xs
xsm
sm
md
lg

ฆาตกรรม(ไม่)ต่อเนื่อง-ใครฆ่าใคร ตอนที่ 12 ทำไมต้องฆ่ากวีหลังค่อม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

จากบทประพันธ์ของ Ango Sakaguchi (1906-1955)
ปรมาจารย์แห่งความลึกลับของฆาตกรรมปริศนา
แปลและเรียบเรียงโดย ฉวีวงศ์

สงครามเพิ่งสงบ สังคมนครหลวงสมัยโชวะพยายามดิ้นรนกลับสู่ยุคทองในอดีตที่ไม่ใช่ว่าไกลโพ้น
ไม่เคยมีเสียดีกว่า ต้องสูญเสียไปแล้วอยากได้คืน...

คดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นสามคืนซ้อนทำเอาทุกคนแม้แต่ผู้ชายอย่างพวกเราก็ยังหวาดกลัวตัวสั่นไปตาม ๆ กัน ปิดหน้าต่าง ล็อกกุญแจประตูห้องแน่นหนา เท่านั้นยังไม่พอพวกประสาทอ่อนขี้กลัวจนขึ้นสมองคิดหาวิธีป้องกันตัวต่าง ๆ นา ๆ แล้วแต่จะคิดกันไป อย่างเอาเชือกมาล่ามประตูไว้กับเตียงเผื่อว่าถูกจู่โจมจะได้ไหวตัวทัน ปิก้านอนห้องญี่ปุ่นจึงแย่กว่าเพื่อนเพราะล็อกประตูไม่ได้ บ่นอุบว่านอนไม่หลับตลอดคืนเลยต้องนอนกลางวันแทน

ผมรู้ว่าดอกเตอร์โคเซกำลังวัดระยะเวลาที่ใช้ในการเดินจากเชิงตะกอนมาถึงประตูหลังคฤหาสน์อย่างละเอียดมาก เห็นถือนาฬิกาจับเวลาเดินกลับไปกลับมาบนเส้นทางเดียวกันนั้นวันละหลายเที่ยวติดต่อกันมาห้าวันแล้ว วันหนึ่งผมตามไปดูด้วย

“ถ้าเดินตามธรรมดาจะใช้เวลาราวสี่สิบถึงสี่สิบห้านาที แต่เห็นทางเล็ก ๆ ตรงนั้นไหมครับ”

ตรงที่ดอกเตอร์ชี้ให้ผมดูนั้นอยู่เกือบกึ่งกลางของทางจากเชิงตะกอนไปยังประตูหลังของคฤหาสน์ และเมื่อมองตามไปก็เห็นทางเล็ก ๆ ตัดเลียบลำธารลงไปยังก้นหุบเขา ทางนั้นแคบมากราวฟุตหนึ่งเห็นจะได้ซึ่งถ้าไม่สังเกตก็จะไม่เห็น เราเดินตามกันลงไปที่ก้นหุบเขา อาศัยโขดหินที่ระเกะระกะอยู่เป็นสะพานข้ามไปอีกฟากหนึ่ง แล้วบุกเข้าไปในป่ารกชัฏที่แทบจะหาทางเดินไม่เจอ

ผมเดินตามหลังดอกเตอร์โคเซที่เดินแหวกพงหญ้าเดินนำไปบนทางเล็ก ๆ นั้นจนไปถึงจุดหนึ่ง ผมหยุดชะงักแทบจะร้องอุทานออกมาดัง ๆ ด้วยความประหลาดใจ เพราะที่เห็นอยู่ตรงหน้าคือศาลเจ้ามิวะ

ทางที่เราสองคนเดินมานั้นคือทางเดินตัดผ่านป่าทึบมาออกที่ด้านข้างของศาลเจ้ามิวะนั่นเอง

“รู้แล้ว” ผมลืมตัวร้องเสียงดังลั่น “อย่างนี้นี่เอง ฆาตกรใช้ทางนี้เป็นทางลัดไปฆ่าคุณชิงุซะ พอฆ่าเสร็จก็กลับคฤหาสน์โดยประวิงเวลาไว้ปล่อยให้นายอุสึมิซึ่งมาถึงที่หลังจากอีกทางหนึ่งล่วงหน้าไปก่อน ไม่ใช่ซิ ฆาตกรอาจพบกับนายอุสึมิเข้าอย่างจังที่นี่แต่ก็ทำหน้าไม่รู้ไม่ชี้เอาไว้ก่อนก็ได้ นั่นเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะฆ่านายอุสึมิเสียเพื่อกลบเกลื่อนข้อสงสัยนะดอกเตอร์”

