xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจและสัมพันธ์ ‘จีน’-คนไต้หวันคิดหนักขณะไปเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เศรษฐกิจและสัมพันธ์ ‘จีน’-คนไต้หวันคิดหนักขณะไปเลือกตั้ง
โดย ซินดี้ สุย

Economic and strait-talk as Taiwan votes
By Cindy Sui

20/03/2008

ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองคือความกังวลใจใหญ่หลวงที่สุด ขณะที่ไต้หวันมุ่งหน้าไปลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีวันเสาร์นี้ (22) สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างเกาะแห่งนี้กับจีน ยังคงเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งอยู่เหมือนเคย ส่วนเรื่องภูมิหลังทางเชื้อชาติของผู้สมัครทั้งสอง คือ หม่าอิงจิ่ว แห่งพรรคก๊กมิ่นตั๋ง และ แฟรงก์ เซี่ย แห่งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ที่เป็นพรรคครองอำนาจอยู่เวลานี้ ก็เป็นจุดที่มีการถกเถียงกันอย่างขมขื่น


ไทเป – ครอบครัวของ ลิลี่ หวัง กำลังแตกแยกแบ่งครึ่งกันเลย เรื่องควรจะไปลงคะแนนให้ใครในการเลือกตั้งประธานาธิบดีวันเสาร์นี้ (22) เจ้าของโรงแรมที่พักแบบโฮมสเตย์ขนาดเล็กๆ ในเมืองไถหนาน ทางตอนใต้ของไต้หวันผู้นี้กล่าวว่า เธอและสามีจะเลือก หม่าอิงจิ่ว ผู้สมัครของพรรคก๊กมิ่นตั๋ง (เคเอ็มที) ที่เป็นฝ่ายค้าน ขณะที่พ่อแม่ของสามีเธอจะไปหย่อนบัตรเลือก แฟรงก์ เซี่ย ผู้สมัครของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ที่เป็นพรรครัฐบาล

เรื่องแบบนี้ในอดีตต้องถือเป็นเรื่องประหลาดสำหรับเกาะแห่งนี้ ซึ่งคนในครอบครัวมักทำอะไรไปในทางเดียวกัน เมื่อต้องจัดการกับเรื่องราวภายนอกบ้าน

ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์และการเมือง ผู้คนท้องถิ่นที่มาจากครอบครัวซึ่งพำนักอาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่ก่อนปี 1949 ชอบที่จะเรียกตัวเองว่าเป็น ชาวไต้หวันพื้นเมือง ถึงแม้บรรพบุรุษของพวกเขา สืบสาวไปแล้วอาจจะมาจากผืนแผ่นดินใหญ่ ส่วนผู้คนจากครอบครัวซึ่งมาที่นี่ภายหลังพรรคเคเอ็มทีพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองและสูญเสียผืนแผ่นดินใหญ่ให้แก่พวกคอมมิวนิสต์ในปี 1949 ก็จะถูกมองว่าเป็น “ผู้อพยพ” ถึงแม้พวกเขาจำนวนมากถือกำเนิดเกิดที่นี่

ดังนั้น พรรคดีพีพีจึงถูกมองว่าเป็นพรรคซึ่งเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชาวไต้หวันพื้นเมือง ส่วนพรรคเคเอ็มทีก็เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของพวกผู้อพยพ ในอดีตที่ผ่านมาครอบครัวของชาวไต้หวันพื้นเมืองจะโหวตให้ดีพีพี ส่วนครอบครัวของพวกผู้อพยพก็จะสนับสนุนเคเอ็มที

ทว่าเวลานี้กำลังปรากฏมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ผู้คนจากครอบครัวเดียวกันมักจะมีความคิดเห็นแตกต่างกันในเรื่องควรจะเลือกใครเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ซึ่งจะเข้ามาครองตำแหน่งต่อจากเฉินสุยเปี่ยน

ในภาคใต้ของไต้หวัน ซึ่งถือเป็นที่มั่นของพรรคดีพีพี ชาวบ้านชาวเมืองแต่ไหนแต่ไรย่อมต้องโหวตให้ดีพีพี ทว่าพวกเขาจำนวนเพิ่มขึ้นทุกที รวมทั้งหวังด้วย กำลังรวมศูนย์ความสนใจไปที่ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับปากท้องในการเลือกตั้งคราวนี้ ส่วนใหญ่เพราะพวกเขารู้สึกผิดหวังกับช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมาแห่งการปกครองของดีพีพี

