xs
xsm
sm
md
lg

การซื้อเสียงทำลายประชาธิปไตยไต้หวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพบรรยากาศการเลือกตั้งคราวหนึ่งในกรุงไทเป โดย อัยการกำลังสอบสวนคดีซื้อสิทธิ์ขายเสียงหลายร้อยคดีในการเลือกตั้งท้องถิ่นวันเสาร์ที่ 5 ธ.ค. - เอเอฟพี
เอเอฟพี – การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไต้หวัน ซึ่งควรเป็นตัวอย่างน่ายกย่องสำหรับชาติในย่านเอเชียตะวันออก เวลานี้กำลังแปดเปื้อนด่างพร้อยด้วยวงจรอุบาทว์ ที่เกิดขึ้นเหมือนกับในอีกหลายประเทศ นั่นก็คือวงจรอุบาทว์ของการซื้อเสียง

บรรดานักวิเคราะห์ยังระบุด้วยว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นในวันเสาร์ (5 ธ.ค.) ซึ่งผู้คนบนแดนมังกรน้อยจะออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งนายกเทศมนตรี, ผู้ว่าการจังหวัด และสมาชิกสภาท้องถิ่น ก็ไม่อาจแหวกว่ายหนีวังวนเงินตราของนักการเมืองไปได้เช่นกัน

“เราจะไม่ซื้อเสียงในการเลือกตั้ง และในฐานะพรรครัฐบาล เราจะไม่กลายเป็นพวกติดสินบนเสียเอง” ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่วแอ่นอกประกาศในฐานะผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ทว่าคล้อยหลังไม่กี่วัน ข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมก็โชว์หรา อัยการกำลังสอบสวนคดีซื้อสิทธิ์ขายเสียง ซึ่งมีผู้กล่าวหา 128 คดีในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีท้องถิ่น และผู้ว่าการจังหวัด และอีก 807 คดีในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น

คริสเตียน เชฟเฟอเรอร์ นักรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชาวจีนโพ้นทะเลของไต้หวัน (Taiwan ' s Overseas Chinese University) มองว่า ปัญหาการซื้อเสียงในไต้หวันกำลังเลวร้ายกว่าที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น

ยิ่งในเขตชนบทด้วยแล้ว สถานการณ์ย่ำแย่หนัก เพราะนักการเมืองท้องถิ่นกำลังเสวยสุขจากชื่อเสียงบารมีของตัวเอง และคนพวกนี้ก็มักมีความสนิทสนมกับชาวบ้านผู้ลงคะแนน

“ถ้าในเมืองใหญ่ ๆแล้ว พวกคนหนุ่มสาวจะรับเงินไว้ แต่โหวตให้คน ที่อยากเลือก หรือไม่โหวตให้ใครเลย แต่สำหรับคนสูงอายุในชนบท ก็อาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องบุญคุณต้องทดแทน” นายเชฟเฟอเรอร์เปิดเผย

ประวัติศาสตร์อาจอธิบายปรากฏการณ์ซื้อเสียงบนเกาะไต้หวันได้บางส่วน กล่าวคือผู้มากบารมีในท้องถิ่นมีรากเหง้ามาตั้งแต่เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติในปี 2488 โดยญี่ปุ่นแพ้สงคราม จึงคืนอำนาจการปกครองอาณานิคมไต้หวันมานานถึง 50 ปีให้แก่รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งยังปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ในขณะนั้น

แต่เครือข่ายการปกครองของพรรคก๊กมินตั๋งลงไปไม่ถึงสังคมท้องถิ่นบนเกาะมังกรน้อย จึงมีคนกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่รับอำนาจจากแผ่นดินใหญ่มาปกครองคนในท้องถิ่นอีกทอดหนึ่ง ตระกูลผู้ทรงอิทธิพลเหล่านี้ มีอำนาจครอบงำชุมชนมาหลายชั่วรุ่น โดยให้การคุ้มครองดูแล และให้ข้าวของเครื่องใช้ เพื่อแลกกับการสนับสนุนจากพวกรากหญ้า

แม้จนถึงทุกวันนี้ ครอบครัวผู้ทรงอิทธิพลก็ยังคงความสำคัญในระดับท้องถิ่นมากเสียยิ่งกว่าพรรคการเมืองใหญ่ระดับชาติ อเล็กซานเดอร์ ตัน ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไต้หวันของมหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรีในนิวซีแลนด์ระบุ โดยนักการเมืองท้องถิ่นจะก่อตั้งสำนักงานชุมชนขึ้นมาอย่างมั่นคง ดำเนินงานเหมือนกับบริษัทเอกชน

“พรรคการเมืองก็เหมือนสุนัขตัวใหญ่ หางของมันก็คือนักการเมืองท้องถิ่น และหางก็ทำให้ตัวสุนัขโคลงได้” ตันเปรียบเทียบ

หวัง เยี่ยหลี่ อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันเปิดเผยว่า นักการเมืองทุ่มเงินซื้อเสียงผ่านหัวคะแนนกันตั้งแต่หัวละ 500 ดอลลาร์ไต้หวัน (15 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 459 บาท) ไปจนถึงหลายพันดอลลาร์ไต้หวัน ขึ้นอยู่กับว่าการเลือกตั้งดุเดือดสูสีแค่ไหน

แม้หัวคะแนนถูกฟ้องดำเนินคดีในข้อหาซื้อเสียงมากขึ้น แต่การกวาดล้างอย่างสิ้นซากนั้นเป็นไปได้ยาก ตราบใดที่พรรคการเมืองยังต้องพึ่งนักการเมืองท้องถิ่น เพื่อให้พรรคเป็นที่รู้จักของทุกซอกมุมในสังคม

“พรรคการเมืองใหญ่ต้องเอาอกเอาใจพวกตระกูลในท้องถิ่น ดังนั้น ถ้าพรรคการเมืองจะหันไปมองเสียอีกทางหนึ่ง และทำไม่รู้ไม่ชี้กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องง่ายกว่า” ตันระบุ

“ถ้าพรรคเอบอกว่าต้องการกวาดล้างการซื้อเสียง นักการเมืองท้องถิ่นก็จะถามว่า แล้วพรรคบีล่ะ อยากทำแบบเดียวกับเราไหม?”

ในท้ายที่สุด บรรดานักวิเคราะห์ต่างสรุปตรงกันว่า การซื้อเสียงเป็นสิ่งทำลายระบอบประชาธิปไตย และมักทำให้ผลการเลือกตั้งไม่สะท้อนเสียงที่แท้จริงของประชาชน นับเป็นความจริงแท้อย่างแทบไม่ต้องสงสัย

กำลังโหลดความคิดเห็น