xs
xsm
sm
md
lg

“หม่า อิงจิ่ว” ชนะเลือกตั้งปธน. ประชามติดันไต้หวันเข้ายูเอ็น “ล้มเหลว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซี--ก๊กมินตั๋งคืนบัลลังก์ประมุขเกาะไต้หวัน หม่า อิงจิ่วพิชิตชัยชนะลอยลำในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน วอชิงตันและปักกิ่งเฝ้าจับตามองอย่างจดจ่อ คอยดูสัญญาณยุคใหม่แห่งสัมพันธภาพระหว่างจีนและไต้หวัน ดินแดนแห่งความขัดแย้งที่ร้อนระอุที่สุดในเอเชีย

หม่า อิงจิ่ววัย 60 ปี ขึ้นเวทีประกาศชัยชนะแล้วในวันนี้(22 มีนาคม) ท่ามกลางเสียงพลุสว่างโร่ และเสียงเฮ จากผู้สนับสนุนก๊กมินตั๋ง

“ประชาชนต้องการรัฐบาลที่สะอาด ไม่ใช่พวกคอรัปชั่น พวกเขาต้องการเศรษฐกิจที่แข็งแรง ไม่ใช่ถดถอย ไม่ต้องการความฟอนแฟะทางการเมือง ต้องการสันติภาพระหว่างช่องแคบ ไม่ใช่สงคราม” หม่าผู้ซึ่งเคยเป็นผู้ว่าไทเป ประกาศความสำเร็จ

หม่า อิงจิ่วผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้านจีนคณะชาติ หรือกั๋วหมินตั๋ง (ก๊กมินตั๋ง) ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 58 ส่วนคู่แข่งเซี่ย ฉางถิง หรือแฟรงค์ เซี่ยจากพรรครัฐบาลประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ได้คะแนนเสียงร้อยละ 41.5 ของผู้มีสิทธิออกเสียง 17.3 ล้านคน โดยมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ ร้อยละ 76 ทั้งนี้จากการแถลงของคณะกรรมการเลือกตั้งไต้หวัน

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการเลือกตั้งยังได้รายงานผลการลงคะแนนประชามติให้รัฐบาลเดินหน้ากระบวนการเข้าเป็นสมาชิกยูเอ็น ที่มีขึ้นในวันเดียวกันนี้ ว่า"ล้มเหลว"

การลงประชามติเกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหประชาชาติของไต้หวัน ผลปรากฏผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประชามติ ซึ่งมีสองแบบนี้ มีไม่ถึงครึ่ง โดยประชามติของฝ่ายดีพีพีที่เสนอเดินหน้าเข้าสู่ยูเอ็นมีเพียง 35.8 % ขณะเดียวกันประชามติของฝ่ายก๊กหมินตั๋ง ที่เสนอคัดค้านการลงประชามติเข้าสู่ยูเอ็น ก็มีเพียง  35.7%  ดังนั้นการทำประชามติในครั้งนี้ จึงถือว่าไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งสะท้อนว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับการแยกไต้หวันออกจากจีนแผ่นดินใหญ่
โฆษกหญิงพรรคดีพีพี เซี่ย ซินหนีแถลงยอมรับความพ่ายแพ้ “เรายอมรับเราแพ้แล้ว”ตามสำนักงานของพรรคดีพีพี นองไปด้วยน้ำตาของผู้สนับสนุน และคำขอโทษจากเจ้าหน้าที่ อดีตส.ส.ดีพีพีเฉิง เหวินซัน ยอมรับว่าฐานเสียงเก่าแก่ของพรรคหลายแห่ง แปรพักตร์ไปหนุนก๊กมินตั๋ง

หม่า อิงจิ่ววัย 60 ปี จบการศึกษาจากฮาร์วาร์ด สัญญาจะกระชับความสัมพันธ์กับจีนใหญ่ ผลักดันสนธิสัญญาสันติภาพ และยุติความเป็นปฏิปักษ์กับปักกิ่งที่ร้อนกระฉูดระหว่างที่ผู้นำเฉิน สุยเปี่ยนแห่งดีพีพี ครองบัลลังก์ผู้นำสูงสุดของดินแดนซึ่งจีนประกาศว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่ ผู้นำจีนถึงกับประกาศกร้าวว่าอาจต้องใช้กำลังผนวกดินแดนหากจำเป็น