“ใน 8 ปีที่ผ่านมา สิ่งต่างๆ มีแต่เลวร้ายลง เราไม่ได้มีผลประโยชน์งอกเงยขึ้นมาเลย ชีวิตลำบากลำบนกันจริงๆ” หวังบอก ครอบครัวของเธอต้องกระเบียดกระเสียรกันมาก เพื่อให้พออยู่ได้จากรายรับเดือนละ 50,000 – 60,000 เอ็นทีดอลลาร์ (ราว 1,613 – 1,935 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ที่พวกเขาทำได้จากกิจการโรงแรมที่พัก

ไม่เหมือนกับการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2000 และ 2004 เมื่อเรื่องไต้หวันแยกตัวเป็นเอกราชจากจีนแผ่นดินใหญ่คือประเด็นสำคัญมาก เวลานี้เรื่องเศรษฐกิจต่างหากเป็นเรื่องที่ครอบงำความคิดขณะที่ประชาชน 23 ล้านคนของเกาะมุ่งหน้าไปลงคะแนนในวันเสาร์นี้

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไต้หวัน ได้เติบโตเชื่องช้าลงจากระดับตัวเลขสองหลักเหลือเพียงหลักเดียวในระยะ 8 ปีที่ผ่านมา รายได้กำลังชะงักงัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อขึ้นสูง และมีความรู้สึกกันว่าไต้หวันถูกทิ้งไว้เบื้องหลังระบบเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกอื่นๆ ถึงแม้ครั้งหนึ่งจะเคยมีฐานะเป็นหนึ่งใน “4 มังกรน้อย” แห่งเอเชีย

ผู้คนในรุ่นอายุน้อยสักหน่อย ต่างกำลังรู้สึกไม่พอใจต่อความพยายามของพรรคดีพีพีที่จะตอกย้ำภูมิหลังครอบครัวของเซี่ยที่เป็นคนไต้หวันพื้นเมือง ขณะที่ภูมิหลังของหม่าผู้เป็นคู่แข่งของเขา เป็นลูกของผู้อพยพหนีสงครามมาจากจีน

“มันเป็นเรื่องงี่เง่าที่จะแบ่งแยกระหว่าง ‘เปิ๋นเสิ่งเหริน’ (คนไต้หวันพื้นเมือง) กับ ‘ว่ายเสิ่งเหริน’ (ผู้อพยพ)” เป็นความเห็นของ เรนี่ หลิน วัย 23 ปี ผู้มาจากครอบครัวชาวไต้หวันที่สืบสาวไปได้ยาวไกล “สิ่งที่พวกเราคนหนุ่มคนสาวสนใจก็คือเรื่องการหางานทำ เพื่อนดิฉันหลายๆ คนที่จบปริญญาตรีแต่ก็ยังหางานทำไม่ได้”

ทว่าการเมืองของเกาะแห่งนี้ มีความสลับซับซ้อนยิ่งกว่านั้นมากมายนัก

ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับศัตรูตัวฉกาจอย่างจีน ยังคงเป็นเรื่องน่าวิตกสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับผู้ออกเสียงจำนวนมาก เช่นเดียวกับความหวั่นกลัวการครอบงำโดยพรรคการเมืองพรรคเดียว ซึ่งก็คือเคเอ็มที ที่ชนะได้ที่นั่งในรัฐสภาไปเกือบสามในสี่ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นอกจากนั้น สำหรับผู้คนจำนวนมากทีเดียว ภูมิหลังครอบครัวและอัตลักษณ์ของผู้สมัครก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่จะส่งอิทธิพลต่อการลงคะแนนของผู้ออกเสียง

ผู้สนับสนุนพรรคดีพีพีจำนวนมากรู้สึกว่า ปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ที่ไต้หวันกำลังประสบอยู่นั้น ไม่สามารถโทษคณะรัฐบาลของดีพีพีได้ และพวกเขายังข้องใจว่าข้อเสนอของหม่าที่จะผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับจีน อันรวมถึงการจัดตั้งเป็นตลาดร่วมขึ้นมากับฝ่ายแผ่นดินใหญ่นั้น จะเป็นประโยชน์ต่อไต้หวันอย่างแท้จริงหรือ บางคนกลัวว่าเรื่องนี้รังแต่จะทำให้คนงานและผลิตภัณฑ์ของจีนทะลักท่วมเข้ามาเท่านั้น

