xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวันยุคหม่าอิงจิ่วกับคำมั่นสัญญาและหมีแพนด้า

เผยแพร่:   โดย: ไช่ติงอี

Promises and pandas for Taiwan’s Ma
Ting-I Tsai
25/03/2008


ชัยชนะที่เด็ดขาดของ หม่าอิงจิ่ว ผู้สมัครพรรคก๊กมิ่นตั๋ง ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันเสาร์ คือการมอบหมายอำนาจอย่างชัดเจนให้เขาขึ้นปกครองเกาะแห่งนี้ และก็เป็นการปิดฉากอย่างต่ำต้อยแห่งยุคของประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยน ทว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา, การแตกแยกภายในพรรค, รวมทั้งความสัมพันธ์อันซับซ้อนกับปักกิ่งและวอชิงตัน หม่าจึงกำลังเผชิญกับภารกิจอันยากลำบากมหาศาลหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน

ไทเป –
ชัยชนะอย่างถล่มทลายของ หม่าอิงจิ่ว ผู้สมัครของพรรคฝ่ายค้าน ก๊กมิ่นตั๋ง (เคเอ็มที) ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของไต้หวันเมื่อวันเสาร์(22) ทำให้เกิดการมองการณ์ในแง่ดีมากขึ้นว่า ความตึงเครียดทางการเมืองข้ามช่องแคบระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ จะผ่อนคลายลง และความผูกพันทางเศรษฐกิจจะกระเตื้องดีขึ้น หลังจากเขาสาบานตัวเข้าเป็นประธานาธิบดีคนที่ 12 ของเกาะแห่งนี้ในวันที่ 20 พฤษภาคม

ตลาดหุ้นไต้หวันแสดงปฏิกิริยาในทางบวกเมื่อวันจันทร์(24) ดัชนี ไต้หวัน แคปิตะไลเซชั่น เวตเท็ด อินเด็กซ์ เปิดโดยทะยานขึ้นกว่า 524 จุด หรือสูงขึ้นจากตอนปิดวันศุกร์ประมาณ 6% และปิดโดยบวกขึ้นมา 340 จุด หรือเกือบๆ 4%

หม่าผู้อยู่ในวัย 57 ปีชนะด้วยคะแนนมากมายเกินคาดหมาย คือทิ้งห่างถึง 17% หรือกว่า 2.2 ล้านเสียง ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงเป็นครั้งที่ 4 ของไต้หวัน ทำให้เขาและพรรคของเขาอยู่ในฐานะได้รับมอบหมายอำนาจอย่างชัดเจนให้ปกครองเกาะแห่งนี้ และทำให้ยุคสมัยของประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยนสิ้นสุดลงด้วยความน่าอับอาย

ผู้คนจำนวนมากต้อนรับชัยชนะของหม่าด้วยความหรรษา เสียงดอกไม้ไฟและประทัดได้ยินดังสนั่นหวั่นไหวในย่านกลางกรุงไทเปนับเป็นชั่วโมงๆ ภายหลังชัยชนะของหม่าได้รับการประกาศยืนยันในคืนวันเสาร์

พรรคเคเอ็มที ซึ่งเคยปกครองไต้หวันระหว่างปี 1949 ถึง 2000 (โดยที่ระหว่างปี 1949-1987 ปกครองภายใต้การประกาศใช้กฎอัยการศึก) เวลานี้สามารถครองอำนาจในไต้หวันได้มากมายยิ่งกว่าช่วงเวลาใดๆ นับแต่การสิ้นสุดวันเวลาแห่งการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จของพวกเขา โดยที่ครองที่นั่งเกือบสามในสี่ในสภานิติบัญญัติ อีกทั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั้งระดับเคาน์ตีและระดับนครถึงราวสองในสาม ก็อยู่ในความควบคุมของพวกเขา

แฟรงก์ เซี่ย ผู้สมัครของพรรครัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งก็คือพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ออกมาประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ในทันที รวมทั้งแถลงขอบอกลาวงการเมือง เพียงไม่นานหลังผลการเลือกตั้งสุดท้ายปรากฏออกมา

