xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำใหม่แห่งไต้หวันเสนอทางสายกลาง ฟื้นสัมพันธ์จีน“ไม่ปฏิเสธซึ่งกันและกัน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซี--ผู้นำจากพรรคก๊กมินตั๋งหม่า อิงจิ่ว ซึ่งพิชิตชัยชนะอย่างลอยลำในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน เผยทิศทางสานสัมพันธ์กับจีนใหญ่ ว่าเขาต้องการข้อตกลง “ไม่ปฏิเสธซึ่งกันและกัน” กับฝ่ายจีน พร้อมกลับสู่โต๊ะเจรจาภายใต้หลักการ “หนึ่งจีน” เพื่อเดินหน้าเชื่อมโยงการค้า การท่องเที่ยว และคมนาคม แต่ไม่มีแผนไปเยือนจีนในเร็วๆนี้

พร้อมกันนี้ หม่ายังได้ย้ำถึงอำนาจปกครองตัวเองของทิเบต พร้อมเปิดประตู “ต้อนรับ” ผู้นำจิตวิญญาณทะไล ลามะ ขณะที่จีนส่งทหารบดขยี้กลุ่มประท้วงทิเบตที่เรียกร้องอิสรภาพในลาซาเมื่อกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา

หม่า อิงจิ่วจากพรรคฝ่ายค้านจีนคณะชาติ หรือกั๋วหมินตั้ง (ก๊กมินตั๋ง) ผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเสาร์(22 มีนาคม) ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 58 ส่วนคู่แข่งจากพรรครัฐบาลประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) เซี่ย ฉางถิง หรือแฟรงค์ เซี่ยนั้น ทำคะแนนได้ร้อยละ 41 รั้งท้ายห่างจากหม่า ถึง 17 จุด

นับเป็นการคืนสู่ทำเนียบของก๊กมินตั๋ง ที่เคยครองทำเนียบผู้นำมาตลอดตั้งแต่แยกทางจากจีน มาจัดตั้งรัฐบาลที่เกาะไต้หวันปี 1949 กระทั่งการเลือกตั้งปี 2000 ได้พ่ายแพ้แก่พรรคดีพีพีของเฉิน สุ่ยเปี่ยน ที่โน้มเอียงสู่อิสรภาพดินแดน

ประมุขแห่งรัฐคนใหม่ของไต้หวันกล่าวต่อที่ประชุมข่าวในวันอาทิตย์ (23 มีนาคม) โดยพุ่งประเด็นไปที่ความสัมพันธ์กับจีน ที่ทุกฝ่ายจับจ้องอย่างใจจดใจจ่อ

หม่ากล่าวว่าเขาสนับสนุนฉันทามติ 1992 ระหว่างจีนและไต้หวัน ภายใต้สัญญาดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายตกลงยอมรับสูตร “หนึ่งจีน” แต่ก็ได้ตกลงการตีความ “อธิปไตย” ตามแบบของใครของมัน ซึ่งหม่าก็ยอมรับว่า อธิปไตยเป็นประเด็นที่ยากที่สุดในศึกขัดแย้งช่องแคบไต้หวัน

หม่ายังชี้ว่าตามนโยบายเก่าของแต่ละฝ่ายนั้น ต่างก็ปฏิเสธสิทธิแต่ละฝ่าย แต่การยอมรับซึ่งกันและกันนั้น เป็นเรื่องที่ไร้คำถามอยู่แล้ว

“การไม่ปฏิเสธซึ่งกันและกัน เป็นทางสายกลาง คือเราจะไม่ปฏิเสธการมีอยู่ของพวกเขา แต่เราไม่อาจยอมรับการอ้างอธิปไตยเหนือไต้หวันของพวกเขา” หม่าอรรถธิบาย

ทั้งนี้ จีนประกาศกร้าวไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตน พร้อมขู่จะใช้กำลังเข้าผนวกดินแดนหากมีสัญญาณสู่อิสรภาพ ซึ่งสร้างภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกแก่พันธมิตรของเกาะคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งยอมรับจีนในทางการทูต และดูจะตัดขาดจากจีนไม่ได้เช่นกัน

สิ่งที่หม่ากล่าวได้เต็มปากเต็มคำในการปรับปรุงสัมพันธ์จีนคือ จะเดินหน้าเชื่อมโยงด้านคมนาคม การท่องเที่ยว และการค้าระหว่างกัน ผลักดันสนธิสัญญาสันติภาพ เพื่อยุติการเป็นปฏิปักษ์ต่อกันมานานนับจากวันที่ผู้นำเจียง ไคเช็คแห่งก๊กมินตั๋ง แพ้สงครามกลางเมืองแก่ผู้นำคอมมิวนิสต์ และมาจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่เกาะไต้หวันปี 1949 ซึ่งตลอดมาทั้งสองตัดขาดการติดต่อกันโดยตรง โดยต้องผ่านประเทศที่สาม

