xs
xsm
sm
md
lg

ศึกเลือกตั้งไต้หวัน ใต้ชะเงื้อมแผ่นดินใหญ่

เผยแพร่:   โดย: สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์


ช่วงนี้เกาะเล็กๆอย่างไต้หวันเริ่มกลับมาชิงพื้นที่ข่าวตามหน้าสื่อได้อีกครั้ง ทั้งเอเชียนวอลล์สตรีท เอเอฟพี และรอยเตอร์ ต่างแย่งรายงานข่าวเกี่ยวกับไต้หวัน หลังถูกกระแสข่าวจากแผ่นดินใหญ่กลบไปเสียนาน ผู้บริโภคข่าวทั่วไปกลับมาเสพ สนใจข่าวเกี่ยวกับไต้หวัน ทั้งที่ปกติแล้ว ประเด็นเกี่ยวกับไต้หวันเรียกได้ว่า เป็นเรื่องชายขอบที่ไม่ค่อยมีใครสนใจ หากจะได้รับความสนใจก็มีเพียงเรื่องการพยายามประกาศเอกราช กับ ข่าวสส.ไต้หวันวางมวยในสภา

ที่ไต้หวันกลายเป็นประเด็นน่าสนใจ ก็ด้วยช่วง 2-3 เดือนนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไต้หวันครั้งใหญ่ และการเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมส่งผลกระทบไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว การเลือกตั้งไต้หวัน จึงกลายเป็นที่จับตามอง

ในวันเสาร์ที่ 12 มกราคม 2008 จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สส.) สมัยที่ 7 หลังจากนั้นไม่นานในเดือนมีนาคม การเมืองไต้หวันก็จะร้อนระอุเป็นพิเศษ ด้วยจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีสมัยที่ 12 ในวันที่ 22 มีนาคม

ผลการเลือกตั้งสส.ในวันที่ 12 มกราคม จะเป็นการชิมลางชี้ว่า ผู้สมัครจากพรรคใดจะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีไต้หวัน ระหว่างหม่าอิงจิ่ว อดีตพ่อเมืองไทเป จากพรรคกั๋วหมินตั่ง (ก๊กมินตั๋ง) กับ เซี่ยฉางถิง (แฟรงค์ เซี่ย) อดีตนายกรัฐมนตรี จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (หมินจู่ จิ้นปู้ตั่ง - ดีพีพี )

ที่จริงแล้วพรรคการเมืองไต้หวันนั้นมีมากมายหลายพรรค ทว่าพรรคที่ครองอำนาจและมีอิทธิพลทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่มีเพียง 2 พรรคคือ กั๋วหมินตั่ง กับ ดีพีพี ทั้งสองพรรคได้สร้างเครือข่ายทางการเมืองใหญ่แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มพันธมิตรสีน้ำเงินของพรรคกั๋วหมินตั่ง ซึ่งประกอบไปด้วยพรรคกั๋วหมินตั่ง ซินตั่ง และ ชินหมินตั่ง กับกลุ่มพันธมิตรสีเขียวซึ่งประกอบไปด้วยพรรคดีพีพี กับพรรคสหภาพไต้หวันสามัคคี ( ไถวาน ถวนเจี๋ย เหลียนเหมิง - ทีเอสยู)

ทั้งสองพรรคมีแนวนโยบายที่เด่นเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหวเรื่อง การประกาศเอกราชของไต้หวัน กั๋วหมินตั่ง มีท่าทีประนีประนอมกับฝ่ายจีนมากกว่า โดยพยายามดำรงสภาวะปัจจุบัน (status-quo) ของไต้หวันที่มีฐานะกึ่งรัฐ (semi-state) หมาอิ่งจิวเน้นย้ำนโยบายนี้อย่างชัดเจนว่า หากได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จะใช้นโยบาย 3 ไม่ คือ “ไม่รวม ไม่ประกาศเอกราช ไม่ทำสงคราม” พร้อมย้ำว่า ปัญหาระหว่างสองฝากฝั่งต้องอาศัยการเจรจาระหว่างจีนกับไต้หวัน โดยสหรัฐฯไม่จำเป็นต้องเกี่ยว และไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้อง1