พวกนักวิเคราะห์มองกันว่า ชัยชนะของหม่าเป็นผลจากระยะเวลา 8 ปีแห่งความมัวหมองด้านธรรมาภิบาลของพรรคดีพีพี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งของประธานาธิบดีเฉินผู้กำลังใกล้จะหมดวาระดำรงตำแหน่ง รวมทั้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตมากมายที่สร้างความแปดเปื้อนอย่างแก้ไขไม่ตกแก่คณะรัฐบาลของเฉิน ความล้มเหลวของเซี่ยในการวางตัวเองให้แยกห่างออกมาจากเฉิน รวมทั้งการที่เขาเลือกรณรงค์หาเสียงแบบด้านลบ ด้วยการมุ่งเล่นงานโจมตีหม่าเป็นสำคัญ ได้สร้างความเสียหายให้แก่คะแนนนิยมของพรรค ซึ่งก็ทรุดหนักอยู่แล้วภายหลังการปราชัยอย่างยับเยินของดีพีพีในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติเมื่อเดือนมกราคม

ความหงุดหงิดผิดหวังของประชาชนต่อภาวะเศรษฐกิจของเกาะ ซึ่งอัตราเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) เฉลี่ยอยู่แค่ปีละ 4 - 5% ตลอด 3 ปีหลังมานี้ ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ 4% และอัตราเงินเฟ้อก็กำลังเพิ่มสูง ก็มีบทบาทอันสำคัญในความพ่ายแพ้ของพรรครัฐบาลคราวนี้

หลักนโยบายที่ประกาศในตอนหาเสียงของหม่า ได้ให้สัญญาจะขับดันอัตราเติบโตของไต้หวันขึ้นสู่ระดับปีละ 6% ลดอัตราการว่างงานลงมาเหลือ 3% และเพิ่มรายได้ประชาชาติต่อหัวไปสู่ระดับ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

เซี่ยเคยตั้งความหวังว่า การที่จีนปราบปรามการประท้วงในทิเบตเมื่อวันที่ 14 มีนาคม จะหันเหความสนใจของผู้ลงคะแนนจากความผิดหวังต่อการปกครองของดีพีพี และได้ปรับโฟกัสการรณรงค์หาเสียงให้กลับมาเน้นเรื่องอัตลักษณ์และอธิปไตยของไต้หวัน ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนของพรรคของเขาที่มุ่งยกไต้หวันให้เป็นประเทศเอกราช

ในการเชื่อมโยงเปรียบเทียบไต้หวันกับทิเบต เซี่ยบอกกับผู้ออกเสียงว่าการปราบปรามที่เกิดขึ้นคือผลพวงของการเอนเอียงฝักใฝ่จีน แบบที่หม่าประกาศสนับสนุนเต็มที่นั่นเอง บุคคลบางคนในทีมรณรงค์หาเสียงของเซี่ยคาดคิดว่า เหตุการณ์ในทิเบตจะเป็นการแตะเบรกความคิดเห็นของสาธารณชนที่เซี่ยกำลังต้องการให้เกิดขึ้น เพื่อที่เขาจะได้สามารถวิ่งแซงจากที่ถูกหม่าทิ้งไว้ข้างหลัง แต่แล้วไพ่อัตลักษณ์ไต้หวันที่พรรคดีพีพีเคยใช้ได้ผลมากในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ในอดีต กลับไม่ได้ช่วยโยกคลอนความสนับสนุนของผู้ออกเสียงที่ให้แก่พรรคเคเอ็มทีเลยในคราวนี้

ปักกิ่งได้แสดงการต้อนรับการได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำคนใหม่ของไต้หวัน ด้วยวิธีอำพรางไม่ให้ออกมานอกหน้าชัดเจน โฆษกของสำนักงานกิจการไต้หวันของฝ่ายแผ่นดินใหญ่แถลงว่า ชัยชนะของหม่าเป็นเครื่องหมายแห่งความพ่ายแพ้ของขบวนการเรียกร้องเอกราชไต้หวัน

หนิวจวิน ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง บอกกับสื่อภาษาจีนว่า ความเข้าใจเหตุผลของผู้ออกเสียงในไต้หวัน และความเติบโตสุกงอมของประชาธิปไตยในไต้หวัน เป็นสิ่งที่น่าประทับใจและน่าประหลาดใจ

จากการได้รับมอบหมายอำนาจปกครองอย่างเด็ดขาดเช่นนี้ หม่าก็จะปรับเปลี่ยนไต้หวันจากนโยบายฝักใฝ่จะเป็นเอกราชอย่างเปิดเผยของพรรคดีพีพี กลับมาสู่ “ฉันทามติปี 1992” อันคลุมเครือ (และบางคนบอกว่าเป็นจุดยืนจอมปลอมที่ไม่เป็นจริง) ซึ่งทางพรรคเคเอ็มทียืนยันว่า ฉันทามตินี้หมายถึงการที่ทั้งไต้หวันและจีนต่างเห็นพ้องกันว่าจีนนั้นมีเพียงจีนเดียว แต่ปล่อยคำถามที่ว่ารัฐบาลไหน (ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ปักกิ่ง และสาธารณรัฐจีนที่ไทเป) เป็นตัวแทนของจีน ให้ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละฝ่าย