“ถ้าอย่างนั้น ก็ฆ่านายอุสึมิเสียที่นี่อีกคนให้มันรู้แล้วรู้รอดไปไม่ดีกว่าหรือครับเซ็นเซ” ดอกเตอร์ยิ้มอย่างมีเลศนัยก่อนพูดต่อไปว่า “ฆาตกรจะมาทางนี้หรือเปล่าผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่การค้นพบทางนี้จะทำให้นายมิยาเกะ นายทังโงะ และเซ็นเซตกเป็นผู้ต้องสงสัยนะครับ ทำไมมันถึงได้สับสนให้ปวดหัวได้ถึงขนาดนี้นะ”

ถ้ามองจากผลการสำรวจของดอกเตอร์ คนธรรมดาอย่างเรา ๆ ใช้เวลาเดินจากเชิงตะกอนมาถึงประตูหลังของคฤหาสน์ประมาณสี่สิบถึงสี่สิบห้านาที และรถลากด้วยฝีเท้าของสองหนุ่มชาวบ้านซึ่งเร็วกว่าอาจมาถึงภายในไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ส่วนเวลาที่ใช้ในการเดินไปและกลับจากศาลเจ้ามิวะด้วยฝีเท้าของนายอุสึมิกวีหลังค่อมน่าจะราวยี่สิบห้านาทีหรือครึ่งชั่วโมง ปิก้ามาถึงคฤหาสน์ราวหกโมงห้าสิบนาทีหรือทุ่มหนึ่ง นายอุสึมิกลับมาหลังจากนั้นห้าหรือสิบนาทีซึ่งเกือบไม่มีเวลาอยู่กับคุณชิงุซะที่เป็นคู่นัด อาจคิดได้ว่าตอนที่นายอุสึมิไปถึงศาลเจ้าที่นัดพบนั้นคุณชิงุซะถูกฆ่าตายไปแล้ว และพอไม่พบคู่นัดกวีหลังค่อมก็คงเข้าใจผิดนึกว่าคุณชิงุซะไม่มาก็เลยกลับคฤหาสน์ หากได้พบกับคุณชิงุซะนายอุสึมิก็ต้องกลับมาช้ากว่านั้นหรือไม่ก็กลับมาด้วยกัน

“ตำรวจพบกระดาษเขียนคำนัดพบที่นางพยาบาลโมโรอิบอกว่านางได้อ่านหรือเปล่า”

“ก็เห็นค้นข้าวของส่วนตัวของคุณชิงุซะกันอย่างละเอียด แต่รู้สึกว่าจะไม่เจอ”

ผมไม่ถูกชะตากับนางพยาบาลคนนี้เลยจริง ๆ สำคัญตนผิดว่าคิดฝังหัวว่าตนเองฉลาดปราดเปรื่องกว่าคนอื่น ก็เลยวางท่าเย่อหยิ่งไม่เห็นหัวคน เรื่องการนัดพบของสองคนนี่ก็เหมือนกัน ผมคิดว่าทั้งหมดเป็นการเล่นละครหรือไม่ก็เป็นกลอุบายอะไรสักอย่างหนึ่งของนาง จนกระทั่งคุณนายอายากะไม่บอกว่าเธอเป็นคนรับฝากกระดาษแผ่นนั้นมาจากนายอุสึมิ และวานให้นางเอาไปให้คุณชิงุซะ

ผมขอถือโอกาสพูดถึงเรื่องมอร์ฟีนเอาไว้ตรงนี้ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานพบมอร์ฟีนซึ่งเป็นยาที่อยู่ในการควบคุมของทางการอยู่ในเหยือกกับแก้วน้ำข้างหมอนของคุณทามาโอะผู้ถูกลอบสังหาร ผมรู้มาว่าโรงพยาบาลของหมอเก็บรักษามอร์ฟีนเอาไว้เป็นความลับไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหน และท่านอุตางาวะเป็นคนติดมอร์ฟีนที่คฤหาสน์แห่งนี้จึงมีมอร์ฟีนซุกซ่อนอยู่เสมอ

