xs
xsm
sm
md
lg

หม่าอิงจิ่ว : สุภาพบุรุษนักเรียนนอกสู่ประธานาธิบดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการออนไลน์ - หลังโพลชุดสุดท้ายก่อนวันตัดสินเก้าอี้ประธานาธิบดีเกาะไต้หวัน ได้ชี้ไปที่หม่า อิงจิ่ว แห่งพรรคฝ่ายค้านจีนคณะชาติ หรือ กั๋วหมินตั๋ง (ก๊กมินตั่ง) นำลิ่ว ทิ้งห่างจากคู่แข่งเซี่ย ฉางถิงแห่งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าหรือดีพีพีของผู้นำเฉิน สุยเปี่ยน ด้วยคะแนนความนิยมร้อยละ 54 ก่อนถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดี 2 สัปดาห์ โดยเซี่ย ฉางถิงหรือ แฟรงค์ เซี่ย แห่งดีพีพี คะแนนตกลงไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 28 ล่าสุดผลการเลือกตั้ง (22 มี.ค.) ปรากฏว่าหม่า อิงจิ่วได้รับการเลือกตั้งมาสู่บัลลังก์ประธานาธิบดีไต้หวันตามคาดหมาย โดยทำคะแนนทิ้งห่างร้อยละ 17

ที่ผ่านมาในการหาเสียง หม่า อิงจิ่ว ได้ลั่นวาจาว่าจะผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตในระดับร้อยละ 6 และลดอัตราว่างงานลงร้อยละ 3 ภายใน 8 ปี และชูธงที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตกสะเก็ดของไต้หวันภายใต้การบริหารงานที่ผิดพลาดไร้ประสิทธิภาพ และภายใต้การนำของเฉิน สุยเปี่ยน ยังเต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งคอร์รัปชั่นด้วยคดีที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมมากกว่า 270 คดี ทำให้ชาวไต้หวันต่างเรียกร้องหารัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลกันอย่างถ้วนหน้า

ผลการเลือกตั้งในไต้หวันครั้งนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากนโยบายความสัมพันธ์ต่อจีนของประธานาธิบดีคนใหม่จะเป็นการชี้วัดว่าชาวไต้หวันต้องการให้ไต้หวันมีทีท่าต่อพี่ใหญ่อย่างจีนอย่างไร และจะเป็นตัวกำหนดว่าความสงบในสองฟากฝั่งและในเอเชียจะเป็นไปในทิศทางไหน

เซี่ย ฉางถิงจากพรรคดีพีพี ที่แม้จะบอกว่าเห็นด้วยกับหม่าในการที่จะมีการเปิดการบินตรงระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน แต่ก็ยังประกาศยืนยันว่าจะใช้ชื่อ “ไต้หวัน” ในการก้าวสู่เวทีนานาชาติโดยอ้างว่าแนวความคิดของเขานั้นเป็นปรัชญาในการอยู่ร่วมกันด้วยความสันติท่ามกลางการรักษาศักดิ์ศรีและสิทธิของไต้หวันเอาไว้ พร้อมเน้นย้ำว่าหากตนได้เป็นประธานาธิบดี ก็มั่นใจว่าจะสามารถป้องกันไม่ให้ไต้หวันถูกรวมไปเป็นส่วนหนึ่งของจีน

แนวทางนี้มองไปแล้วจะเป็นไปในทางเดียวกับประธานาธิบดีเฉิน สุยเปี่ยนที่พยายามรณรงค์เรื่องการประกาศเอกราชของไต้หวัน หรือการใช้ชื่อไต้หวันในการก้าวไปสู่เวทีนานาชาติ ซึ่งแม้ว่าประเด็นนี้จะถูกหลายฝ่ายทั้งในประเทศและจีน รวมถึงต่างประเทศอย่าง สหรัฐฯ สิงคโปร์ติติงแต่เฉินก็ยังคงรักษาท่าทีว่าจะยังเดินหน้าต่อไป

ในขณะที่หม่าอิงจิ่ว ชูประเด็นเชื่อมความสัมพันธ์กับจีน โดยรับรองว่าหากเขาได้รับการเลือกตั้งจะทำให้จีนกับไต้หวันสามารถพัฒนาด้านการค้าต่อกันให้มากขึ้นแล้ว อีกทั้งประกาศจุดยืนเรื่องนโยบายความสัมพันธ์กับจีนว่าจะ “ไม่รวมประเทศ ไม่ประกาศเอกราช และไม่ทำสงคราม” แม้จะมีบางคนมองว่าการประกาศเช่นนี้น่าจะหมายถึงหม่าพร้อมที่จะอยู่ใต้ชายคาของจีนด้วยการปกครองหนึ่งประเทศสองระบบเหมือนกับฮ่องกงและมาเก๊า ทว่าหม่า อิงจิ่วอดีตพ่อเมืองไทเปสองสมัยคนนี้ก็ได้ย้ำชัดว่าจุดยืนของเขาคือการรักษาสภาพที่เป็นอยู่ โดยใช้การเจรจาในการแก้ปัญหา
1 ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้ถูกเซี่ย ฉางถิงโจมตีว่าจะก่อความวุ่นวายและบั่นทอนอธิปไตยไต้หวัน

