xs
xsm
sm
md
lg

การผลัดเปลี่ยนผู้นำของไต้หวันกับความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบ

เผยแพร่:   โดย: รณพล มาสันติสุข

การเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ของไต้หวันที่เพิ่งผ่านพ้นไป ถือได้ว่าเป็นจุดผกผันทางการเมืองที่สำคัญอย่างยิ่งของไต้หวัน เนื่องจากผลการเลือกตั้งจะเปลี่ยนโฉมหน้าของความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบ โดยผู้นำคนใหม่ของไต้หวันอยู่ในวิสัยที่จะสามารถปฏิรูปนโยบายการเมือง อีกทั้งสร้างสรรค์สถานการณ์ใหม่ๆ ได้ แน่นอนว่าข้อกังขาต่างๆ ที่ว่าผู้นำคนใหม่นี้จะมีความสามารถนำพามังกรน้อยอย่างไต้หวันฟันฝ่ามรสุมที่รุมเร้า ทำให้ปากท้องของประชาชนอิ่มหนำได้หรือไม่ อีกทั้งจะสามารถสมานรอยร้าวกับจีนแผ่นดินใหญ่ได้ดีเพียงใด เป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกต่างพากันจับจ้องความเปลี่ยนแปลงที่คาดหมายว่าจะมีขึ้นนั้นอย่างไม่กะพริบตา

การเลือกตั้งผู้นำใหม่ของไต้หวันเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2008 นั้น นายหม่าอิงจิ่วผู้สมัครจากพรรคก๊กมินตั๋งชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น มากกว่านายเซี่ยฉางถิง จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าถึง 2 ล้านกว่าคะแนน นโยบายที่ทำให้นายหม่าอิงจิ่วได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนนั้นมาจาก “3 ไม่” ได้แก่ 1)ไม่รวมประเทศกับจีนแผ่นดินใหญ่ 2)ไม่แยกประเทศกับจีนแผ่นดินใหญ่ และ 3) ไม่ต่อสู้กับจีนแผ่นดินใหญ่ จากสองไม่แรกนั้นอยู่ในสถานะที่คลุมเครือ กล่าวคือ เขาต้องการให้ไต้หวันอยู่ในสภาพที่ได้ใจทั้งสองฝ่าย คือ จีนแผ่นดินใหญ่กับประชาชนชาวไต้หวัน ภารกิจเร่งด่วนที่นายหม่าอิงจิ่วหาเสียงไว้ ได้แก่การที่จะมุ่งเน้นการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไต้หวันให้กลับคืนสู่ความรุ่งเรืองโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนชาวไต้หวันมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งการที่จะทำให้เศรษฐกิจของไต้หวันฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยจีนแผ่นดินใหญ่ให้เป็นหัวรถจักรฉุดลากเศรษฐกิจของไต้หวันให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและมั่นคง

ทำความรู้จักนายหม่าอิงจิ่ว

นายหม่าอิงจิ่วเกิดที่ฮ่องกงเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1950 บรรพบุรุษเป็นชาวหูหนาน เขาได้อพยพตามครอบครัวไปอยู่ในไต้หวันตั้งแต่อายุได้สองขวบ ใน ค.ศ. 1967 ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋ง จบการศึกษาด้านนิติศาสตร์ระดับปริญญาตรี โท เอก ที่มหาวิทยาลัยไต้หวัน นิวยอร์ก และฮาร์เวิร์ดตามลำดับ เมื่อเรียนจบปริญญาเอกแล้วได้ทำงานอยู่ในสหรัฐฯ เป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะกลับไต้หวันและได้เข้ารับตำแหน่งเป็นล่ามภาษาอังกฤษให้กับรัฐบาลของเจียงจิงกว๋อ การทำงานของเขาได้รับความชื่นชมจากเจียงจิงกว๋อเป็นอย่างมาก จนได้รับตำแหน่งรองเลขานุการพรรคก๊กมินตั๋งใน ค.ศ. 1984 จากนั้นในปี 1998 ก็ลงสมัครเป็นผู้ว่าการนครไทเปและได้รับเลือกตั้งติดต่อกันถึง 2 สมัย ส่วนตำแหน่งในพรรคนั้น ค.ศ. 2000 ได้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค ค.ศ. 2003 ได้เป็นรองหัวหน้าพรรค และ ค.ศ. 2005 ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง

การทำงานของหม่าอิงจิ่วก็ใช่ว่าไม่มีความตกอับเลย หลังจากที่เจียงจิงกว๋อถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1988 และนายหลี่เติงฮุยขึ้นดำรงตำแหน่งแทนนั้น เขาได้ถูกโยกย้ายจากหน้าที่เกี่ยวกับกิจการของพรรคไปเป็นตำแหน่งเกี่ยวกับงานวิจัย ค.ศ. 1993 ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ทว่าไม่ได้มีอำนาจในการบริหารเท่าใดนัก เขาจึงได้ใช้อำนาจเท่าที่มีอยู่นี้จัดการกับข้าราชการ นักการเมืองที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งทำให้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นอย่างมาก แต่ก็เป็นปฏิปักษ์ต่อนักการเมืองภายในพรรคเป็นจำนวนมากเช่นกัน รวมถึงนายหลีเติงฮุยด้วย ค.ศ. 1996 ได้ถูกปรับเปลี่ยนออกจากตำแหน่ง ใน ค.ศ. 1998 กลับมาสมัครผู้ว่าการนครไทเปจนได้รับเลือกตั้งในที่สุด เขาเป็นความคาดหวังของพรรคในการลงชิงชัยตำแหน่งผู้นำประเทศกับเฉินสุยเปี่ยนในเวลาต่อมา

นโยบายการเมืองของไต้หวันต่อจีนแผ่นดินใหญ่

นโยบายที่ไต้หวันมีต่อจีนนั้น จากจุดผกผันในการเข้ามาบริหารประเทศของนายหม่าอิงจิ่วจากพรรคก๊กมินตั๋งนี้ ไต้หวันจะใช้มาตรการ ‘3 ไม่’ คือ ไม่รวม ไม่แยก ไม่สู้รบ กล่าวได้ว่า ยังคงย้ำการสร้างเอกลักษณ์ของไต้หวันเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมือง และสถานะของไต้หวันเยี่ยงรัฐอธิปไตย แต่ขณะเดียวกันก็ลดการต่อต้านจีน ไม่แสดงออกที่จะแยกตัวเป็นเอกราชอย่างรุนแรงเช่นแต่ก่อน อีกทั้งไม่มีความคิดที่จะใช้กำลังทางทหารในการแก้ไขปัญหาการแบ่งแยกดินแดน อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาในช่วงการปกครองของนายเฉินสุยเปี่ยน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า เนื่องจากการเมืองของไต้หวันมีความผันผวน และมีการต่อสู้ด้านอำนาจอยู่มาก ทำให้นโยบายที่มีต่อจีนขาดความต่อเนื่อง เป็นผลให้ฉุดเศรษฐกิจของไต้หวันตกต่ำลง ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจอันลึกซึ้งที่ไต้หวันมีอยู่กับจีน ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้น นายหม่าอิงจิ่วจึงจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจไต้หวันโดยดำเนินนโยบาย ‘3 ไม่’ ที่กล่าวข้างต้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้องเร่งสมานรอยร้าวความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ที่นายเฉินได้ก่อเอาไว้

ในเรื่องของการสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติของไต้หวัน ยุคของรัฐบาลเฉินสุยเปี่ยนได้ดำเนินการสมัครเป็นสมาชิกถึง 3 ครั้ง โดยเรื่องนี้ทางการจีนได้ต่อต้านเป็นอย่างมาก เนื่องจากขัดแย้งกับหลักการ ‘จีนเดียว’ เมื่อรัฐบาลหม่าอิงจิ่วเข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 2008 นั้น คงจะไม่ดำเนินการล็อบบี้ประเทศสมาชิกชาติต่างๆ ในการรับรองให้ไต้หวันเข้าเป็นสมาชิกอย่างแน่นอน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองกับจีนแผ่นดินใหญ่ อันจะเป็นผลเสียต่อการเจรจาร่วมมือกันทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ของไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ แม้แต่สหรัฐอเมริกาที่แต่ก่อนเคยสนับสนุนไต้หวันนั้น ยังต้องปฏิเสธการสนับสนุนรัฐบาลไต้หวันของนายเฉินสุยเปี่ยนด้วย อย่างกรณีตัวอย่างเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2008 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกแถลงข่าวว่า การสนับสนุนไต้หวันเป็นสมาชิกสหประชาชาติของวุฒิสมาชิกบางท่านนั้น เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของแต่ละคน ไม่ได้เกี่ยวกับนโยบายของประเทศ ซึ่งสหรัฐฯ ก็ไม่อยากขัดแย้งกับจีนในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังอยู่ในช่วงถดถอยเช่นนี้

จากความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบกับจีนแผ่นดินใหญ่ ที่จะเป็นประเด็นในการผลักดันเศรษฐกิจไต้หวันให้ฟื้นตัวขึ้นนั้น ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของไต้หวันด้วย นั่นคือ “กระแสชาตินิยม” ที่รัฐบาลเฉินสุยเปี่ยนซึ่งบริหารประเทศอยู่เป็นระยะเวลาถึง 8 ปีได้ทิ้งเป็นมรดกไว้ ผลลัพธ์ที่ออกมาทำให้สังคมเกิดการแบ่งพรรคแบ่งฝ่าย เศรษฐกิจวุ่นวาย ประชาชนอยู่ในภาวะเศร้าสลด รัฐบาลมีภาพลักษณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นภาระหนักสำหรับหม่าอิงจิ่ว ในการที่จะสมานฉันท์รอยร้าวของสังคมให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สร้างเศรษฐกิจไต้หวันให้เฟื่องฟูทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข และขจัดภาพลักษณ์ของรัฐบาลเก่า สร้างความโปร่งใสในการบริหารประเทศให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวไต้หวันและชาวโลก

นโยบายการเมืองของจีนแผ่นดินใหญ่ต่อไต้หวัน

ประธานาธิบดีหูจิ่นเทา กล่าวเน้นย้ำในปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบไต้หวัน ในงานประชุมสภาประชาชนเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2008 มีใจความตอนหนึ่งว่า “การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบอย่างสันติให้เป็นรูปธรรมได้นั้น จะต้องยืนอยู่บนหลักการ ‘จีนเดียว’ เพื่อความผาสุกของประชาชนทั้งสองฝั่ง โดยวิถีทางที่จะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย พวกเราต้องส่งเสริมและสนับสนุนกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการไปมาหาสู่กัน นอกจากนี้ต้องผลักดัน ‘3 ผ่าน’ ให้บรรลุผล รัฐบาลไต้หวันไม่ว่าจะมาจากพรรคใด เพียงแต่ยืนอยู่บนหลักการ ‘จีนเดียว’ เท่านั้น ปัญหาต่างๆ สามารถพูดคุยกันได้ สามารถเจรจาการค้ากันได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการปิดกั้น รัฐบาลจีนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จากภายใต้หลักการ ‘จีนเดียว’ จะสามารถยุติการเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน นำไปสู่การพัฒนาทั้งสองฝั่งให้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน”

จากคำกล่าวของหูจิ่นเทาจะเห็นได้ว่า จีนยึดมั่นในหลักการ ‘จีนเดียว’ ไม่ยอมให้มีการแบ่งแยกดินแดน แม้จะเป็นแบบหนึ่งประเทศสองระบบการปกครองก็ตาม จากปัญหาที่ไต้หวันจะเข้าร่วมองค์การสหประชาชาตินั้น จีนเองก็ตอกย้ำในที่ประชุมทุกครั้งว่าในโลกนี้มีเพียงจีนเดียว ไต้หวันตั้งแต่อดีตเป็นส่วนหนึ่งของจีน ไม่สามารถแบ่งแยกได้ สมาชิกจะต้องเป็นรัฐที่มีอธิปไตยจึงสามารถสมัครเป็นสมาชิกได้ ไต้หวันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของจีนไม่มีสิทธิในการเป็นสมาชิก และสมาชิกประเทศอื่นๆ ก็ไม่สามารถให้การสนับสนุนได้

ด้านเศรษฐกิจ ได้มีธุรกิจของชาวไต้หวันเข้าไปลงทุนในจีนกว่า 70,000 ธุรกิจ เงินลงทุนประมาณ 4.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ถ้ารวมในส่วนชาวไต้หวันผ่านบุคคลที่สามลงทุนในจีนแล้ว คาดการณ์ว่ามีมากกว่า 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการซื้อขายสินค้าระหว่างจีน-ไต้หวันกว่า 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ไต้หวันได้เปรียบดุลการค้าจีนสูงถึง 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้จีนยังต้องการเพิ่มความร่วมมือการลงทุนของชาวไต้หวัน ซึ่งตั้งแต่ ค.ศ. 1975 จีนได้ดำเนินการนโยบายให้สิทธิพิเศษกับชาวไต้หวันกว่า 60 นโยบาย เช่น การเปิดเสรีให้กับสินค้าเกษตรจากไต้หวัน การลดหย่อนภาษีในด้านต่างๆ แก่นักลงทุนชาวไต้หวัน หรือแม้แต่นโยบายส่งเสริมนักเรียนนักศึกษาไต้หวันที่จะศึกษาต่อในจีน โดยการรับรองวุฒิบัตรการศึกษา และเสียค่าเรียนเท่ากับนักเรียนของจีนเอง ทางการจีนต้องการสนับสนุนให้นักเรียนไต้หวันเข้ามาเรียนในจีน เพื่อปลูกฝังแนวคิดความเป็นคนจีนเหมือนกัน การออกนโยบายสิทธิพิเศษเหล่านี้ของจีน ก็เพื่อต้องการซื้อใจประชาชนชาวไต้หวัน แสดงให้เห็นถึงความจริงใจของจีนในการที่พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบสองฝั่ง