วันหนึ่งท่านผู้เฒ่าเชิญผมกับดอกเตอร์โคเซไปพบที่ห้องเขียนหนังสือ ท่านชวนคุยถึงเรื่องต่าง ๆ จนพาดพิงไปถึงเหตุฆาตกรรม พอดีนางพยาบาลโมโรอิอยู่ที่นั่นด้วยเพื่อคอยฉีดวิตามินให้ท่านตามเวลา ผมก็เลยแขวะเข้าให้ว่า

“คุณพยาบาลเป็นคนสุดท้ายที่อยู่กับคุณหนูทามาโอะ แล้วยังเป็นคนใส่มอร์ฟีนลงในแก้วและเหยือกน้ำที่ข้างหมอนคุณหนูด้วย ถ้าพูดกันในแนวนิยายนักสืบสมัยนี้แล้วละก็ คงไม่มีใครเขียนเรื่องบ้า ๆ อย่างให้นางพยาบาลที่หามอร์ฟีนได้ ง่าย ๆ ใช้มันฆ่าคนโดยทิ้งหลักฐานเอาไว้ให้มัดตัวเองอย่างนั้น แต่ก็ไม่แน่อาจเป็นเพราะฆาตกรเป็นคนที่รู้จุดอ่อนของมนุษย์เราดีก็เลยซ้อนกลเข้าให้ คือตั้งใจทิ้งหลักฐานที่ทำให้ตัวเองถูกสงสัยง่ายเกินไปเอาไว้ เพื่อที่ใคร ๆ จะได้คิดว่าไม่ใช่หรอกฆาตกรบ้าที่ไหนจะทิ้งหลักฐานไว้โจ่งแจ้งอย่างนั้น จะว่าไปคุณพยาบาลก็เป็นคนฉลาดถึงขั้นที่เรียกได้ว่าอัจฉริยะคนหนึ่ง ผมก็เลยคิดว่าบางที...ขอโทษนะครับถ้าพูดอะไรเป็นการล่วงเกินไปบ้าง นักประพันธ์ไส้แห้งอย่างผมเวลาเจอกับสุภาพสตรีที่ฉลาดล้ำลึกอย่างคุณ ก็อดที่จะวาดภาพปริศนาไปต่าง ๆ นานาไม่ได้”

ผมพูดกับเธออย่างสุภาพแต่แดกดันเงียบ ๆ อยู่ในใจ ระยะนี้ในบรรดาแขกที่มาพักอยู่ในคฤหาสน์เวลาเจอหน้ากันจะทักกันว่า...คุณเป็นฆาตกรไม่ใช่รึมาลอยนวลอยู่ได้ไง...โดยคนที่เอ่ยปากทักก่อนจะทำท่าเหมือนตัวเองเป็นคนบริสุทธิ์

นางพยาบาลโมโรอิชายตามาทางผมแล้วพูดขึ้นว่า

“คุณยาชิโระดูเหมือนจะกลับจากเชิงตะกอนช้ากว่าใคร ๆ แล้วก็กลับมาคนเดียวด้วยนะคะ”


“จริงด้วย แต่คุณโมโรอิครับ ผมพิจารณารูปร่างท่าทางของคุณแล้วดูเป็นคนสมาร์ทมาก ร่างกายก็แข็งแรงน่าจะมีกำลังพอ ๆ กับผู้ชายตัวเล็กคนหนึ่งละมัง” ดอกเตอร์พูดยิ้ม ๆ แล้วเสริมว่า “เท่าที่เห็นฆาตกรจะทิ้งอะไรไว้อย่างหนึ่งไว้เป็นปริศนา ให้งงกันเล่น ๆ อย่างกรณีของนายวานิทิ้งลูกกระพรวนที่ติดรองเท้าแตะเอาไว้ กรณีของคุณหนูทามาโอะก็ทิ้งมอร์ฟีนไว้ในแก้วและเหยือกน้ำ แต่กรณีของคุณชิงุซะกับคุณอุสึมิไม่เห็นมีอะไรที่เป็นปริศนาอย่างนั้นสักอย่าง”

ท่านอุตางาวะสอดขึ้น

“น่าสนใจมากดอกเตอร์ ช่างจับตาสังเกตได้แหลมคมมาก”

