xs
xsm
sm
md
lg

ความสัมพันธ์แห่งยุคใหม่หรือแค่เรื่องเตี๊ยม “เมดอินไชน่า”

เผยแพร่:   โดย: ไช่ติงอี

A new era or a ‘made in China’ affair?
By Ting-I Tsai
14/04/2008

การหารือเป็นเวลา 20 นาที ระหว่างว่าที่รองประธานาธิบดีไต้หวันกับประธานาธิบดีจีน หูจิ่นเทา ซึ่งบังเกิดขึ้นคู่ขนานไปกับเวทีการประชุมนานาชาติเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับการบรรยายว่าเป็นการพบปะ “เพื่อละลายน้ำแข็ง” ระหว่างคู่ปรปักษ์สองฟากฝั่งช่องแคบไต้หวัน และในทางเป็นจริงแล้ว ก็มีการแสดงไมตรีจิตมิตรภาพกันอย่างมากทีเดียว –รวมทั้งเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่สัญญากันไว้ก็ดูน่าจะดำเนินการได้ในไม่กี่เดือนข้างหน้า –ทว่าบางคนก็รู้สึกว่า ไต้หวันเล่นไปตามเกมของปักกิ่งเสียแล้ว

ไทเป – มันอาจจะดูเหมือนเป็นการประจวบเหมาะอยู่สักหน่อยที่ว่าที่รองประธานาธิบดีไต้หวัน วินเซนต์ เซียว (เซียววั่นฉาง) แห่งพรรคก๊กมิ่นตั๋ง (เคเอ็มที) หารือกับประธานาธิบดีจีน หูจิ่นเทา เมื่อวันเสาร์(12) เพียง 3 สัปดาห์หลังจากที่เขาได้รับเลือกตั้ง โดยเป็นการพบปะระหว่างที่ทั้งสองคนต่างมาร่วมเวทีการประชุมป๋อเอ๋าเพื่อเอเชีย (Boao Forum for Asia) ณ มณฑลไห่หนาน(ไหหลำ) มณฑลที่เป็นเกาะใหญ่ของจีน

แต่การพบหน้ากันชั่วเวลาสั้นๆ ของพวกเขา มีบรรยากาศครบถ้วนของการประชุมสุดยอดทางการเมืองครั้งสำคัญ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างคู่อริใหญ่ที่อยู่คนละฟากฝั่งช่องแคบไต้หวันคู่นี้ อยู่ในสภาพเย็นชาตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กระนั้นนักวิจารณ์จำนวนหนึ่งก็ตีตราติเตียนการหารือคราวนี้ ว่าไม่มีอะไรอื่นนอกจากเป็นการแสดงที่มีการเตี๊ยมเอาไว้ล่วงหน้า และไม่ได้เป็นผลประโยชน์ของไต้หวันหรอก

เซียว ผู้มีกำหนดจะสาบานตัวเข้ารับตำแหน่ง พร้อมๆ กับว่าที่ประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่ว ในวันที่ 20 พฤษภาคม ภายหลังทั้งสองได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของเกาะไต้หวันเมื่อวันที่ 22 มีนาคม โดยได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะปรับปรุงสายสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ได้บรรยายการเดินทางของเขาเที่ยวนี้ว่า เป็นการ “ละลายน้ำแข็ง” ในความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ และเป็นโอกาสหนึ่งที่จะเข้าถึงประชาคมนานาชาติ

สำหรับจีนแล้ว การหารือคราวนี้คือโอกาสที่จะสาธิตให้เห็นด้านรักสันติภาพของตน ท่ามกลางความตึงเครียดที่ทวีขึ้นเรื่อยๆ ในทิเบตและซินเจียง ตลอดจนการถูกก่อกวนอย่างขนานใหญ่ระหว่างที่การวิ่งคบเพลิงกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2008 กำลังผ่านไปตามที่ต่างๆ ทั่วโลกในเวลานี้ นักวิเคราะห์บางคนในไต้หวันโต้แย้งว่า การหารือหู-เซียว ณ เวทีประชุมป๋อเอ๋า ละม้ายคล้ายกับการแสดงที่เตี๊ยมกันเอาไว้โดยมีปักกิ่งเป็นผู้กำกับเสียแหละมากกว่า