แนวนโยบายของหม่าเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาลจีน ด้วยที่ผ่านมาจีนประกาศกร้าว “ไม่ยอมให้ไต้หวันประกาศเอกราช หากดึงดันจีนอาจใช้กำลังรวมประเทศ” และจีนก็ไม่ได้เป็นมังกรเติ้ง (มังกรปลาไหล) ที่ดีแต่พูดเท่านั้น ที่ผ่านมาจีนได้พัฒนาระบบอาวุธ และกองทัพของตนให้ทันสมัย เพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีที่จำเป็นต้องใช้กำลังบุกไต้หวัน ขณะเดียวกันก็ใช้นโยบายโดดเดี่ยวไต้หวันในเวทีระหว่างประเทศ กดดันให้รัฐต่างๆยกเลิกการรับรองไต้หวัน และหันมารับรองจีนแผ่นดินใหญ่เพียงแห่งเดียวว่า “เป็นจีนที่ถูกต้อง มีสถานะเป็นรัฐอธิปไตยตามกฎหมาย”

ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนก็ใช้ยุทธศาสตร์แนวร่วม (United front strategy) ติดต่อกับพรรคกั๋วหมินตั่ง และชินหมินตั่ง ซึ่งมีท่าทีประนีประนอมกับทางจีนมากกว่าค่ายดีพีพี นอกจากนี้ทางรัฐบาลจีนยังพยายามยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบ ดึงดูดนักธุรกิจ และประชาชนไต้หวันให้ไปลงทุนยังแผ่นดินใหญ่ เพิ่มการพึงพิงระหว่างกัน จนสถิติการลงทุนของชาวไต้หวันในแผ่นดินใหญ่นับแต่ปี 1978 มีมูลค่าสูงประมาณ 75,000- 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่การค้าระหว่างช่องแคบก็มียอดทะลุ 80,000 ล้านเหรียญในปี 20052 สภาวะปัจจุบันที่ไต้หวัน “ไม่รวม ไม่ประกาศเอกราช ไม่ทำสงคราม” จึงเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนของไต้หวัน ที่ต้องการความมั่นคงทางการเมือง และการพัฒนาเศรษฐกิจ ปากท้องมากกว่าการไปตอแยกับมหาอำนาจอย่างจีน

อย่างไรก็ตามนโยบายเด่นของพรรคดีพีพี ที่เน้นการทำให้ไต้หวันเป็นประเทศเอกราชนั้น ก็มีเหตุผลรองรับ และเป็นผลผลิตของสังคมไต้หวัน จนเรามิควรประฌามเฉินสุยเปี่ยน และพรรคของเขาว่า “เจ๊กขายชาติ” ที่ผ่านมาไต้หวันตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจและถูกย่ำยีมาตลอด ทั้งการตกเป็นอาณานิคมของราชวงศ์ชิง ญี่ปุ่น พอมาปัจจุบันสถานะของไต้หวันก็มิได้มั่นคงจนเรียกตัวเองได้อย่างเต็มปากว่ารัฐเอกราช ด้วยมีจีนคอยฮึ่มสกัดดาวรุ่งอยู่

แม้ประชากรไต้หวันจะมาจากแผ่นดินใหญ่สมัยเจียงไคเช็ค (เจี่ยงเจี้ยสือ) รบแพ้เหมาเจ๋อตงช่วงปลายทศวรรษ 1940 ทว่าไต้หวันเองก็มีประชากรท้องถิ่นเดิมของตัวเอง และบทบาทการต่อสู้ของชาวไต้หวันนั้นก็มีมาตลอด เมื่อเจียงเข้าครองไต้หวัน ชาวไต้หวันก็ถูกปราบปราม สถานะของกลุ่มคนเหล่านี้มาดีขึ้น สมัยของเจี่ยงจิงกั๋วบุตรชายของเจียงไคเช็คครองอำนาจ เจี่ยงจิงกั๋วจัดให้ชาวไต้หวันเข้าสู่ตำแหน่งระดับสูง ผลักดันให้หลี่เติงฮุย ชาวไต้หวันที่เกิดและเติบโตในแผ่นดินไต้หวันสมัยอาณานิคมญี่ปุ่น ขึ้นมาครองตำแหน่งรองประธานานาธิบดี จนในที่สุดหลี่ได้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากเจี่ยง และหลี่เองก็เป็นคนสำคัญ ที่มีบทบาทในการที่เรียกร้องให้ไต้หวันเป็นรัฐอธิปไตย มีเอกราชอย่างสมบูรณ์