พวกเขายังหวาดเกรงและคัดค้านการปกครองของจีนอีกด้วย การปราบปรามของปักกิ่งต่อผู้ประท้วงชาวทิเบตในระยะไม่กี่วันที่ผ่านมายิ่งเติมเชื้อให้แก่ความกลัวดังกล่าว

“บริษัทไต้หวันจำนวนมากเลยโยกย้ายไปยังจีนในระยะไม่กี่ปีนี้ ... ไม่มีประเทศไหนอดทนต่อเรื่องอย่างนี้ได้หรอก” เป็นความเห็นของเฉินเติ้นเจียง นักธุรกิจชาวไทเปผู้หนึ่งซึ่งได้ไปลงทุนและสูญเงินในจีน “ไต้หวันต้องมีวิถีทางของตัวเอง ไม่ใช่พึ่งพาอยู่แต่กับจีน เป็นเวลา 50 ปีแล้วที่ไต้หวันทำสิ่งต่างๆ ได้ดีมาก จนกระทั่งเมื่อไต้หวันต้องการเข้าไปและช่วย (ลงทุนใน) จีนนั่นแหละ ที่สิ่งต่างๆ กลายเป็นย่ำแย่ไปหมด”

ผู้คนรุ่นที่อายุมากๆ หน่อย อย่างเช่นพ่อแม่สามีของหวัง ซึ่งบรรพบุรุษมาอยู่ที่ไต้หวันหลายร้อยปีแล้ว ยังคงรู้สึกไม่ไว้วางใจพรรคเคเอ็มที

“พ่อแม่สามีของดิฉันนะ พวกเขาไม่สนใจหรอกว่าพรรคดีพีพีทำงานได้ดีหรือเปล่า พวกเขาลงคะแนนให้ดีพีพีก็เพราะพวกเขารู้สึกว่าดีพีพีคือคนไต้หวัน” หวังบอก

ประชากรบนเกาะแห่งนี้ราว 80% เป็นคนไต้หวันพื้นเมือง ครอบครัวของหม่าอพยพออกมาจากจีนก็เพราะสงคราม ตัวเขาเกิดที่ฮ่องกงและพ่อแม่นำตัวมาอยู่ไต้หวันเมื่อเขาอายุได้ 1 ขวบ ทัศนะที่มองหม่าว่าเป็นคนนอก ดูจะไม่ได้จำกัดเฉพาะพวกคนรุ่นอายุมากๆ เลย

“ผมไม่รู้สึกว่าหม่าเป็นคนไต้หวันที่แท้จริง” เป็นความเห็นของ สตีฟ หลี่ ผู้จัดการวัย 30 ปลายๆ ซึ่งทำงานในบริษัทไฮเทคแห่งหนึ่ง “เขาไม่ได้เริ่มต้นเรียนรู้ภาษาท้องถิ่นของคนไต้หวัน จนเมื่ออายุ 40 ปีแล้ว ดังนั้นเขาน่าที่จะไม่มีเพื่อนฝูงชาวไต้หวันเอาเลยจนกระทั่งถึงตอนนั้น ซึ่งก็เป็นตอนที่เขาเริ่มที่จะมีความมุ่งหวังทางการเมืองแล้ว”

ไม่ว่าเรื่องนี้จะจริงหรือไม่ แต่ทัศนะเช่นนี้ก็ยังคงพบเห็นได้ทั่วไปในหมู่ประชาชนชาวไต้หวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ยังคงโกรธเกรี้ยวต่อการที่พรรคเคเอ็มทีให้การปฏิบัติอย่างเป็นพิเศษต่อผู้ที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ อาทิ การได้ที่พักอาศัยฟรี และการได้ค่าจ้างโดยถือว่ารับราชการทหารมา ตลอดจนได้โอกาสมากกว่าในการทำงาน พรรคเคเอ็มทียังห้ามประชาชนไม่ให้พูดภาษาท้องถิ่นไต้หวันพื้นเมืองในโรงเรียนและในที่ทำงาน ระหว่างที่ปกครองไต้หวันอยู่ราวครึ่งศตวรรษ พรรคเคเอ็มทีเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ถึงแม้ในระหว่างนั้นพวกผู้นำของพรรคนี้ก็สามารถควบคุมให้เกาะแห่งนี้เปลี่ยนผ่านไปสู่การมีระบบเศรษฐกิจอันทรงอำนาจได้ด้วย ผลที่ติดตามมาก็คือ ความกลัวเรื่องถูกครอบงำโดยพรรคเดียว ยังคงเป็นความรู้สึกที่แรงกล้ามาก

