xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ปัญหาจีน-ไต้หวันละเอียดอ่อน ถึง‘หม่า’คว้าชัยต้องใช้เวลาเคลียร์ใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แนวโน้มที่ดูเหมือนว่าหม่า อิงจิ่วจะได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของไต้หวัน จากการลงคะแนนเสียงในวันที่ 22 มี.ค.นี้ ยิ่งเพิ่มกระแสความคาดหวังว่าความตึงเครียดทางการทหารและข้อจำกัดทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่จะสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็ว แต่นักวิเคราะห์ต่างเตือนว่าทุกอย่างจะต้องค่อยเป็นค่อยไป

แม้ว่าหม่า อิงจิ๋ว ผู้ท้าชิงเก้าอี้ผู้นำไต้หวันจากพรรคก๊กมินตั๋งหรือพรรคฝ่ายค้าน จะแสดงท่าทีที่เป็นมิตรกับรัฐบาลจีนมากกว่าเฉิน สุยเปี่ยน ประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบันซึ่งกำลังจะหมดวาระลง ที่มาจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) แต่แอนดรูว์ หยัง เลขาธิการสภาการศึกษานโยบายก้าวหน้าของไต้หวัน กลับเห็นว่าหม่าจะถูกบีบโดยความปรารถนาของผู้ลงคะแนนที่ต้องการค่อยๆ เปลี่ยนแปลงนโยบายที่มีต่อจีนแผ่นดินใหญ่ทีละนิดมากกว่าเปลี่ยนแปลงทั้งหมดในคราเดียว และโดยกองกำลังของจีนที่ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบไต้หวัน

หยังซึ่งเป็นอดีตที่ปรึกษารัฐบาลไต้หวันกล่าวเตือนว่า ไม่ควรคาดหวังมากเกินไป เพราะการเปิดกว้างใดๆ ย่อมต้องค่อยเป็นค่อยไป และไม่สามารถสำเร็จได้ในก้าวใหญ่ก้าวเดียว

จากการสำรวจความคิดเห็นล่าสุดพบว่าหม่า อิงจิ่ววัย 51 ปี มีคะแนนนำเซี่ย ฉางถิง หรือแฟรงค์ เซี่ยวัย 61 ปี คู่แข่งจากพรรคดีพีพี มากถึง 30% ด้านหลิว ปินหรง นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซูโชวในไทเปที่เพิ่งกลับมาจากจีนแผ่นดินใหญ่กล่าวว่านักลงทุนและนักธุรกิจไต้หวันในเมืองเซี่ยเหมิน ประเทศจีนตื่นเต้นมากกับชัยชนะที่ดูเหมือนอยู่แค่เอื้อมของหม่า และเตรียมพร้อมที่จะฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวันเกิดขึ้นแน่นอนหลังจากที่หม่านั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีวันที่ 20 พฤษภาคม เพราะว่าทั้งหม่าและเซี่ยไม่คิดดำเนินนโยบายเช่นเดียวกับเฉินที่กดดันจีนตลอดเรื่องการประกาศอิสรภาพ รวมทั้งจำกัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งทำให้รัฐบาลมังกรที่มองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนประณามเฉินตลอด 8 ปี ที่เขาอยู่ในตำแหน่งผู้นำ

ด้านเคนเน็ต ไลเบอร์ธัล ผู้ช่วยในสภาความมั่งคงแห่งชาติแห่งกรุงวอชิงตันในสมัยบิล คลินตันกล่าวว่าหม่าให้ความสนใจกับ ‘การลดความขัดแย้งด้านการทหารและส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจ’ ซึ่งหม่าเคยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ว่า “ผมคิดว่าภายใต้การนำของผม จะมีสันติภาพและความมั่งคั่งระหว่างช่องแคบแทนการเผชิญหน้าและความตึงเครียด”