มาระยะหลังประชากรที่อพยพมาจากแผ่นดินก็เริ่มร่วงโรย และจากไปตามกาลเวลา ส่วนคนรุ่นใหม่ที่เกิดในไต้หวันก็เพิ่มมากขึ้นจนมีจำนวนถึง 85 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด3 ประชากรรุ่นใหม่นี้ปราศจากความผูกผันต่อแผ่นดินจีน แถมด้วยระบอบการปกครองที่ต่างกันระหว่างสังคมนิยม กับประชาธิปไตย ทำให้ระยะห่างระหว่างจีนกับไต้หวันรังแต่จะเพิ่มมากขึ้นทุกที นอกจากนี้ผลสำรวจในปี 1992 ที่เผยว่า มีประชากรไต้หวันเพียง 17.3 เปอร์เซ็นต์มองว่าตนเองเป็นชาวไต้หวันมิใช่ชาวจีน ก็เพิ่มขึ้นเป็น 43.2 เปอร์เซ็นต์ในปี 2003 พ้นไปจากประเด็นข้างต้น การใช้ภาษาหมิ่นหนัน (ภาษาฮกเกี้ยนใต้ ) ซึ่งชาวไต้หวันนิยามว่าเป็นภาษาไต้หวัน ก็มีสถิติการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้น4 การก่อตัวของอัตลักษณ์ความเป็นไต้หวัน ที่แตกต่างจากจีนจึงค่อยปรากฏอย่างเห็นได้ชัด

กระแสดังกล่าวจึงส่งผลให้เกิดการแปรเปลี่ยนมาเป็นนโยบายหาเสียง ที่เน้นการประกาศเอกราชของพรรคดีพีพี จนเฉินสุยเปี่ยนสามารถครองเก้าอี้ประธานาธิบดีได้ 2 สมัยติดต่อกันตั้งแต่ปี 2000 จนถึงปัจจุบัน ท่าทียั่วยุ ท้าทายประกาศเอกราชของเฉินแม้ถูกมองจากคนทั้งโลกว่าไร้สาระ แต่ในใจของชาวไต้หวันส่วนหนึ่งแล้ว นโยบายดังกล่าวเรียกได้ว่า เป็นการสะท้อนจิตสำนึก และเสียงร่ำร้องของชาวไต้หวันอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามระหว่างที่เฉินดำรงตำแหน่ง ปรากฏว่าเฉินและคนรอบตัวเป็นข่าวฉาวกรณีทุจริตคอรัปชั่นเป็นระยะๆ ลีลาการบริหารเศรษฐกิจไม่เป็นที่ประทับใจของประชาชนตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันก็ไม่คึกคักเท่าเพื่อนบ้าน อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 5 เปอร์เซ็นต์สำหรับปี 2007 แม้จะถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีสำหรับประเทศพัฒนา (developed country) ทว่าหากเทียบกับเพื่อนบ้านแล้วก็ยังเป็นตัวเลขที่ต่ำ5 ส่วนความขัดแย้งทางการเมืองในไต้หวันก็คุกรุ่นจนก่อให้เกิดการแบ่งขั้วในสังคมดังเช่นประเทศไทย ณ ปัจจุบัน เฉินพยายามเบี่ยงเบนความสนใจจากการเมืองในประเทศ ด้วยการใช้กระแสชาตินิยมไต้หวัน และการประกาศเอกราชที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อนเป็นเครื่องมือ ทว่าคราวนี้ดูเหมือนว่ากระแสสังคมได้ถอนอาณัติที่เคยให้เฉินไปแล้ว การท้าทายประกาศเอกราช ที่มากจนเกินไป เริ่มทำให้ประชาชนหวาดหวั่น และเกรงว่าอาจนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองกับแผ่นดินใหญ่ ซึ่งจะกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน จนผลการเลือกตั้งสส.ในเดือนธันวาคม 2004 กั๋วหมินตั่งกับชินหมินตั่งสามารถกวาดที่นั่งสส.ได้ถึง 114 ที่ ส่วนดีพีพีและพันธมิตรกลับได้ที่นั่งเพียง 101 ที่จากจำนวนทั้งหมด 225 ที่นั่ง6