พรรคเคเอ็มทีชนะกวาดที่นั่งเกือบสามในสี่ในรัฐสภาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 12 มกราคม และถึงแม้พรรคของหม่าเฉลิมฉลองผลลัพธ์นี้โดยถือเป็นชัยชนะ ทว่าตัวหม่าเองกลับมีใบหน้าเคร่งขรึม เพราะวิตกว่ามันอาจจะกระทบกระเทือนสร้างความเสียหายต่อโอกาสของตัวเขาเอง

ผู้เออกเสียงที่นิยมพรรคดีพีพีจำนวนมาก อย่างเช่น หลี่ ต่างมีความเจ็บปวดผิดหวังจากการทุจริตคอร์รัปชั่นในดีพีพีซึ่งพวกเขาเคยหวังเอาไว้ว่าจะมือสะอาดมากกว่าเคเอ็มที และพากันถอยห่างไม่ไปลงคะแนนในการเลือกตั้งรัฐสภา ทว่าจำนวนมากเลยรวมทั้งหลี่ด้วย จะออกไปใช้สิทธิในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

“หม่าอาจจะเป็นคนดี แต่ผมไม่เชื่อว่าเขาสามารถควบคุมพรรคของเขาได้หรอก” ดอริส หลิว ซึ่งเป็นชาวไต้หวันพื้นเมืองอีกคนหนึ่งกล่าวย้ำ

หม่า ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และตอนดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครไทเปก็มีชื่อเสียงว่าเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต มีคะแนนนำหน้าคู่แข่งของเขาคือ เซี่ย ผู้เป็นอดีตทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและเคยเป็นนายกเทศมนตรีนครเกาสง ที่เป็นเมืองใหญ่อันดับสองของไต้หวัน อยู่มากมายถึง 20% ทีเดียว ตามผลสำรวจความคิดเห็นหลายๆ ครั้ง อย่างไรก็ตาม ช่วงห่างนี้ได้แคบลงจนเหลือแค่ตัวเลขหลักเดียวแล้วในไม่กี่วันที่ผ่านมา ทั้งนี้ตามข้อมูลของฝ่ายดีพีพี แต่ผลสำรวจความคิดเห็นในไต้หวันนั้นบ่อยครั้งทีเดียวเชื่อถือไม่ค่อยได้

หม่าเรียกร้องสนับสนุนให้มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับจีน รวมถึงการเปิดเที่ยวบินตรงเป็นประจำและการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวแผ่นดินใหญ่เยือนไต้หวัน เรื่องเหล่านี้เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ออกเสียงซึ่งเกิดความหวั่นใจต่อถ้อยคำโวหารต่อต้านจีนของเฉินสุยเปี่ยนประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งอยู่ทั้งสองสมัย อันเป็นยุทธศาสตร์ซึ่งถูกมองอย่างกว้างขวางว่ากำลังทำให้เกาะแห่งนี้โดดเดี่ยว และสูญเสียโอกาสที่จะได้ผลประโยชน์จากการเฟื่องฟูของเศรษฐกิจจีน

แม้กระทั่งเซี่ยก็ยังถอยห่างจากหลักนโยบายแต่ไหนแต่ไรมาของพรรคดีพีพีที่หนุนหลังการเป็นเอกราชของไต้หวัน เขาให้สัญญาที่จะสร้างสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งมากขึ้นกับจีน, พูดแบบเดียวกับหม่าในเรื่องที่จะให้มีเที่ยวบินตรงเป็นประจำ และผ่อนคลายระเบียบข้อบังคับที่จำกัดการลงทุนของคนไต้หวันในจีน ถึงแม้จะทำด้วยฝีก้าวที่ช้ากว่าข้อเสนอของหม่า

ระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ จีนได้กลายเป็นตลาดสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของไต้หวัน โดยล้ำหน้าแม้กระทั่งสหรัฐฯ จีนยังเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของไต้หวันในเรื่องการไปลงทุนโดยตรงในต่างแดน

เปรียบเทียบกับเมื่อ 8 ปีก่อน ตอนที่พรรคดีพีพีขึ้นสู่อำนาจครั้งแรก เวลานี้เรื่องอธิปไตยและการเป็นเอกราชกลายเป็นเรื่องรองตามหลังความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไปเสียแล้ว แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าคนไต้หวันต้องการรวมชาติกับจีน พวกนักวิเคราะห์และผู้ออกเสียงพากันชี้

