก็ตาม

ทั้งนี้ ไต้หวันและจีนหันหลังให้กันตั้งแต่ปี 1949 หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง แต่จนถึงวันนี้รัฐบาลปักกิ่งก็ยังมองไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีน และขู่หลายต่อหลายครั้งว่าจะจู่โจมหากไต้หวันประกาศอิสรภาพ

แม้ความขัดแย้งทางการเมืองยังดำรงอยู่ แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาปรากฏว่า การคบค้าสมาคมระหว่างชาวจีน-ไต้หวัน รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนทางการค้ากลับเป็นไปอย่างคึกคัก ท่ามกลางกระแสอะลุ่มอล่วยและเปิดเสรีระหว่างกันในหลายๆ ภาค

โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2006 นักธุรกิจไต้หวันส่งออกสินค้าไปยังแผ่นดินใหญ่เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 41% ของยอดส่งออกสินค้าทั้งหมดของเกาะ และตามข้อมูลของสภากิจการแผ่นดินใหญ่ ซึ่งรับผิดชอบกิจการพลเรือนระหว่างช่องแคบไต้หวันเผยว่า มีชาวไต้หวัน 1 ล้านคนโดยประมาณ หรือคิดเป็น 4.3% ของประชากรทั้งหมดในไต้หวัน ทำงานหรืออาศัยอยู่ในแผ่นดินใหญ่

ซึ่งชาวไต้หวันส่วนใหญ่ที่ข้ามถิ่นมาทำงานอีกฟากหนึ่งนั้นได้รับว่าจ้างให้ทำงานเกี่ยวกับการผลิตและการค้า แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเริ่มมีผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมบริการและสาขาเกี่ยวกับวัฒนธรรม เช่น ศิลปะ การศึกษา การสื่อสาร และบันเทิง ได้เข้าร่วมขบวนขุดทองในจีนมากขึ้น

ดังเช่นเมื่อปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยปักกิ่งได้ว่าจ้างอาจารย์ชั้นแนวหน้าจากไต้หวัน 3 คน เพื่อมาสอนที่โรงเรียนในเครือ หรือเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สายการบินเสฉวนของจีนได้ว่าจ้างกัปตันไต้หวัน 12 รายอายุเฉลี่ย 40 ปี ซึ่งตามรายงานระบุว่าอัตราค่าจ้างของพวกเขาในแผ่นดินใหญ่นั้นดีกว่าเดิมเสียอีก จนทำให้นักบินไต้หวันรายหนึ่งที่ไม่ได้หลงไปกับกระแสไชน่า ฟีเวอร์ถึงกับกล่าวอย่างกังวลว่า “เพราะอุปสงค์ในธุรกิจการบินเชิงพาณิชย์ของจีนสูงมากๆ ทำให้ผมรู้สึกกลัวจริงๆ ว่า นักบินที่มีความสามารถของเรา (ไต้หวัน) จะหันไปทำงานในแผ่นดินใหญ่ ไต้หวันต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อรั้งพวกเขาไว้ ทักษะทางการบินเป็นเรื่องที่ไม่สามารถฝึกฝนได้ภายในข้ามคืนคุณก็รู้”
กำลังโหลดความคิดเห็น