xs
xsm
sm
md
lg

ละทิ้งความวุ่นวายที่ “ศีขรภูมิ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อวันก่อนมีโอกาสไปงานแต่งงานเพื่อนที่ศีขรภูมิ เป็นอำเภอเล็กๆ ในจังหวัดสุรินทร์ แม้มองผิวเผินอาจมองว่า “เหมือนไม่ค่อยมีอะไร” แต่การได้มารู้จักกับอำเภอเล็กๆ แห่งนี้ ทำให้เราได้ค้นพบถึงวิถีชีวิตบางอย่างที่หาไม่ได้ในกรุงเทพฯ

โดยเฉพาะความสงบที่เกิดจาก “ความเงียบงัน” ในยามค่ำคืน

การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดสุรินทร์ ทุกวันนี้สะดวกขึ้น นับตั้งแต่ทางหลวงหมายเลข 24 สีคิ้ว-เดชอุดม กลายเป็นถนน 4 เลนเกือบตลอดสาย ยังเหลือช่วงแยกบ้านจาน-เดชอุดม ที่จะแล้วเสร็จประมาณเดือนสิงหาคม 2563

จากสี่แยกปราสาท มาถึงสถานีขนส่งสุรินทร์ เราต่อรถตู้สายสุรินทร์-ศรีสะเกษ เพื่อต่อไปยังศีขรภูมิ แม้จะเป็นถนน 2 เลน แต่ใช้เวลาประมาณ 40 นาทีก็มาถึง รถตู้แวะส่งผู้โดยสารที่หน้าร้านมินิมาร์ท หน้าสถานีรถไฟศีขรภูมิในช่วงเย็น

เนื่องจากบ้านเพื่อนอยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 15 กิโลเมตร เราจึงตัดสินใจค้างคืนที่รีสอร์ทในตัวอำเภอ 1 คืน เพื่อรอญาติมารับเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งที่เดินทางจากกรุงเทพฯ ที่จะมาถึงตอนเช้ามืด จะได้เช็กเอาต์และให้มารับทีเดียวเลย


ศีขรภูมิเป็นอำเภอที่เงียบมาก วันที่ไปจากเมื่อช่วงบ่ายคึกคัก เพราะวันนั้นรัฐบาลเติมเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้คนต่างต่อคิวซื้อของตามร้านค้าต่างๆ สังเกตได้จากข้าวสาร ปลากระป๋องแบบแพ็ค เครื่องอุปโภคบริโภคที่ขนใส่รถกลับบ้าน

ตกเย็นถึงค่ำ แม้จะมีตลาดนัดขายอาหารบริเวณศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แต่ร้านค้าส่วนใหญ่ในตลาด ปิดบ้านนอนหมดแล้ว เพราะฉะนั้นพอตะวันตกดิน ถนนหนทางจะเต็มไปด้วยสุนัข เวลาเดินเท้าออกจากรีสอร์ทหวั่นใจว่าจะถูกหมากัดทุกที

แต่ก็ไม่ใช่ว่าความเจริญยังเข้าไม่ถึงเสียทีเดียว ที่นี่มีเซเว่นอีเลฟเว่น (ของยิ่งยงมินิมาร์ท) และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส รวมทั้งร้านค้าของทุนท้องถิ่นอย่าง “มินิเมย์” ของห้างค้าส่งเล้าม่งเส็ง ในตัวเมืองสุรินทร์ และห้างทวีกิจ ศีขรภูมิ

ถามเพื่อนที่อยู่ศีขรภูมิก็เล่าว่า ปกติตลาดสดที่นี่จะเริ่มคึกคักประมาณตีสองเป็นต้นไป เพราะเป็นช่วงที่ผู้คนเข้ามาจ่ายตลาด ก่อนที่จะกลับไปเตรียมตัวออกทำนาประมาณ 6 โมงเช้า กว่าจะเสร็จจากการทำนาก็มืดค่ำ ช่วงเย็นจึงเงียบเหงา

แต่ความเงียบเหงาก็แฝงไปด้วยความเงียบสงบที่หาไม่ได้ในกรุงเทพฯ เราจึงถือโอกาสเข้านอนเร็วกว่าปกติ เพราะไม่รู้จะทำอะไร ซึ่งเป็นปกติของสังคมชนบทที่พลบค่ำก็ปิดไฟแล้วเข้านอน อีกทั้งจะได้ตื่นทันญาติเพื่อนมารับตอนเช้ามืด