พวกเขาคาดหมายว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองฟากฝั่งช่องแคบจะกระเตื้องดีขึ้น ทว่ามองแทบไม่เห็นโอกาสที่ปักกิ่งจะยินยอมให้ไทเปมีช่องว่างมากขึ้นในการขยับเนื้อขยับตัวในกิจการระหว่างประเทศ ตลอดจนความตึงเครียดทางทหารระหว่างสองฝ่ายก็ไม่เป็นที่คาดหมายกันว่าจะผ่อนคลายลงอย่างมีความหมายอะไร

ระหว่างการพบปะกันเป็นเวลา 20 นาที เซียวได้เสนอให้ทั้งสองฝ่าย “ยอมรับความเป็นจริง ลงทุนให้กับอนาคต เก็บความเป็นปฏิปักษ์กันเอาไว้ก่อน และมุ่งหน้าสู่สถานการณ์ที่ชนะกันทั้งสองฝ่าย” เขายังเรียกร้องให้เปิดเที่ยวบินเช่าเหมาลำบินโดยตรงระหว่างกันเป็นประจำทุกสุดสัปดาห์ เขาบอกว่าไต้หวันจะเปิดให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่เข้าไปท่องเที่ยวไต้หวัน และการสนทนาข้ามช่องแคบที่มีสถานะกึ่งทางการก็จะฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง รวมทั้งสายสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองฝ่ายก็จะปรับปรุงให้คืนสู่สภาพปกติ

ทางด้านหูได้กล่าวตอบว่า ไต้หวันกับจีนกำลังเผชิญกับ “โอกาสทางประวัติศาสตร์” สำหรับการแลกเปลี่ยนกันทางเศรษฐกิจและการค้า อีกทั้งแสดงท่าทีว่าจีนมีความเห็นในเชิงบวกต่อการผลักดันให้มีความคืบหน้าในการเจรจาเพื่อเปิดเที่ยวบินเช่าเหมาลำบินตรงในช่วงสุดสัปดาห์ และในเรื่องการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวจีนแผ่นดินใหญ่เดินทางไปยังไต้หวันได้

ส่วนทางวอชิงตัน ผู้ซึ่งเรียกร้องสนับสนุนมาตลอดให้ปักกิ่งจัดการสนทนากับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของไต้หวัน ก็ได้แสดงความยินดีต่อการพบปะหู-เซียว อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คอลิน พาวเวลล์ ผู้ซึ่งกำลังเข้าร่วมการประชุมป๋อเอ๋าอยู่ด้วย พูดถึงการพบปะคราวนี้ว่าเป็น “ข่าวดีมากสำหรับภูมิภาคแถบนี้”

ด้วยความตั้งใจที่จะลดระดับความสำคัญทางการเมืองของการพบหน้ากันครั้งนี้ สื่อมวลชนที่เป็นของภาครัฐจีน ได้เอ่ยถึงเซียวในฐานะที่เป็น ประธานของมูลนิธิเพื่อตลาดร่วมระหว่างสองฟากฝั่งช่องแคบ ซึ่งเซียวเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับไต้หวันเมื่อปี 2001

เซี่ยว ผู้ซึ่งเน้นย้ำก่อนเข้าร่วมเวทีประชุมป๋อเอ๋าว่า เขากำลังเข้าร่วมในฐานะเป็นประธานมูลนิธิ ได้เดินทางสู่แดนจีนโดยใช้ “ใบอนุญาตเข้าประเทศสำหรับพี่น้องร่วมชาติชาวไต้หวัน” ซึ่งปักกิ่งออกให้มา การกระทำเช่นนี้ได้ถูกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ที่ยังเป็นผู้ปกครองไต้หวันอยู่ในขณะนี้ วิพากษ์วิจารณ์ว่าทำให้เสื่อมเสียศักดิ์ศรีของไต้หวัน