หลังจากเสร็จจากการหย่อนบัตรเลือกตั้ง หม่าประกาศความเชื่อมั่น และจะเดินหน้าผูกสัมพันธ์กับจีน “เราจะต้องปรับความสัมพันธ์ปกติบนเวทีการค้าการลงทุนกับแผ่นดินใหญ่ อย่างที่ทำกับประเทศอื่นๆ เชื่อมการติดต่อโดยตรงทางอากาศและทางทะเล” หม่ากล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม แม้หม่าประกาศเกี่ยวพันกับจีนหลายด้าน แต่เขาก็ยืนยันจะปกป้องอัตลักษณ์ไต้หวัน พิทักษ์ความมั่นคงของเกาะ “ผมย้ำหลายครั้งว่า ไต้หวันไม่ใช่ทิเบต ทั้งไม่ใช่ฮ่องกง ดังนั้น เราจะรักษาดินแดนประชาธิปไตยอย่างที่เป็นอยู่นี้ไว้”

ทั้งนี้ สองจีนขาดการเชื่อมโยงกันโดยตรง ตั้งแต่เจียง ไคเช็คนำกองกำลังถอยมาตั้งหลักที่เกาะไต้หวัน หลังแพ้สงครามกลางเมืองปี 1949 ปัจจุบันการติดระหว่างสองดินแดน ต้องผ่านดินแดนที่สาม

เซี่ยถือโอกาสจากสถานการณ์ที่กองทัพปลดแอกประชาชนจีน กวาดล้างกลุ่มประท้วงทิเบตอย่างนองเลือด โจมตีหม่าเรื่องแผนสร้างตลาดร่วมและสัญญาสันติภาพกับจีน เป็นการอ่อนข้อให้แก่ปักกิ่ง ซึ่งดูไม่ได้ผล เนื่องจากผู้ออกเสียงเลือกเศรษฐกิจมากกว่า และอยากให้ความสัมพันธ์ระหว่างช่องไต้หวันคลี่คลาย

แม้เซี่ยจะสัญญาปรับปรุงสัมพันธ์เศรษฐกิจกับจีนเช่นกัน แต่หม่ามีแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ถึงรากถึงโคนมากกว่า โดยนอกจากจะไฟเขียวให้บริษัทในดินแดน เข้าเจาะแผ่นดินใหญ่ ขณะเดียวกับก็จะอนุญาตให้กลุ่มนักลงทุนจีน อัดฉีดทุนสู่เศรษฐกิจไต้หวัน ทั้งนี้ ไต้หวันมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 17 ของโลก แต่กำลังสูญเสียงานและการลงทุนให้แก่แผ่นดินใหญ่ ขณะที่รายได้ถดถอย

ชัยชนะของหม่า ได้ปิดฉากการครองอำนาจปกครองไต้หวันของดีพีพี ซึ่งมีความโน้มเอียงสู่อิสรภาพไต้หวัน ดีพีพีครองอำนาจรัฐบาลได้เพียง 8 ปี โดยในการเลือกตั้งปี 2000 ดีพีพีชนะก๊กมินตั๋งที่ครองอำนาจรัฐบาลมาตลอดตั้งแต่แยกตัวจากจีนในปี 1949

สำหรับเฉิน สุยเปี่ยนจะลงจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 พฤษภาคม

ทั้งปักกิ่งและวอชิงตัน จับตาการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างใจจดใจจ่อ รอดูสัญญาณทิศทางยุคใหม่ในดินแดนระหว่างช่องแคบที่ตึงเครียดที่น่ากลัวที่สุดในเอเชีย

วันเดียวกันไต้หวันยังเปิดการเลือกตั้งประชามติ รับรองให้รัฐบาลเดินหน้ากระบวนการเข้าเป็นสมาชิกยูเอ็น ซึ่งต้องการเสียงรับรองประมาณร้อยละ 63

สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และอังกฤษต่างวิจารณ์ประชามตินี้ว่า จะสร้างความไม่พอใจแก่จีน มาเลเซียก็คัดค้าน ถึงกับชี้ว่า “เป็นความเคลื่อนไหวยั่วยุ”

แต่แม้ผลประชามติจะออกมาอย่างไรก็ตาม การเข้าเป็นสมาชิกยูเอ็นก็ไร้หวัง เนื่องจากมีประเทศที่รับรองชาติไต้หวันเพียง 23 ประเทศ ขณะที่จีนเป็นหนึ่งในคณะมนตรีความมั่นคง ที่มีเสียงวีโต้ คัดค้านประเด็นนานาชาติ.
กำลังโหลดความคิดเห็น