นอกจากนั้น หม่ายังได้เน้นย้ำอีกว่า “การหารือเรื่องอนาคตของสองฝากฝั่งนั้น ไม่ต้องการและไม่จำเป็นที่จะต้องให้สหรัฐฯเข้ามาข้องเกี่ยว ที่สำคัญก็คือสหรัฐฯเองก็คงไม่อยากเข้าร่วมนัก เพราะไม่เพียงแต่สหรัฐฯจะไม่ได้ประโยชน์อะไร ยังอาจจะทำให้ตัวเองเดือดร้อนไปด้วย ดังนั้นผมรู้สึกว่าสหรัฐฯไม่เหมาะที่จะเข้ามาร่วม และยิ่งไม่ควรให้สหรัฐฯเข้าร่วม เรื่องของไต้หวันพวกเราจะต้องตัดสินใจกันเอาเอง” หม่าระบุ

ที่ผ่านมาหม่า อิงจิ่วได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองคุณภาพคนหนึ่งของไต้หวัน โดยเกิดที่ฮ่องกงเมื่อปีค.ศ. 1950 มีบิดาเป็นชาวอำเภอเซียงถัน มณฑลหูหนัน โดยมีบิดาเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคก๊กมินตั๋ง จบการศึกษาปริญญาตรีด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยไต้หวัน ปริญญาโทกฎหมายจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และปริญญาเอกด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยในระหว่างศึกษาปริญญาเอกนั้น ก็ได้รับงานเป็นที่ปรึกษาให้กับธนาคาร เครดิตสวิส เฟิร์สท์ บอสตัน จากนั้นได้รับเชิญให้ไปเป็นที่ปรึกษาด้านการวิจัย ของคณะกฎหมายมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์

จากนั้นก็ได้กลับมาทำงานเป็นรองหัวหน้าสำนักงานที่หนึ่งในทำเนียบประธานาธิบดี และมีหน้าที่ในการแปลเอกสารให้กับประธานาธิบดีเจี่ยง จิงกั๋ว และได้ไต่เต้าในทางการเมืองขึ้นมาเรื่อยๆจนกระทั่งได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในเดือนก.พ. ปีค.ศ. 1993 และได้รุ่งโรจน์สูงสุดในขณะที่เข้าสมัครชิงตำแหน่งพ่อเมืองไทเป โดยหม่าสามารถชนะเฉิน สุยเปี่ยนในการเลือกตั้งคว้าตำแหน่งดังกล่าวมาได้ในปีค.ศ. 1998 – ค.ศ. 2002 นอกจากนั้นในปี 2005 เขายังได้ได้เอาชนะหวัง จินผิงในรับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋งด้วยคะแนน 375,056 ต่อ 143,268 คะแนน และขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคฯในช่วงเดือนส.ค. ปีค.ศ. 2005 – เดือน ก.พ. ปีค.ศ. 2007

ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯเมืองไทเป หม่าต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆมากมายที่เข้ามารุมเร้าอาทิเช่นในปี 2001 ไต้ฝุ่นนารีได้ทำให้น้ำในแม่น้ำจีหลงเอ่อล้นขึ้นมาจนทำให้รถไฟฟ้าถูกแช่น้ำ เสียหายไปมากกว่าหมื่นล้านเหรียญไต้หวัน ปีค.ศ.2002 ที่ไต้ฝุ่นและน้ำท่วมได้ทำให้ขยะที่ยังไม่ทันได้เผาทำลายลอยไปจนเกิดเป็นมลพิษไปทั่ว ปีค.ศ. 2003 โรคซารส์ ระบาด และพายุไต้ฝุ่นพร้อมอุทกภัยในปีค.ศ. 2004 ซึ่งในเวลานั้นแม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่าการรับมือต่อสถานการณ์ฉุกเฉินของหม่ายังทำได้ไม่ดีนัก ทว่าผลงานด้านการปูพรมการคมนาคม ด้วยการเส้นทางรถไฟฟ้า 6 สายเชื่อมต่อโครงข่าวเส้นทางรถไฟฟ้าเข้าด้วยกัน บวกกับภาพลักษณ์ผู้นำรุ่นใหม่ ที่ใส่ใจกับการออกกำลังกายและศิลปะ ทำให้เขาได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกครั้งในปีค.ศ. 2002 - ค.ศ.2006 หลังจากที่หมดวาระการเป็นผู้ว่าฯไทเปสมัยแรก