ในช่วงหลายๆ วันก่อนหน้าการประชุม สื่อภาษาจีนในไต้หวันได้คาดเก็งกันว่า หูอาจจะเสนอถอนจรวดมากกว่า 1,000 ลูกที่เล็งใส่ไต้หวันอยู่เวลานี้ ออกมาสักครึ่งหนึ่ง และปัจจัยนี้เองได้ผลักดันให้ตลาดหุ้นไต้หวันทะยานขึ้นไปกว่า 100 จุดเมื่อวันพฤหัสบดี(10) แต่แล้วรายงานข่าวเหล่านี้ก็ถูกพิสูจน์ว่าผิดพลาดจากการหารือในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับพวกนักวิเคราะห์ในไต้หวันแล้ว สื่อและนักการเมืองบางคนอาจจะมองการณ์ในแง่ดีเกินไป หรือคาดหวังมากเกินไปจากการพบปะคราวนี้

“มันเป็นการจัดฉากหลอกๆ ที่ ‘เมดอินไชน่า’เท่านั้นแหละ” อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านกิจการข้ามช่องแคบ ซึ่งเคยทำงานทั้งในรัฐบาลดีพีพีและเคเอ็มที ให้ความเห็น “นี่เป็นเพียงการจัดฉากสำหรับการแสดง มากกว่าที่จะเป็นสมรภูมิสำหรับการต่อสู้”

รัฐบาลเคเอ็มทีที่กำลังจะเข้ามารับตำแหน่ง จะต้องถูกกดดันอย่างหนักหน่วงโดยรวดเร็วทีเดียว ให้ทำให้ได้ตามคำมั่นที่จะดำเนินการเที่ยวบินเช่าเหมาลำบินตรงช่วงสุดสัปดาห์ ซึ่งหม่าเคยสัญญาไว้ว่าจะเริ่มได้ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม

อย่างไรก็ดี พวกนักวิเคราะห์ที่คุ้นเคยกับท่วงทำนองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้วินิจฉัยสรุปกันไปแล้วว่า วันที่เปิดการบินได้น่าจะเป็นหนึ่งหรือสองวัน ก่อนหรือหลังวันที่ 1 กรกฎาคม เพื่อสาธิตให้เห็นฐานะเหนือกว่าของตน ถ้าหากปักกิ่งตัดสินใจที่จะเดินหน้ากับข้อเสนอดังกล่าว

อู๋อี้ว์ซาน นักวิจัยและผู้อำนวยการสถาบันรัฐศาสตร์แห่ง อคาเดเมีย ซินิกา (บัณฑิตยสถานของไต้หวัน) ย้ำให้เห็นว่า เส้นตายของหม่าในการเปิดเที่ยวบินเช่าเหมาลำ เป็นการให้อำนาจแก่ปักกิ่งในการสกัดกั้นไม่ให้หลักนโยบายสำคัญประการหนึ่งในช่วงหาเสียงของเขาปรากฏเป็นจริงได้ ซึ่งย่อมสร้างความเสียหายให้แก่ฐานะในการเจรจาของไต้หวัน เมื่อตกอยู่ใต้แรงกดดันให้ต้องทำตามสัญญาให้ได้ ลงท้ายแล้วพรรคเคเอ็มทีก็อาจจะถูกบังคับให้ต้องยอมทำการประนีประนอมหลังฉากบางอย่างบางประการ เขากล่าวต่อ