ในยามค่ำคืนยังมีร้านอาหาร ร้านนั่งชิลล์ที่เปิดอยู่ละแวกสถานีรถไฟ แต่อยู่ห่างจากที่พักไกลพอสมควร คุยกับคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างรายหนึ่งบอกว่า ปกติจะวิ่งรถถึงประมาณ 2-3 ทุ่ม แต่ถ้าวันไหนเงียบ ผู้โดยสารมีน้อยก็กลับเร็ว


ตีห้าครึ่ง รถกระบะของญาติเพื่อน พร้อมกับเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งที่นั่งรถมาจากกรุงเทพฯ เข้ามารับที่รีสอร์ท ก่อนที่จะออกเดินทางไปบ้านเพื่อนซึ่งอยู่อีกตำบลหนึ่ง สองข้างทางเต็มไปด้วยทุ่งนา และหมอกที่ไม่ใช่ฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างในกรุงเทพฯ

ญาติของเพื่อนเล่าให้ฟังระหว่างขับรถว่า ที่ศีขรภูมิไม่มีน้ำท่วมที่มาจากธารน้ำไหลหลาก เพราะแม่น้ำมูลอยู่ที่อำเภอท่าตูม ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 60 กิโลเมตร จะมีก็แต่น้ำท่วมเพราะฝนตกหนักเท่านั้น

ระหว่างทางเราพบว่า ชาวบ้านยังคงกองข้าวเปลือกบนถนน แม้จะผิดกฎหมาย แต่ก็เป็นความเคยชินของชาวบ้าน ถามว่ามีขโมยมาบ้างไหม เขาตอบว่าก็มี ส่วนมากจะเป็นพวกขี้ยา อาศัยดูลาดเลาแน่ใจว่าปลอดคนก็ขโมยใส่กระสอบออกไป

เพื่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า ปกติเมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ก็จะขายให้กับโรงสี ส่วนที่นำมาตากบนถนนหรือลานเก็บกองต่างๆ มีไว้เพื่อนำไปสีข้าวกินเอง กับเอาไปทำพันธุ์ข้าวเพื่อปลูกในฤดูกาลต่อไป

ที่ผ่านมาจังหวัดสุรินทร์ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก เนื่องจากฝนทิ้งช่วงนานหลายเดือน ถึงขั้นตัวเมืองไม่มีน้ำประปาใช้ แต่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเริ่มมีฝนตก ชาวนาจึงเริ่มปลูกข้าว ก่อนเก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ปัจจุบัน จังหวัดสุรินทร์มีพื้นที่ปลูกข้าว 17 อำเภอมากกว่า 3 ล้านไร่ ข้าวที่นิยมปลูกมี 2 พันธุ์ คือข้าวหอมมะลิพันธุ์ กข 15 เป็นข้าวพันธุ์เบา ทนแล้ง ออกรวงเร็ว กับข้าวหอมมะลิพันธุ์ กข 105 ที่จะออกรวงประมาณ 110 วัน มีกลิ่นหอมมากกว่า

จังหวัดนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย รู้จักกันในนามของ “ข้าวหอมสุรินทร์” ที่ได้ขึ้นชื่อว่า “หอม ยาว ขาว นุ่ม” มีจำหน่ายทั้งในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ


แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของอำเภอ คือ “ปราสาทศีขรภูมิ” แม้จะอยู่ภายในตัวอำเภอ แต่ห่างจากสถานีรถไฟเกือบ 2 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้าเล็กน้อย เปิดให้เข้าชมตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น ค่าเข้าชมคนไทย 10 บาท ต่างชาติ 50 บาท

ที่นี่ถือเป็นปราสาทที่สมบูรณ์และงดงามที่สุดในจังหวัดสุรินทร์ สร้างด้วยอิฐ หินทรายและศิลาแลง อายุเกือบ 1,000 ปี ประกอบด้วยทับหลังศิวนาฏราช มีนางเทพธิดาถือดอกบัว 1 คู่ ด้านซ้ายจะเป็นพระนนทิเกศวร ด้านขวาจะเป็นยักษ์มหากาฬ