“ก็ไม่ถึงขนาดนั้นหรอกครับท่าน” ดอกเตอร์โคเซออกตัวเขิน ๆ “ตาเรายิ่งดีแค่ไหนก็ยิ่งถูกตบตาได้ง่าย เจ้าตัวอาจจะภูมิใจครับแต่มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย วงการวรรณศิลป์ก็เหมือนกันจริงไหมครับยาชิโระเซ็นเซ”

“การเมืองก็เหมือนกันแหละคุณ ว่าก็ว่าเถอะ...ดอกเตอร์โคเซ คุณคิดไหมว่าฆาตกรรมทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากแผนการที่คนร้ายวางเอาไว้อย่างแยบยลมาก แต่ที่ฉันสงสัยอยู่อย่างหนึ่งก็คือกรณีของนายอุสึมิ คือทำไมฆาตกรต้องเสี่ยงเข้าไปฆ่าเขาทั้ง ๆ ที่นายปิก้านั่งอยู่ตรงระเบียงที่จะเห็นใครผ่านไปมาได้หมด บางทีอาจมีความจำเป็นอะไรสักอย่างที่ทำให้ต้องฆ่าวันนั้น ฉันคิดว่าถ้าไขปริศนานี้ได้เราก็จะพบช่องทางเข้าสู่การคลี่คลายคดีทั้งหมด คุณสองคนคิดยังไง”

“ท่านมีความคิดเกี่ยวกับปริศนาที่ว่านี้ยังไงครับ” ผมย้อนถามแต่ท่านอุตางาวะไม่ตอบว่ากระไร ก็เลยพูดต่อไปว่า “ผมคิดว่าที่นายอุสึมิถูกฆ่าคงเป็นเพราะเขาพบกับฆาตกรครับ ตอนที่พบกันนั้นนายอุสึมิยังไม่รู้ว่าคุณชิงุซะถูกฆ่าก็เลยยังไม่สงสัยว่าคน ๆ นั้นเป็นฆาตกรจริงไหมครับ ดังนั้นฆาตกรจึงจำเป็นต้องปลิดชีวิตนายอุสึมิเสียในคืนนั้นก่อนที่เรื่องจะแดงขึ้นมา”

“เรียกได้ว่าเป็นภาวะวิกฤติเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเลยทีเดียว แต่ฆาตกรก็ข้ามพ้นมาได้”

พอท่านผู้เฒ่าพูดจบ ดอกเตอร์ก็พูดอะไรแปลก ๆ ออกมา

“ผมว่าการที่ปิก้านั่งทนโท่อยู่ที่ระเบียงตอนนั้น อาจไม่ใช่ภาวะเสี่ยงอันตรายที่สุดสำหรับฆาตกรก็ได้”

“ทำไม ?”

ดอกเตอร์ตอบยิ้ม ๆ “เพราะถ้าปิก้านอนอยู่ในห้องญี่ปุ่นข้างล่าง ฆาตกรก็คงจะขึ้นไปฆ่านายอุสึมิลำบากหน่อยละครับ”

ท่านอุดางาวะมองดอกเตอร์โคเซด้วยดวงตาเป็นประกายแวบหนึ่งแล้วเงียบไป
[ตัวละครในเรื่องและความสัมพันธ์ระหว่างกัน]
อุสึมิ อากิระ กวีหลังค่อมแขกรับเชิญของทามาโอะ:
ปิก้า (โดอิ โคอิชิ) จิตรกรอดีตสามีของอายากะ
อายากะ ภรรยาคนปัจจุบันของคาซุมะ อดีตภรรยาของปิก้า
โมคุเบ ผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีฝรั่งเศส อยู่กับอากิโกะนักประพันธ์สตรีอดีตภรรยาของคาซุมะ
โคโรกุ ฮิโตมิ นักเขียนบทละคร สามีของอาคาชิ โคโจ ดาราชื่อดัง
ผม ยาชิโระ ซุนเป คนเล่าเรื่อง ภรรยาชื่อเคียวโกะ เคยเป็นเมียน้อยนายอุตางาวะ ทามอน บิดาของคาซุมะ
เอบิสึกะหมอขาเป๋ ลูกญาติห่าง ๆ ที่นายอุตางาวะผู้อุปถัมภ์ให้เรียนหอมและมาประจำอยู่ที่หมู่บ้าน
ชิงุซะ หญิงขี้ริ้วลูกพี่ลูกน้องของคาซุมะ


กำลังโหลดความคิดเห็น