หม่า ซึ่งจะกินตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 พฤษภาคมนั้น ชี้ว่าการกลับมาที่ฉันทามติ 1992 จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเดินหน้าประเด็นเร่งด่วน ที่ง่ายกว่า

“ตอนนี้ เราจะยังไม่พูดถึงอนาคตไต้หวัน อัตลักษณ์ของไต้หวัน จะต้องได้รับความยอมรับนับถือ เราจะเจรจากันอย่างเท่าเทียม” หม่ากล่าวต่อ

ผู้นำใหม่ไต้หวันยังเผยท่าทีเข้าหาจีนอย่างระมัดระวัง บอกว่า “ยังไม่มีแผนไปจีนเร็วๆนี้” เพราะต้องทำงานที่เป็นแก่นสารก่อน จากนั้น จึงจะพิจารณาการเยือนจีนของเจ้าหน้าที่ระดับสูง

พร้อมกันนี้ หม่าได้วิงวอนให้ผู้ออกเสียงเชื่อใจเขา โดยเลือกเขาเป็นผู้นำอีกสมัยใน 4 ปีข้างหน้า “หากพวกคุณให้เวลาผมถึง 8 ปี ก็จะสามารถวางรากฐานสำหรับศตวรรษแห่งความรุ่งโรจน์และสันติภาพได้”

หม่าบอกว่า หะแรก จะเจรจากับจีน ใน 3 ประเด็น ได้แก่ ข้อตกลงความร่วมมือเศรษฐกิจ ข้อตกลงสันติภาพ อันประกอบด้วยมาตรการสร้างความเชื่อมั่นทางทหารเพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่อาจระเบิดขึ้นอย่างกะทันหัน และสถานภาพทางการทูตของไต้หวันบนเวทีโลก ซึ่งหม่ายอมรับว่า มันเป็นแผนที่ทะเยอทะยานมาก และต้องอาศัยเจตนารมย์ที่ดีของแต่ละฝ่าย ซึ่งขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายก็ไม่มีทางเลือกอื่น

ผู้นำสูงสุดจากวอชิงตันและปักกิ่ง ต่างจับตาดูการเลือกตั้งประมุขแห่งรัฐคนใหม่ของไต้หวัน ที่จะขึ้นกุมบังเหียนดินแดนที่เป็นจุดร้อนที่สุดของภูมิภาคเอเชีย

ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชได้ส่งสาสน์ลายลักษณ์อักษร ระบุว่าชัยชนะของหม่า ได้สร้างโอกาสใหม่แก่ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับแผ่นดินใหญ่ โดยจะผลักดันการเกี่ยวพันอย่างสันติ และคลี่คลายความขัดแย้งกัน

รุกเจรจาการค้าเสรีกับแดนลอดช่อง
วันเดียวกัน หม่ายังบอกอีกว่าเขาต้องการกลับสู่การเจรจากับสิงคโปร์ และลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกัน และจะยืดหยุ่นเกี่ยวกับ “ชื่อเรียก” เกาะ

สืบเนื่องจากการเจรจาดังกล่าว ที่เปิดฉากขึ้นในปี 2000 ซึ่งได้ล้มไปช่วงรัฐบาลประธานาธิบดีเฉิน สุยเปี่ยน โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากแรงกดดันจากจีน และส่วนหนึ่งจากข้อพิพาทเรื่องชื่อที่จะอ้างถึงไต้หวัน

ทั้งนี้ ไต้หวันได้จดทะเบียนในดับเบิลยูทีโอ ภายใต้ชื่อ ได้แก่ “ไต้หวัน, เผิงหู, และดินแดนศุลกากรจินเหมิน และมัตสึ”

การเจรจาการค้าเสรีกับแดนลอดช่อง ติดหล่มเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เพราะรัฐบาลเฉิน สุยเปี่ยน ประกาศไม่ยอมรับเจรจาภายใต้ชื่อใดๆ ยกเว้น ไต้หวัน หรือชื่อทางการของเกาะคือ สาธารณรัฐจีน.