ภาพลักษณ์ที่ฉาวโฉ่ กับการเล่นมุกเดิม ขายของเก่าซ้ำๆ เริ่มทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายและหวาดกลัวความกล้าบ้าบิ่นของเฉิน กระแสสังคมเริ่มเอนเอียงไปทางพรรคกั๋วหมิน ตั่งของหม่าอิงจิ่ว ที่เน้นประนีประนอมกับจีน แต่ก็ยังคงรองรับความต้องการของชาวไต้หวันที่ไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ไว้ด้วยนโยบาย “ไม่รวม ไม่ประกาศเอกราช ไม่ทำสงคราม” เพราะกั๋วหมินตั่งชูนโยบายที่สะท้อนความต้องการของชาวไต้หวัน ณ ปัจจุบันที่เริ่มเบื่อหน่ายความแตกแยกทางการเมือง และการยั่วยุจีนมากเกินไป นอกจากนี้ชาวไต้หวันยังต้องการความมั่นคงทางการเมือง และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้กั๋วหมินตั่งได้หยิบยื่นนโยบายที่จะนำไปสู่ทางออกดังกล่าว

ในการเลือกตั้งสส. อันดุเดือดครั้งนี้ ทั้งสองพรรคต่างโหมกระแสโจมตีกันสุดฤทธิ์ เนื่องจากชาวไต้หวันต้องออกเสียงประชามติใน 2 ประเด็นพร้อมกับการเลือกตั้งคือ รัฐบาลควรยึดทรัพย์สิน ที่พรรคกั๋วหมินตั่งครอบครองอย่างผิดกฎหมายช่วงทศวรรษ 1950 หรือไม่ ส่วนทางพันธมิตรกั๋วหมินตั่งก็เสนอให้มีการลงประชามติประเมินการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลพรรคดีพีพี 

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เป็นจุดสนใจมากกว่าคือ การจ้องแย่งชิงเก้าอี้สส.ที่ถูกลดจำนวนเหลือ 113 ที่นั่ง (73 ที่นั่งมาจากการเลือกตั้งระบบเขต 34 ที่นั่งจากระบบสัดส่วน 6 ที่นั่งสำหรับชนเผ่าพื้นเมืองของไต้หวัน) จาก เดิม 225 ที่นั่ง เนื่องจากกฎหมายที่บังคับใช้ในปี 2004 ได้ตัดลดจำนวนสส.ลง พร้อมกับยืดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งจาก 3 ปีเป็น 4 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาสส. ไร้คุณภาพวางมวยกันล้นสภา

ผลสำรวจการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 1 มกราคม ของ ทีวีบี สถานีโทรทัศน์ชื่อดังของไต้หวันระบุว่า สส.กั๋วหมินตั่ง จะกวาดที่นั่ง 75 ที่ ส่วนดีพีพีสอบได้เพียง 31 ที่ เก้าอี้ที่เหลือจะถูกจัดสรรระหว่างพรรคเล็ก7 อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากกระแส ณ ปัจจุบัน คาดว่า กั๋วหมินตั่งจะสามารถกวาดที่นั่งได้เป็นส่วนมากตามโผ หากเป็นไปตามคาด ชัยชนะของกั๋วหมินตั่งย่อมสร้างแรงสะเทือนให้กับดีพีพีมิน้อย และชัยชนะดังกล่าวย่อมส่อเป็นนัยว่า เก้าอี้ ประธานาธิบดี จะตกแก่หม่าอิงจิ่ว แห่งพรรคกั๋วหมินตั่ง

แนวโน้มความสัมพันธ์ช่องแคบหลังเลือกตั้ง

แม้ปักกิ่งจะประกาศกร้าวว่า หากจำเป็นจะใช้กำลังรวมประเทศ ทว่าด้วยสถานการณ์ปัจจุบันหากปักกิ่งตัดสินใจ โหมสรรพกำลังบุกไต้หวัน ผลลัพธ์ที่ออกมาจะกลายเป็นว่าปักกิ่งขาดทุนมหาศาล เพราะที่ผ่านมาปักกิ่งประกาศว่า “จีนเติบโตอย่างสันติ” การใช้กำลังทางทหารบุกไต้หวันจึงเท่ากับเป็นการประกาศว่า “การเติบโตอย่างสันติเป็นแค่เรื่องผายลม” และหากโจมตีไต้หวันไม่สำเร็จ มิสามารถรวมไต้หวันเข้ากับจีนได้ ชัยชนะของไต้หวันจะกลายเป็นแรงบันดาลใจ ที่ผลักดันให้ทิเบต และซินเจียง (ซินเกียง) เริ่มยกระดับการเคลื่อนไหวเพื่อแยกตัวออกจากจีน