แต่ทางด้าน ซูจื้อ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทั้งหม่าและเซียง ก็ได้ให้สัมภาษณ์สื่อไต้หวันหลายต่อหลายครั้ง โดยกล่าวอย่างมั่นอกมั่นใจว่า เที่ยวบินเช่าเหมาลำบินตรงสุดสัปดาห์จะมีขึ้นอย่างแน่นอน และนักท่องเที่ยวจีนก็จะสามารถมาเยือนไต้หวันได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ยิ่งกว่านั้น เขาบอกว่าการสนทนาข้ามช่องแคบ ระหว่าง มูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนข้ามช่องแคบของฝ่ายไต้หวัน และสมาคมเพื่อความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวันของฝ่ายจีน -อันเป้น 2 องค์การกึ่งทางการซึ่งแทบไม่มีการติดต่อสื่อสารกันเลย นับแต่จัดตั้งกันขึ้นมาเพื่อมุ่งหมายให้เป็นช่องทางหลักสำหรับการติดต่อสื่อสารกันอย่างเป็นทางการของทั้งสองฝ่ายนั้น –ก็จะมีการฟื้นฟูกันขึ้นมาอีกในเร็วๆ นี้

การเจรจาว่าด้วยการเยือนไต้หวันของนักท่องเที่ยวจีน และเที่ยวบินเช่าเหมาลำช่วงสุดสัปดาห์ เคยทำท่าจะบรรลุข้อตกลงกันได้อยู่แล้วในช่วงฤดูร้อนปี 2007 อย่างไรก็ตาม ปักกิ่งเลือกที่จะระงับการเจรจาเอาไว้ ก่อนหน้าการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติของไต้หวัน ซึ่งกำหนดจัดขึ้นวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา กระนั้น พวกเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการข้ามช่องแคบของทางไต้หวัน ก็เชื่อว่าประเด็นปัญหาทั้งสองนี้ สามารถสรุปขั้นสุดท้ายกันได้ด้วยการเจรจาอีกหนึ่งถึงสองรอบเท่านั้น

สืออินหง ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แห่งมหาวิทยาลัยประชาชนในกรุงปักกิ่งก็ชี้ว่า จากการที่หม่าประกาศออกมาอย่างเปิดเผยชัดเจนว่าไม่มีเจตนารมณ์ที่จะประกาศเอกราช ปักกิ่งจึงน่าจะแสดงท่าท่าต่อไต้หวันชนิดที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากเมื่อช่วง 8 ปีที่ผ่านมา แม้กระทั่งในประเด็นปัญหาอย่างการจัดซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์ของไต้หวัน และน่านฟ้าสากลของไต้หวัน

“มันน่าจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว่าที่เราสามารถจินตนการกันด้วยซ้ำ” เขากล่าว

ถึงแม้จะมีการพูดจาในเชิงมองการณ์แง่ดีเหล่านี้ ทว่ากระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันก็แถลงว่า เมื่อเดือนมีนาคมจีนได้ริเริ่มกระแสเรียกร้องชักชวนให้เหล่าสมาชิกขององค์การอนามัยโลก ขัดขวางการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของไต้หวัน อีกทั้งยังได้สนับสนุนส่งเสริมให้มีการออกบันทึกฉบับหนึ่งในองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการสกัดกั้นการสมัครเป็นสมาชิกของไต้หวันเช่นเดียวกัน

พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้นักวิเคราะห์บางคนยังคงระแวงว่า จีนจะยินยอมผ่อนปรนจุดยืนของตนในประเด็นเรื่องอธิปไตยได้หรือ อีกทั้งบังเกิดความแน่ใจว่า การเข้าร่วมเวทีประชุมป๋อเอ๋าของเซียว อาจจะไม่ได้เป็นการเอื้ออำนวยผลประโยชน์ที่ดีที่สุดให้แก่ไต้หวัน

“เวทีประชุมนี้มีไว้สำหรับกิจการทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ทางการเมืองเลย” อดีตเจ้าหน้าที่ด้านกิจการข้ามช่องแคบบอก “ถ้าหากไม่มีการจำกัดเหนี่ยวรั้งกันเสียบ้าง [ในเรื่องเกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางการเมือง] ลงท้ายมันก็อาจจะกลายเป็นการผิดพลาดเสียท่า [ของไต้หวัน]”

ไช่ติงอี เป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระซึ่งพำนักอยู่ที่ไทเป
กำลังโหลดความคิดเห็น