อ่านต่อหน้าสอง: เผยภูมิหลังดร.หม่า อิงจิ่ว ผู้จะสร้าวงโอกาสใหม่แก่จุดร้อนเอเชีย

เผยภูมิหลัง “ดร. หม่า อิงจิ่ว” ผู้จะสร้างโอกาสใหม่แก่จุดร้อนเอเชีย

หม่า อิงจิ่ววัย 60 ปี เกิดที่ฮ่องกงเมื่อปีค.ศ. 1950 มีบิดาเป็นชาวอำเภอเซียงถัน มณฑลหูหนัน จบการศึกษาปริญญาตรีด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยไต้หวัน ปริญญาโทกฎหมายจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และปริญญาเอกด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยในระหว่างศึกษาปริญญาเอกนั้น ได้เป็นที่ปรึกษาธนาคาร เครดิตสวิส เฟิร์สท์ บอสตัน จากนั้นได้รับเชิญให้ไปเป็นที่ปรึกษาด้านการวิจัย ของคณะกฎหมายมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์

หม่ากลับมาทำงานเป็นรองหัวหน้าสำนักงานที่หนึ่งในทำเนียบประธานาธิบดี และมีหน้าที่แปลเอกสารให้กับประธานาธิบดีเจี่ยง จิงกั๋ว จนกระทั่งได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในเดือนกุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 1993 และทะยานรุ่งโรจน์สูงสุดในขณะที่เข้าสมัครชิงตำแหน่งพ่อเมืองไทเปในปีค.ศ. 1998 – 2002 และในปี 2005 ก็ยังได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง และดำรงตำแหน่งมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2007

ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯเมืองไทเป หม่าต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆมากมายรุมเร้า อาทิเช่นในปี 2001-2002 ไต้ฝุ่นนารีทำให้รถไฟฟ้าถูกแช่น้ำ เสียหายไปมากกว่าหมื่นล้านเหรียญไต้หวัน ไต้ฝุ่นและน้ำท่วม ยังทำให้ขยะที่ยังไม่ทันได้เผาทำลาย ลอยไปทั่วไต้หวัน จนเกิดเป็นมลพิษไปทั่ว, ปี 2003 โรคซารส์ ระบาด ซ้ำเติมด้วยพายุไต้ฝุ่นพร้อมอุทกภัยในปี 2004 ซึ่งในเวลานั้นแม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่าการรับมือต่อสถานการณ์ฉุกเฉินของหม่ายังทำได้ไม่ดีนัก ทว่าผลงานด้านการปูพรมการคมนาคม ด้วยการเส้นทางรถไฟฟ้า 6 สายเชื่อมต่อโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าเข้าด้วยกัน บวกกับภาพลักษณ์ผู้นำรุ่นใหม่ ที่ใส่ใจกับการออกกำลังกายและศิลปะ ทำให้เขาได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกครั้งในปี2002 - 2006 หลังจากที่หมดวาระการเป็นผู้ว่าฯไทเปสมัยแรก

สิ่งเดียวที่เป็นผลพวงด้านลบจากการเป็นพ่อเมืองไทเปในครั้งนั้นก็คือ การที่ถูกอัยการยื่นฟ้องใน “คดีงบพิเศษ” เมื่อต้นปี 2007 ว่าหม่าอาจมีความผิดในคดีคอร์รัปชั่น 11.7 ล้านเหรียญไต้หวัน โดยหลักฐานที่อัยการใช้ในการระบุว่าหม่าได้เบียดบังงบพิเศษมาเป็นของตนได้แก่ การที่นายหม่า อิงจิ่วที่มีเงินเดือน 145,000 เหรียญไต้หวัน (ราว 174,000 บาท) แต่กลับมีเงินโอนเข้าเป็นประจำให้กับภรรยาคือนางโจว เหม่ยชิงเดือนละ 200,000 เหรียญไต้หวัน (ราว 240,000 บาท) อีกทั้งขณะที่หม่าได้ยื่นรายการบัญชีให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สิน ก็ไม่ได้ระบุว่ามีรายการที่มาจากงบพิเศษอยู่ ซึ่งในบ่ายวันเดียวกัน หม่าได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ ด้วยการยื่นหนังสือลาออกจากตำแน่งหัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง

หลังลาออก หม่าประกาศยืนยันความบริสุทธิ์ในชั้นศาล และจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่จะเลือกตั้งในปี 2008 ซึ่งจนถึงขณะนี้ คดีดังกล่าวได้มีการพิจารณาในศาลชั้นต้น และศาลชั้นกลางแล้ว โดยศาลชั้นกลางได้ตัดสินยืนยันตามศาลชั้นต้นว่าหม่า “ไม่มีเจตนาทำความผิด” และ “งบพิเศษ” นั้น ถือเป็นงบเสริมสำหรับผู้ว่าฯเมืองไทเป จึงถือว่าหม่าไม่มีความผิด.
กำลังโหลดความคิดเห็น