โดยการนำผลิตภัณฑ์ “ข้าว” ผลผลิตสำคัญที่สุดของชุมชนซึ่งส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นชาวนา แต่ชาวนาที่นี่ก่อนหน้าประสบปัญหายากจนเพราะขาดการพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ได้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม ด้วยสาเหตุนี้ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรืออินทัช ได้เข้ามาช่วยเหลือชาวนาหอมกระเจา ผ่านโครงการข้าวเพื่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เกือบทุกภาค ตั้งแต่ปี 2555 รวมถึงในปีนี้ที่เข้ามาต่อยอดพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนหอมกระเจา จ.กาญจนบุรี ภายใต้แนวคิด “เที่ยว 3 ธรรม ตามวิถีห้วยกระเจา”
โครงการนี้นำเสนอผ่านเอกลักษณ์ของท้องถิ่นทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกิน และสถานที่ท่องเที่ยวผ่านการให้องค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับ พร้อมสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้รวมตัวกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและศูนย์การเรียนรู้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตชาวนาหอมกระเจาดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
เอนก พนาอภิชน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปี สำหรับการดำเนินโครงการปลูกข้าวเพื่อสุขภาพ เราได้เข้าไปส่งเสริมให้ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกข้าวเพื่อสุขภาพบ้านดักคะนน จังหวัดชัยนาท วิสาหกิจชุมชนปลูกข้าวเพื่อสุขภาพแก่นฝาง จังหวัดขอนแก่น วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาบ้านป่าไหม้ จังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนท่างามแสนสุข จังหวัดพิษณุโลก ศูนย์การเรียนรู้เรือนจำชั่วคราวโคกตาบัน สังกัดเรือนจำกลาง จังหวัดสุรินทร์ และที่นี่ วิสาหกิจชุมชนหอมกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี
ชุมชนอำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี เข้ามาร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2559 ที่นี่เป็นพื้นที่แห้งแล้งไม่มีคลองชลประทาน ปริมาณน้ำฝนน้อย แต่ในปัญหาดังกล่าวกลับพบว่า “ข้าวหอมมะลิ” เป็นพืชผลที่เหมาะกับพื้นที่ เพราะทำให้ข้าวมีรสชาติดีและมีกลิ่นหอม จากนั้นเราส่งเสริมชุมชนให้รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนหอมกระเจาที่มีความเข้มแข็ง ชาวนามีรายได้จากการขายข้าวเพิ่มขึ้น ต้นทุนการปลูกข้าวลดลงเฉลี่ยต่อไร่ 50% จนสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบรนด์ของชุมชน และกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ผู้สนใจมาศึกษาดูงานด้านสิ่งแวดล้อม
สืบเนื่องจากห้วยกระเจาปลูกข้าวนาปี
ดังนั้น ในช่วงนอกฤดูทำนาทางกลุ่มวิสาหกิจ จึงได้ช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรที่จะสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดปี ในที่สุดเห็นตรงกันว่า หากนำการท่องเที่ยวมาเชื่อมต่อกับฐานการทำงานเดิมมีโอกาสสูงที่จะช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชนในวงกว้างมากขึ้น
อินทัช ก็ได้เข้ามาสนับสนุนและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในแนวคิด “เที่ยว 3 ธรรม ตามวิถีห้วยกระเจา” ซึ่งธรรมที่ 1 หมายถึงธรรมะ ธรรมที่ 2 คือ ธรรมชาติ และธรรมที่ 3 หมายถึง วิถีวัฒนธรรม โดยมีแนวทางการทำงาน 3 ด้าน
1.พัฒนาสินค้าเกษตรให้มีคุณค่าโดยใช้นวัตกรรมมาสร้างสินค้าใหม่ๆ
2.พัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน โดยจัดทำโปรแกรมท่องเที่ยวแบบ 1 วัน และ 2 วัน รวมถึงพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ให้เป็นยุวมัคคุเทศก์นำเที่ยว
และ 3.สนับสนุนการจัดทำข้อมูลและการสืบค้นผ่าน QR code ประชาสัมพันธ์พื้นที่ให้เป็นที่รู้จัก รวมถึงประสานความร่วมมือกับ Wongnai หนึ่งในสตาร์ตอัพของโครงการ InVent โดยอินทัชเพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้าง
ด้าน พัฒชรกิตติ์ สนองชาติ รองประธานวิสาหกิจชุมชนหอมกระเจา ตัวแทนของกลุ่ม บอกว่า ตั้งแต่เริ่มทำโครงการร่วมกับอินทัช มีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มทำงานมีความเข้มแข็งมากขึ้นจนก่อตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน สามารถผลิตข้าวที่ปลอดภัยได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และอยู่ระหว่างการคัดสรรดาว OTOP จากข้าวกิโลกรัมละ 20 บาท เพิ่มมูลค่าเป็น 60 บาท โดยมีแบรนด์หอมกระเจาเป็นของชุมชนด้วย อีกทั้งแต่เดิมทางโรงสีเป็นคนกำหนดราคา แต่ปัจจุบันพวกเราเป็นคนกำหนดราคาเอง และมีตลาดเกษตรโรงเรียนชาวนาที่เป็นของพวกเราจริงๆ
นอกจากนั้น ทาง Wongnai ยังเข้ามาช่วยดึงคุณค่าของข้าวหอมกระเจาและวัตถุดิบพื้นถิ่นของชุมชน เช่น มะสัง ออกมาเพื่อสร้างประโยชน์โดยใช้การท่องเที่ยว โดยเอาไปทำอาหารโชว์ในรายการ Wongnai Cooking นอกจากนี้ ในเดือนมกราคมปีหน้า Wongnai จะเอาข้าวหอมกระเจา พร้อมทั้งผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของชุมชนไปออกบูทขายในงาน Wongnai Bangkok Food Festival ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้คนได้รู้จักห้วยกระเจา
"ผมและชาวชุมชนหอมกระเจา มีความปลื้มใจ และขอขอบคุณทาง อินทัช และหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาสนับสนุนและส่งเสริม จนทำให้พวกเรามองเห็นโอกาสจากสิ่งที่ชุมชนมี และดึงคุณค่าออกมาสร้างประโยชน์โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นสะพานเชื่อมให้คนเข้ามาในพื้นที่ของเราเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้พวกเรามีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมมากขึ้น"