ปัญหา ‘3 ผ่าน’ หลังจากที่จีนเปลี่ยนระบบการปกครองใน ค.ศ. 1949 การติดต่อระหว่างแผ่นดินใหญ่ได้ถูกปิดกั้น 3 ทาง ได้แก่ การขนส่งสินค้า การไปรษณีย์ และการบิน ซึ่งการติดต่อกับไต้หวันในอดีต จะต้องดำเนินการผ่านฮ่องกงหรือมาเก๊า ปัจจุบันนี้ การขนส่งสินค้าและการไปรษณีย์สามารถทำได้โดยตรงแล้ว เหลือเพียงแต่การบินเท่านั้น เริ่มมีการบินตรงเฉพาะช่วงเทศกาลตรุษจีนใน ค.ศ. 2003 ทางจีนและไต้หวันต้องการแก้ไขปัญหาให้มีการบินตรงระหว่างกัน เพื่อความคล่องตัวในการไปมาหาสู่กันให้มากขึ้น เป็นหนทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งสองฝ่าย อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการลงทุนของไต้หวันในจีนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ทั้งหมดของการสร้างความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ให้นโยบายพิเศษแก่ไต้หวัน กระตุ้นนักเรียนนักศึกษาไต้หวันศึกษาต่อในจีนให้มากขึ้น หรือการแก้ไขปัญหา ‘3 ผ่าน’ ก็เพียงเพื่อให้ทั้งสองได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน

จากที่กล่าวมาดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวัน เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากรู้ผลการเลือกตั้งผู้นำใหม่ไต้หวัน ที่เปลี่ยนจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าเป็นพรรคก๊กมินตั๋ง แต่ทว่าเมื่อเร็วๆ นี้ นายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่าได้กล่าวบรรยายในงานให้สัมภาษณ์นักข่าว ในกรณีปัญหาทิเบตเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2008 ไว้ว่า “(yìxīnzhōngguómèng, wàngǔxiàquánshī)” ความหมายคือ ฝันจะสร้างความเป็นปึกแผ่นให้ชาติ แต่นายหม่าอิงจิ่วก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เวินเจียเป่าอย่างทันควันว่า 蛮横

“(mánhéngwúlǐ, zìdàyúchǔn, zìyǐwéishì)”ความหมายคือ “จีนเป็นคนพาลไร้เหตุผล อวดดีและโฉดเขลา คิดว่าตนเองถูกเสมอ” จากการต่อว่าต่อขานที่รุนแรงเช่นนี้ทำให้บรรยากาศในการร่วมมือกับจีนด้านต่างๆ ในอนาคตของหม่าอิงจิ่วคงจะไม่สู้ดีนัก

แต่ทั้งสองคนยังมีจุดยืนร่วมกันที่สำคัญเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ “การไม่แยกไต้หวัน” ส่วนปัญหาอื่นๆ คงต้องค่อยๆ แสวงหาหนทางแก้ไขกันต่อไป ปัญหาที่นายหม่าอิงจิ่วต้องรีบแก้ไขหลังจากเข้ารับตำแหน่งก็คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจไต้หวัน โดยสิ่งสำคัญคือ ทำให้การค้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ดำเนินไปอย่างราบรื่น อีกทั้งการส่งเสริมนักท่องเที่ยวจากแผ่นดินใหญ่เข้ามาท่องเที่ยวไต้หวันเพิ่มมากขึ้น และการเปิดเที่ยวบินบินตรงระหว่างจีน-ไต้หวัน ซึ่งทั้งหมดนี้ ก่อนอื่นจะต้องสร้างความร่วมมือ และความสัมพันธ์ที่ดีกับมังกรพี่ใหญ่อย่างจีนเสียก่อน

บทความนี้เป็นความร่วมมือระหว่างหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันกับศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.thaiworld.org/

กำลังโหลดความคิดเห็น