จีนในวันนี้กำลังเติบโต และการเติบโตดังกล่าวก็ต้องอาศัยสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่เป็นมิตร มั่นคง กอปรไปด้วยสันติภาพ การทุ่มกำลังทหารรุกรานไต้หวัน จึงเป็นการตัดช่อง ถ่วงการพัฒนาที่กำลังดำเนินไป ยิ่งปี 2008 จีนกำลังจะเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกแล้ว การรักษาหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง จีนจึงจะยังไม่บุกไต้หวันอย่างแน่นอน เพราะสภาพปัจจุบันที่ไต้หวันถูกจีนปิดล้อมทางการทูต จนไต้หวันแทบมีฐานะเป็นเพียงกึ่งรัฐ ก็ยังความพอใจให้กับผู้นำจีนไม่น้อย

ทว่าการรุกรานไต้หวันอาจจะเกิดขึ้น หากปัจจัยแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอาทิ เฉินใช้เวลาที่เหลือไม่มากในตำแหน่งประธานาธิบดีประกาศเอกราช ซึ่งก็มิน่าเป็นไปได้ เพราะแม้หลายคนจะมองว่าเฉินบ้า แต่เฉินไม่โง่ ยอมเสี่ยงประกาศเอกราชแน่ๆ เพราะปัจจุบันไต้หวันก็โดนอดีตพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ และสิงคโปร์ลอยแพความพยายามประกาศเอกราช ว่าเป็นการกระทำที่ยั่วยุ และไม่สร้างสรรค์

ภารกิจปฏิวัติสังคมนิยมของเหมาเจ๋อตง ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะจีนยังมิสามารถนำไต้หวันกลับมาสู่อ้อมกอดแผ่นดินใหญ่ได้ ประเด็นไต้หวันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เนื่องจากปัจจุบันจีนใช้ชาตินิยมเป็นเครื่องมือสำคัญทางการเมือง การสูญเสียแผ่นดิน บูรณภาพเหนือดินแดน หมายถึงความอ่อนแอ และความอัปยศของชาติ การสูญเสียไต้หวันจึงเป็นความอัปยศของจีน ซึ่งบรรดาผู้ปกครองแดนมังกรมิสามารถยอมรับได้

สถานการณ์ปัจจุบันที่ภารกิจของเหมายังไม่จบ แต่ก็ไม่เหลว เมื่อไต้หวันไม่ประกาศเอกราช และจีนยังค่อยๆรุกคืบปิดล้อมไต้หวัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจในตอนนี้ ไต้หวันมีอัตราการพึ่งพิงจีนสูงมาก พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงมีความพอใจต่อสภาวะที่ดำรงอยู่ระดับหนึ่ง และหวังที่จะรักษาสภาวะนี้ไปตราบนานเท่านาน จนกว่าจีนจะพร้อมผนวกไต้หวันได้อย่างสมบูรณ์โดยปราศจากความสูญเสีย

ฉะนั้นความสัมพันธ์หลังเลือกตั้งใหญ่ในปีนี้ ก็จะยังคงดำเนินไปเช่นเดิม หากกั๋วหมินตั่งชนะ ความสัมพันธ์ก็อาจดีขึ้นบ้าง ส่วนประเด็นเอกราชนั้นยังคงต้องเถียงกันไปอีกยาว




เอกสารอ้างอิง

[1] ผู้จัดการออนไลน์, “ตัวเก็งปธน.ไต้หวันลั่น “ปัญหาสองฝากฝั่ง มะกันไม่ต้องเอี่ยว”,”
[http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9510000000679], 3 มกราคม 2551.
[2] C. Fred Bergsten et al., eds., China: The Balance Sheet, (New York: Public Affairs, 2006),
136-137.
[3] Judith F. Kornberg and John R. Faust,
China in World Politics: Policies, Processes, Prospects, (London: Lynne Rienner, 2005),
30-40. 
[4] Will Hutton, The Writing On The Wall: China And The West In The 21st Century,
(London: Little, Brown, 2006), 242.
[5] Joy C Shaw and Wei Yi lim, “Nationalist look set to gain in Taiwan vote,”
Asian Wall Street Journal,  9 January 2008, 10.
[6] “Taiwan vote seen as pointer to next president,”
[http://www.macaudailytimesnews.com/index.php?option=com_content
&task=view&id=5050&Itemid=31], 7 January 2008.
[7] Joy C Shaw and Wei Yi lim, “Nationalist look set to gain in Taiwan vote,”
Asian Wall Street Journal,  9 January 2008, 10.
กำลังโหลดความคิดเห็น