ไลเบอร์ธัลที่ปัจจุบันเป็นอาจารย์ในมหาวิยาลัยมิชิแกนอธิบายว่า การผลักดันให้ไต้หวันได้รับเอกราชไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับหม่า ด้านหู จิ่นเทาประธานาธิบดีจีนและผู้นำอื่นๆ ของจีนก็มองว่าการขึ้นมาของหม่าเป็น ‘โอกาสที่จะปรับตั้งความสัมพันธ์กันใหม่’ อย่างไรก็ตาม การบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าวยังต้องใช้เวลาอีกนาน
โทนี่ พู นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดในไต้หวันให้ความเห็นว่า ‘มันจะเป็นกระบวนที่ช้าและค่อยเป็นค่อยไป’ ในด้านเศรษฐกิจ แม้ว่าหม่าเห็นด้วยกับการอนุญาตเพิ่มการลงทุนระหว่าง 2 ดินแดน แต่หม่าจะยังคงยืนกรานปกป้องผลประโยชน์ของไต้หวัน เช่น การปกป้องตำแหน่งงานและธุรกิจของชาวไต้หวันจากแรงงานและสินค้าราคาถูกจากแผ่นดินใหญ่

ส่วนด้านการเมือง ชาวไต้หวันจำนวนมากนอกเหนือจากกลุ่มที่สนับสนุนเฉินและพรรคของเขา ที่ต้องการให้ไต้หวันยังคงรักษา ‘การแบ่งแยกที่ชัดเจน’ จากจีนแผ่นดินใหญ่ และ ‘มีสิทธิ์เป็นของตนเองที่จะสถาปนาความสัมพันธ์กับนานาประเทศ’ ซึ่งซินเทีย วัตสัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนจากมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศในวอชิงตันชี้ว่า “คนนอกไต้หวันจำนวนมากมีความคิดโน้มเอียงว่านี่เป็นเพียงปรากฏการณ์ของเฉินเท่านั้น ซึ่งมันไม่ใช่”

ทั้ง 2 พรรคต่างสนับสนุนการยื่นเรื่องขอเป็นสมาชิกสหประชาชาติ และในวันที่เลือกตั้งประธานาธิบดีจะมีการทำประชามติ 2 เรื่อง หนึ่งคือ ไต้หวันควรดำเนินการดังกล่าวหรือไม่ และสอง ควรยื่นเรื่องในชื่อ ‘ไต้หวัน’ หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าการกระทำดังกล่าวย่อมถูกรัฐบาลมังกรมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวสู่การแยกตัวเป็นอิสระ อย่างไรก็ตาม จากการทำโพลเมื่อต้นเดือน ทั้ง 2 คำถามข้างต้นไม่ได้รับเสียงสนับสนุนมากพอ

วัตสันกล่าวอีกว่า “ประชาชนจำนวนมากกำลังตั้งตารอการเลือกตั้งนี้ และคิดว่าตราบเท่าที่เฉินไม่อยู่ในตำแหน่งผู้นำ ปัญหาทุกอย่างจะแก้ไขได้ แต่ฉันไม่คิดว่าความคิดนี้จะถูกต้องทั้งหมด เพราะการเมืองไต้หวันซับซ้อนมากกว่านั้น”

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวันมีความละเอียดอ่อนมากเพียงใด เห็นได้จากการที่หม่าเมินเฉยต่อการจัดตั้งการเจรจารัฐบาลต่อรัฐบาล หม่ากล่าวเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ว่า “เนื่องจากความสัมพันธ์ที่อ่อนไหวระหว่างช่องแคบ ผมคิดว่าทั้ง 2 ฝ่ายต้องการหลีกเลี่ยงการติดต่อโดยตรงระหว่างรัฐบาล”

อย่างไรก็ตาม หากหม่าต้องการรักษาเสียงสนับสนุนจากประชาชน รัฐบาลหม่าจำต้องล้างภาพการสืบทอดอำนาจและการคอรัปชั่น เนื่องจากหลังจากที่เจียง ไคเช็กและจีนคณะชาติหรือพรรคก๊กมินตั๋งถูกขับไล่โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้ออกจากแผ่นดินใหญ่เมื่อปี 1949 พรรคก๊กมินตั๋งครองอำนาจเหนือไต้หวันมาตลอดจนถึงปี 2000 ขณะที่พรรคการเมืองเก่าแก่นี้ ถูกกล่าวหาว่ารับเงินใต้โต๊ะที่เกี่ยวพันกับการลงทุนของบริษัทพวกเขาและสัญญาของรัฐบาล