ไม่นานนักหลังจากได้ชัยชนะ หม่ายังแถลงต่อประชาชนแสดงความยินดีที่จะต้อนรับหมีแพนด้า 2 ตัว ซึ่งปักกิ่งได้เสนออย่างเป็นทางการว่าจะมอบให้ไต้หวันเป็นของขวัญ ตั้งแต่ตอนที่ เหลียนจ้าน ประธานพรรคเคเอ็มทีในเวลานั้น เดินทางไปเยือนปักกิ่งเที่ยวแรกในเดือนพฤษภาคม 2005

ชัยชนะของหม่า และจุดยืนต่อจีนของเขาที่แสดงความปรองดองมากขึ้น ยังเป็นที่ต้อนรับของนักวิเคราะห์การเมืองชาวอเมริกันจำนวนมาก

อลัน รอมเบิร์ก นักวิจัยอาวุโสและผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออก แห่งศูนย์ เฮนรี สติมสัน เซนเตอร์ ชี้ว่า สถานการณ์ใหม่ภายหลังวันที่ 20 พฤษภาคมเมื่อหม่าสาบานตัวเข้ารับตำแหน่ง จะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการลดความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน อีกทั้งไต้หวันจะสามารถพัฒนาสายสัมพันธ์อันหลากหลายกว้างขวางยิ่งขึ้นกับปักกิ่ง ซึ่งก็จะเป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯด้วย

ริชาร์ด บุช อดีตประธานสถาบันอเมริกันในไต้หวัน และเวลานี้เป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ณ สถาบันบรูกกิ้งส์ ก็แสดงความเห็นทำนองเดียวกับรอมเบิร์ก โดยชี้ว่าชัยชนะของหม่าเป็นการสร้างโอกาสทางยุทธศาสตร์ ที่จะนำมาซึ่งเสถียรภาพและความคาดหมายบอกล่วงหน้าได้ในบางระดับ สู่ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่

อย่างไรก็ตาม แผนการของหม่าที่จะไปเยือนวอชิงตันก่อนหน้าการสาบานตัวรับตำแหน่งของเขา รวมทั้งการที่ไต้หวันขอซื้อเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ 16 จากสหรัฐฯ ตลอดจนความปรารถนาของไทเปที่จะทำข้อตกลงการค้าเสรีกับวอชิงตัน อาจจะไม่ได้รับไฟเขียวในช่วงระยะใกล้นี้ ทั้งนั้ตามความเห็นของนักวิเคราะห์หลายราย

บอนนี แกลสเซอร์ นักวิจัยอาวุโสแห่งศูนย์กลางเพื่อการศึกษาทางยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ชี้ให้เห็นว่า กระทั่งก่อนหน้าจะมีการเลือกตั้งแล้ว ฝ่ายจีนก็ออกมาย้ำเตือนคัดค้านการไปเยือนวอชิงตันของหม่า ถ้าหากเขากลายเป็นผู้ชนะขึ้นมา “คณะรัฐบาลบุชจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ระหว่างความเป็นไปได้ที่จะได้รับผลประโยชน์เพิ่มพูนขึ้นจากการไปเยือนก่อนเข้ารับตำแหน่งของหม่าอิงจิ่ว กับความเป็นไปได้ของผลกระทบด้านลบซึ่งจะเกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน” เธอกล่าว

บางทีสิ่งที่จะสร้างปัญหาให้แก่หม่ามากกว่าเสียอีก ก็คือการที่ความสัมพันธ์กับปักกิ่งอาจจะไม่คืบหน้าไปอย่างราบรื่นเหมือนกับที่คาดหวังไว้ แม้กระทั่งเมื่อรัฐบาลพรรคเคเอ็มทีแสดงท่าทีว่าจะไม่คุกคามด้วยการประกาศเอกราชในทางนิตินัย

“ปักกิ่งจะหวนกลับไปใช้ท่าทีแบบ ‘รับฟังสิ่งที่เขาพูดขณะที่เฝ้าดูสิ่งที่เขาทำ’ อย่างเดียวกับที่ใช้กับเฉินสุยเปี่ยนเมื่อตอนปี 2000” อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านกิจการแผ่นดินใหญ่ของฝ่ายไต้หวันผู้หนึ่งชี้