สิ่งเดียวที่เป็นผลพวงด้านลบจากการเป็นพ่อเมืองไทเปในครั้งนั้นก็คือ การที่ถูกอัยการยื่นฟ้องใน “คดีงบพิเศษ” เมื่อต้นปี 2007 ว่าหม่า อิงจิ่วอาจมีความผิดในคดีคอร์รัปชั่นในวงเงิน 11.7 ล้านเหรียญไต้หวัน โดยหลักฐานที่อัยการใช้ในการระบุว่าหม่าได้เบียดบังงบพิเศษมาเป็นของตนได้แก่ การที่นายหม่า อิงจิ่วที่มีเงินเดือน 145,000 เหรียญไต้หวัน แต่กลับมีเงินโอนเข้าเป็นประจำให้กับนางโจว เหม่ยชิงเดือนละ 200,000 เหรียญไต้หวัน อีกทั้งขณะที่หม่าได้ยื่นรายการบัญชีให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สิน ก็ไม่ได้ระบุว่ามีรายการที่มาจากงบพิเศษอยู่ ซึ่งในบ่ายวันเดียวกัน หม่าได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ก่อนหน้า ด้วยการยื่นหนังสือลาออกจากตำแน่งหัวหน้าพรรคก๊กหมินตั๋ง โดยในหนังสือลาออกระบุเพียงสั้นๆว่า “หม่า อิงจิ่วขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”

ทว่าหลังจากประกาศลาออกแล้ว แทนที่จะรู้สึกท้อแท้ทอดอาลัย หม่ากลับประกาศว่าตนพร้อมจะยืนยันความบริสุทธิ์ในชั้นศาล และยังเดินหน้าประกาศลั่นว่าจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่จะเลือกตั้งในปี 2008 โดยในวันนั้นมีโพลถึง 66% ที่ให้การสนับสนุน โดยมี 61%ที่เชื่อว่าหม่าบริสุทธิ์

ซึ่งจนถึงขณะนี้ คดีดังกล่าวได้มีการพิจารณาในศาลชั้นต้น และศาลชั้นกลางแล้ว โดยศาลชั้นกลางได้ตัดสินยืนยันตามศาลชั้นต้นว่าหม่า “ไม่มีเจตนาทำความผิด” และ “งบพิเศษ” นั้นถือเป็นงบเสริมสำหรับผู้ว่าฯเมืองไทเป จึงถือว่าหม่าไม่มีความผิด ซึ่งคำตัดสินดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่าเป็นไปตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ เพราะหลังจากการประกาศว่าหม่าไม่มีความผิดของทั้ง 2 ศาล หุ้นไต้หวันก็ดีดตัวทันที 100 กว่าจุดในเวลาไม่กี่นาทีทั้ง 2 ครั้ง

ฉะนั้น สิ่งที่เหลือก็คือจับตาดูต่อไปว่า หลังจากที่หม่าได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ของเขาในตำแหน่ง จะสามารถผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและสังคมกับแผ่นดินใหญ่ และสร้างสันติสุขความรุ่งเรืองให้กับประชาชนไต้หวันได้อย่างที่เขาประกาศไว้ได้จริงหรือไม่?

หม่าอิงจิ่ว (马英九)
วันเกิด : 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1950
สถานที่เกิด : ฮ่องกง
ภูมิลำเนาเดิม : บรรพบุรุษมาจากมณฑลหูหนัน
การศึกษา : ปริญญาเอกด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ
ภรรยา : โจว เหม่ยชิง
บุตร : มีบุตรสาว 2 คน หม่า เหวยจง , หม่า หยวนจง
กีฬา : จ๊อกกิ้ง ว่ายน้ำ

ประวัติการทำงานโดยสังเขป :

ค.ศ.1980- ค.ศ.1981 : ที่ปรึกษาให้กับธนาคาร เครดิตสวิส เฟิร์สท์ บอสตัน
ค.ศ. 1981 : รับเชิญไปเป็นที่ปรึกษาด้านการวิจัย ของคณะกฎหมายมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์
ค.ศ. 1981- ค.ศ.1988 : รองหัวหน้าสำนักงานที่หนึ่งทำเนียบประธานาธิบดี
ค.ศ.1984 - ค.ศ.1988 : รองเลขาธิการกรรมการกลางพรรคก๊กมินตั๋ง
ค.ศ.1988-ค.ศ.1991 : หัวหน้าคณะกรรมการวิจัยพัฒนาและตรวจสอบ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ค.ศ.1991-ค.ศ.1996 : คณะกรรมการว่าด้วยกิจการจีนแผ่นดินใหญ่ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ค.ศ.1191-ค.ศ.1993 : โฆษกคณะกรรมการว่าด้วยกิจการจีนแผ่นดินใหญ่
ค.ศ.1993-ค.ศ.1996 : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ค.ศ.1998-ค.ศ.2002 : ผู้ว่าการกรุงไทเป
ค.ศ.2002-ค.ศ.2006 : ผู้ว่าการกรุงไทเปสมัยที่ 2
ค.ศ.2005-ค.ศ.2007 : หัวหน้าพรรคกั๋วหมินตั่ง (ก๊กมินตั๋ง)
ค.ศ. 2008 - : ประธานาธิบดีไต้หวัน




(1) นสพ.สยามรัฐ คอลัมน์ลมตะวันออก โดยพัดขนนก : หม่าอิงจิ่ว สุภาพบุรุษทางเลือกสันติภาพของไต้หวัน
กำลังโหลดความคิดเห็น