ต่อสถานการณ์ข้างต้น หม่าปฏิญาณที่จะต่อสู้กับคอรัปชั่นหากเขาได้รับเลือก และทุกปีจะขอโทษสำหรับเหตุการณ์ 28 กุมภา ซึ่งเป็นการสังหารหมู่ชาวพื้นเมืองไต้หวันโดยกองทัพคณะชาติเมื่อปี 1947

สำหรับความตั้งใจของหม่าที่ต้องการลดความตึงเครียดทางทหาร ดูเหมือนว่าจะเป็นไปได้ยากกว่าการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอยู่มาก แม้ว่าตลอดมารัฐบาลจีนไม่ใช่กำลังทหารมาข่มขู่ให้ไต้หวันรวมกับจีนแผ่นดินใหญ่ในทันที หรือเข้าโจมเพื่อตอบโต้การเคลื่อนไหวเพื่อการแยกตัวเป็นอิสระที่โจ่งแจ้ง แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้เพิ่มจำนวนขีปนาวุธ เครื่องบินรบและยุทโธปกรณ์อื่นๆ ที่บริเวณช่องแคบไต้หวัน

ถึงกระนั้น หม่าหวังว่าจะเดินหน้าสู่การเจรจาอย่างสันติกับจีน (การเจรจา 3 ฝ่าย) ภายใต้เงื่อนไขว่าจีนต้องเคลื่อนย้ายขีปนาวุธที่เล็งมายังไต้หวันออกไป ตามที่เขากล่าวไว้เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ว่า “เราไม่ต้องการเจรจากับขีปนาวุธ 1,000 ลำที่กำลังเล็งมาที่เรา”

ไลเบอร์ธัลชี้ว่า ดูเหมือนหม่าต้องเดินหน้าเพื่อการเจรจาด้านความมั่นคงอย่างระมัดระวัง เพราะข้อตกลงใดๆ ให้จีนลดอาวุธและกำลังทหารบริเวณเกาะไต้หวันอาจจะพลิกผันโดยง่าย เพราะทั้ง 2 ฝ่ายต่างยืนยันความปรารถนาของพวกเขาที่จะพูดถึงประเด็นเหล่านี้อย่างมีประสิทธิผล

สำหรับความพยายามด้านเศรษฐกิจ หม่าหวังว่าภายในไม่กี่เดือนข้างหน้าจะสามารถจัดตั้งเส้นทางบินตรงระหว่างไต้หวันและจีน และภายในหนึ่งปีจะออกกฎใหม่ที่ขยายสัดส่วนสินทรัพย์ของบริษัทไต้หวันที่นำไปลงทุนในจีน และในท้ายที่สุด หม่าต้องการให้บริษัทจีนเข้ามาลงทุนในไต้หวันมากขึ้น ทั้งนี้ ในปัจจุบันไต้หวันอนุญาตให้บริษัทจากแผ่นดินใหญ่เข้ามาลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น

ก่อนหน้านี้ เฉิน สุยเปี่ยนพยายามขีดเส้นจำกัดการพึ่งพาจีนที่นำเข้าสินค้าจากไต้หวันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รายงานจากกระทรวงการคลังไต้หวันระบุว่าเมื่อเดือนที่แล้ว ไต้หวันส่งออกไปยังจีนและฮ่องกงเพิ่มขึ้น 31.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ขณะที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯลดลง 8.5%

หลิน อี้ฟู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากเวิลด์แบงก์ชี้ว่า การจำกัดการพึ่งพาจีน ทำให้เศรษฐกิจไต้หวันล้าหลังมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยวัดได้จากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ทั้งนี้ จีดีพีของไต้หวันปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 5.7% ซึ่งช้ากว่าจีนที่ขยายตัวถึง 11.4% ขณะที่สิงคโปร์เติบโต 7.7% อินโดนีเซีย 6.3% และมาเลเซีย 6.2%

หลินกล่าวว่า “หลายปีที่ผ่านมา เราเห็นว่าไต้หวันพลาดโอกาสปีแล้วปีเล่า” เศรษฐกิจไต้หวันเคยนำหน้าเกาหลีใต้ในกลุ่มเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย แต่เกาหลีใต้แซงหน้าไต้หวันมา 2 ปีแล้ว เพราะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนและเติบโตตามจีน

เรียบเรียงจาก บลูมเบิร์ก
กำลังโหลดความคิดเห็น