ฝ่ายจีนยังมีความระแวงแคลงใจต่อการที่หม่าย้ำยืนยันให้มีประชาธิปไตยในจีน รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนของปักกิ่ง หม่ายังเป็นผู้ที่เข้าร่วมพิธีรำลึกไว้อาลัยเหยื่อซึ่งถูกทางการจีนปราบปรามในจัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 อยู่เป็นประจำ และการที่เขาเรียกร้องให้จีนกล้าเผชิญหน้ากับเหตุการณ์คราวนั้น ก็ยิ่งเพิ่มความข้องใจในความคิดของฝ่ายจีน เขายังเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มฝ่าหลุนกง วิพากษ์วิจารณ์การที่จีนตัดสินใจออกกฎหมาย “ต่อต้านการแบ่งแยกดินแดน” ในปี 2005 และช่วงหลังๆ มานี้ยังประณามจีนที่ดำเนินการปราบปรามในทิเบต โดยที่ขู่จะคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในกรุงปักกิ่งอีกด้วย

นักวิชาการจีนบางคนยังมองว่าหม่าอ่อนแอและไม่มีความกล้าที่จะพูดเรื่อง “การรวมชาติกับจีน” ถึงแม้หม่ากล่าวย้ำหลายครั้งถึงเจตนารมณ์ของเขาที่จะลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับจีน ถ้าหากปักกิ่งยอมถอนขีปนาวุธราว 1,000 ชุดที่กำลังเล็งเอาไต้หวันเป็นเป้าหมาย รวมทั้งเขายังประกาศที่จะบริหารจัดการสายสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ โดยถือหลักการ “ไม่มีการรวมชาติ, ไม่มีการประกาศเอกราช, และไม่มีการใช้กำลัง”

หม่าซึ่งเกิดที่ฮ่องกงแต่ย้ายมาอยู่ไต้หวันพร้อมกับครอบครัวเมื่อเขาอายุ 1 ขวบ ถือเป็นดาวรุ่งผู้หนึ่งของพรรคเคเอ็มทีมานานแล้ว อีกทั้งเป็นที่ชื่นชอบของวอชิงตันด้วย

เขาเกิดปี 1950 ในครอบครัวเจ้าหน้าที่อาวุโสของก๊กมิ่นตั่ง ที่เป็นผู้ปกครองไต้หวันขณะนั้น และหม่าก็ได้รับการเลี้ยงดูให้เติบใหญ่ในแบบที่กล่าวได้ว่า เพื่อให้เขาขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่คนสำคัญคนหนึ่งในพรรคการเมืองซึ่งมองเห็นตำแหน่งในรัฐบาลเป็นสิทธิสืบทอดทางสายโลหิต ไม่นานหลังได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าสำนักงานที่หนึ่งแห่งทำเนียบประธานาธิบดีมื่อปี 1981 และรับหน้าที่เป็นเลขานุการฝ่ายภาษาอังกฤษให้กับประธานาธิบดีเจียงจิงกั๋วในปี 1982 จากนั้นเขาก็เติบใหญ่ผ่านตำแหน่งระดับอาวุโสต่างๆ ของเคเอ็มที ไม่ว่าในฝ่ายรัฐบาลหรือในฝ่ายพรรค

แต่แม้ได้รับการเลี้ยงดูมาเช่นนี้ ผู้สังเกตการณ์หลายคนก็กล่าวว่าหม่าไม่ค่อยมีลักษณะเป็นผลผลิตแบบฉบับของเคเอ็มทีเท่าใดนัก เขาดูชมชอบการคบหาสมาคมกับพวกนักวิชาการมากกว่ากับนักการเมืองคนอื่นๆ และนักวิเคราะห์หลายคนบอกว่า เขาจะสามารถนำพาพรรคการเมืองที่แสนจะอุ้ยอ้ายและอุดมไปด้วยการแบ่งก๊กแบ่งมุ้งอยู่ภายในเฉกเช่นก๊กมิ่นตั๋ง ให้ดำเนินสู่การปกครองที่มีธรรมาภิบาลให้สำเร็จราบรื่นได้หรือไม่ ยังคงเป็นคำถามใหญ่ที่ยังรอคอยคำตอบ

อย่างไรก็ตาม สีว์จงสง สมาชิกสภาของพรรคเคเอ็มที อีกทั้งเป็นที่ปรึกษาใกล้ชิดของหม่า กล่าวย้ำว่า “หม่าเป็นคนสุภาพน่านับถือ ไต้หวันไม่จำเป็นต้องมีผู้นำที่แข็งแกร่งและทรงอำนาจหรอก เราควรปล่อยให้กลไกการปกครองทำหน้าที่ของมันเองดีกว่า”

Ting-I Tsai เป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระ ซึ่งพำนักอยู่ที่ไทเป


กำลังโหลดความคิดเห็น