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ อิสรภาพ, เสรีภาพ, ประชาธิปไตย นั่นเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด เราไม่ได้ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของจีน” เป็นคำกล่าวของชายชาวไต้หวันคนหนึ่งซึ่งออกมาร่วมเดินขบวนเพื่อรณรงค์สนับสนุนเซี่ย เมื่อวันที่ 16 มีนาคม

ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เฉินได้ผลักดันเพื่อให้การแยกตัวเป็นเอกราชจากจีนมีความมั่นคงเหนียวแน่นยิ่งขึ้น ทว่ามันก็ไม่ได้ผลอะไร มิหนำซ้ำยังบั่นทอนความสัมพันธ์อันสำคัญมากที่ไต้หวันมีกับสหรัฐฯด้วย เวลานี้ผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังข้องใจกันว่าการกระทำเช่นนั้นจะมีประโยชน์อะไร

“แน่นอนเราต้องการให้ไต้หวันยังคงเป็นเอกราชอยู่ แต่ไต้หวันสามารถเป็นเอกราชได้จริงๆ หรือ” หวังเจ้าของโรงแรมโฮมสเตย์แห่งเมืองไถหนานกล่าว “เรื่องสำคัญที่สุดสำหรับดิฉันก็คือมันจะช่วยเหลือดิฉันในทางเศรษฐกิจหรือเปล่า ดิฉันจะหาเงินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวได้หรือไม่ และตอนนี้เป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมแล้วหรือ”

ผลการสำรวจส่วนใหญ่ต่างชี้ออกมาว่า ประชาชนชาวไต้หวันส่วนข้างมากต้องการรักษาสถานะเดิม

“พวกเขาไม่ต้องการการรวมชาติ แต่พวกเขาก็ไม่รู้ว่าพวกเขาต้องการเอกราชหรือเปล่า พวกเขายังไม่รู้ชัดเจนในขณะนี้” โค่วเจียเหวิน รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเนชั่นแนล เจิ้งจื้อ ให้ความเห็น “ถ้าจีนกลายเป็นประชาธิปไตย ถึงตอนนั้นประชามติก็อาจเปลี่ยนแปลงไป หรือถ้าสถานการณ์ในจีนเกิดไม่มีเสถียรภาพ ถึงตอนนั้นประชาชนไต้หวันจำนวนมากขึ้นก็จะสนับสนุนการเป็นเอกราช”

พวกนักวิเคราะห์บอกว่าไม่ว่าผู้สมัครคนไหนชนะก็ตาม ก็ไม่จำเป็นที่จะนำมาซึ่งความสัมพันธ์อันหวานชื่นมากขึ้นระหว่างปักกิ่งกับไทเป ถึงแม้ว่าอย่างไรเสียความตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายน่าจะผ่อนคลายลง

ทั้งหม่าและเซี่ยต่างเรียกร้องให้มีสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดมากขึ้นกับจีน แต่ผู้สมัครทั้งสองก็ได้วิพากษ์วิจารณ์ปักกิ่งในระยะไม่กี่วันที่ผานมา ในเรื่องการปราบปรามทิเบต และเรื่องที่ปักกิ่งคัดค้านการจัดลงประชามติ 2 ครั้งเพื่อให้ไต้หวันได้เป็นสมาชิกสหประชาชาติ

หม่าซึ่งถูกมองว่าฝักใฝ่จีนมากกว่าเซี่ย ยังประกาศด้วยว่าจะไม่เข้าร่วมในการพูดจาเพื่อรวมชาติกับจีน ไต้หวันนั้นมีการปกครองที่แยกต่างหากจากจีนแผ่นดินใหญ่นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามกลางเมืองในปี 1949 อย่างไรก็ตาม ปักกิ่งยังคงมองเกาะแห่งนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งดินแดนของตน และข่มขู่คุกคามที่จะรวมชาติด้วยกำลัง หากไต้หวันประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ

“ผมคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองช่องแคบไต้หวันจะกระเตื้องดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นหม่าหรือเซี่ยขึ้นครองอำนาจ แต่มันน่าที่จะกระเตื้องดีขึ้นเร็วกว่าถ้าอยู่ใต้การนำของหม่า” โจเซฟ ฟิวสมิธ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนแห่งมหาวิทยาลัยบอสตัน แสดงทัศนะ “ทว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนก็มีเรื่องที่ต้องวิตกเกี่ยวกับหม่าเช่นกัน พวกเขาคิดว่าเขาเป็นคนฉลาดหลักแหลมมาก และจะผลักดันพวกเขาอย่างหนักในประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและอื่นๆ สาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถติดต่อกับเซี่ยได้เช่นกัน ถึงแม้พวกเขาคงจะต้องเล่นเอาเถิดกับประเด็นเรื่อง ‘จีนเดียว’ แต่ก็น่าจะตกลงกันได้ถ้าทั้งสองฝ่ายมีเจตนารมณ์ ... มองจากจุดยืนของสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว ช่วงที่เลวร้ายที่สุดได้จบสิ้นลงแล้ว”

บางทีแง่มุมอันโดดเด่นที่สุดแง่มุมหนึ่งของการเลือกตั้งในไต้หวันคราวนี้ก็คือ หม่าพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งในการโต้วาทีระหว่างการรณรงค์ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และในวาระอื่นๆ ด้วย ว่าเขาเป็นคนไต้หวัน ซึ่งต้องถือเป็นเรื่องผิดธรรมดาที่ผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีของประเทศหนึ่งประเทศใดจะทำอย่างนั้น

“ผมโตขึ้นมาโดยกินอาหารไต้หวัน กินน้ำไต้หวัน ... ผมเป็นคนไต้หวัน” หม่าพูดระหว่างโต้วาทีกับเซี่ย โดยมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ทั่วประเทศ “ผมมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อดินแดนแห่งนี้และประชาชนของดินแดนแห่งนี้”

หากหม่าได้รับเลือกตั้ง เขาจะเป็นประธานาธิบดีจากพรรคเคเอ็มทีคนแรกภายหลังจากพรรคดีพีพียุติช่วงเวลาครึ่งศตวรรษแห่งการปกครองของเคเอ็มที ด้วยการชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2000 และมันก็จะเป็นครั้งแรกที่คนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นชาวไต้หวันที่อยู่ดินแดนนี้มายาวนาน เลือกประธานาธิบดีผู้ที่มิได้เป็นชาวไต้หวันพื้นเมือง หากแต่เป็น “ว่ายเสิ่งเหริน” หรือคนส่วนน้อยผู้อพยพ สำหรับนักวิเคราะห์การเมืองเฉกเช่นโค่วแล้ว มันจะเป็นสัญญาณของความก้าวหน้าในการก้าวเดินสู่ประชาธิปไตยของไต้หวัน

“ปัญหาใหญ่ที่สุดของประชาธิปไตยของไต้หวันก็คือปัญหาเรื่องเชื้อชาติ ปัญหาที่เกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ออกเสียงบางคนเป็นห่วงเรื่องเชื้อชาติของผู้สมัครมากกว่าเรื่องอื่นๆ มากกว่าเรื่องที่ว่าเขาจะทำงานได้ดีหรือไม่” โค่วอธิบายแจกแจง “ถ้าหม่าได้รับเลือกตั้ง มันก็หมายความว่าผู้ออกเสียงไม่สนใจว่าคุณมาจากไหนอีกต่อไปแล้ว คุณจะยังคงมีโอกาสตราบเท่าที่คุณทำงานได้ดี หาไม่คุณก็จะถูกลงคะแนนขับไล่ไปในเวลา 4 ปี นี่ต้องถือเป็นการกระเตื้องดีขึ้นนะ”

ทว่าชาวบ้านธรรมดาบางคนดูจะมองโลกไม่สดใสเท่านี้หรอก

“ถ้าหม่าได้รับเลือกตั้ง มันก็จะยังมีการทุจริตคอร์รัปชั่นในบรรดาพวก ส.ส.เคเอ็มที หม่าไม่สามารถควบคุมเรื่องนี้ได้หรอก” เป็นความเห็นของสีว์เหวินซาน ชาวเมืองไทเปผู้หนึ่ง

อีกความเห็นหนึ่งซึ่งมองในแง่มืดมนพอๆ กันในเรื่องเกี่ยวกับระบบการเมืองของไต้หวัน “สิ่งที่ไต้หวันมีนะยังไม่ใช่ประชาธิปไตยที่สุกงอมโตเต็มที่หรอก เรายังไม่ได้มีระบบศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระและคุณภาพสูงส่งเลย”

ซินดี้ สุย เป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระซึ่งพำนักอยู่ในไทเป
กำลังโหลดความคิดเห็น