ในวันนั้นเราได้พบกับ“น้องปาล์ม”เป็นไกด์ท้องถิ่นบริการฟรี (แต่เราให้ค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นกำลังใจ) บอกเล่าความเป็นมาและลักษณะของปราสาทอย่างฉะฉาน และคอยแนะนำวิธีเข้าชมปราสาทที่ถูกต้อง

เช่น เวลาขึ้นบันไดปราสาท นอกจากถอดรองเท้าแล้ว เราต้องเดินขึ้นบันไดแบบเฉียงตัว ถ้าเดินขึ้นบันไดแบบตรงๆ จะถือว่าเป็นการประชันเทพ ท้าเทพ หรือการเข้าไปภายในปราสาท เข้าไปได้แต่ห้ามเหยียบธรณีประตู ไม่อย่างนั้นจะขึ้นคาน!

เพื่อนในกลุ่มถามว่า ผู้คนที่มามักจะขอพรเรื่องอะไร น้องปาล์มกล่าวว่า ส่วนใหญ่จะขอเรื่องความสำเร็จ ถามถึงเรื่องความรักเธอตอบว่าก็ไม่ขัดข้อง ผลก็คือหลังเพื่อนอธิษฐานเสร็จ ไม่นานนักอดีต ส.ส.ฟาริดา สุไลมาน พาคณะนักศึกษามาเยี่ยมชมพอดี เพื่อนที่ถามเลยถูกแซวกันใหญ่

ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี จะมีงานสืบสานตำนานพันปีปราสาทศีขรภูมิ โดยจะมีพิธีบวงสรวงองค์ปราสาทศีขรภูมิ และการแสดง แสง สี เสียง ถือเป็นงานใหญ่ประจำอำเภอ รอต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นประจำทุกปี


ห่างออกไปประมาณ 300 เมตร จะพบกับ “สระสี่เหลี่ยม” เป็นสระน้ำโบราณกว้าง 250 เมตร ยาว 550 เมตร และสวนเฉลิมพระเกียรติ เป็นสวนสาธารณะพักผ่อนหย่อนใจ เหมาะกับการออกกำลังกายยามเช้าและช่วงเย็น



นอกจากนี้ ยังมีของฝากที่ขึ้นชื่อของอำเภอ คือ “กาละแมสดศีขรภูมิ” โดยมีเจ้าดั้งเดิมคือ “ตราปราสาทเดียว” จุดเด่นคือ กลิ่นใบตองแห้ง หอม เหนียว หวานมัน ไม่ใส่วัตถุกันเสีย ปัจจุบันเปิดให้สั่งออนไลน์ จัดส่งไปทั่วประเทศ

การมาเยือนศีขรภูมิครั้งนี้ ถึงจะมาธุระเพียงแค่ช่วงสั้นๆ ก็ตาม แต่ก็ถือเป็นเมืองหนึ่งที่เหมาะกับการใช้ชีวิตเรียบง่าย หลบหนีความวุ่นวายในเมืองหลวง แม้มองผิวเผินเหมือนเป็นทางผ่านและ “ไม่มีอะไรคึกคัก” เมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ก็ตาม

คิดอีกด้านหนึ่ง ความเรียบง่ายของวิถีชีวิตที่เราสัมผัส ก็ทำให้เรามีเวลาอยู่กับตัวเองได้ยาวนานยิ่งขึ้น


หมายเหตุ : อำเภอศีขรภูมิ อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ประมาณ 35 กิโลเมตร ไปตามถนนสุรินทร์-ศรีสะเกษ

รถประจำทาง มีรถประจำทางสายกรุงเทพฯ-สนม จ.สุรินทร์ ของบริษัท นครชัยแอร์ จำกัด แวะรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีนครชัยแอร์ สาขาศีขรภูมิ (ภายในปั๊มน้ำมัน ปตท. ศีขรภูมิ) ให้บริการวันละ 3 เที่ยว ค่าโดยสาร 431 บาท



ถ้ามาจาก จ.สุรินทร์ มีรถตู้สายสุรินทร์-รัตนบุรี และ สุรินทร์-ศรีสะเกษ ออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารสุรินทร์ แวะรับ-ส่งผู้โดยสารที่ร้านมินิมาร์ทหน้าสถานีรถไฟศีขรภูมิ (ขากลับจากศีขรภูมิเข้าตัวเมืองสุรินทร์ เที่ยวสุดท้าย 19.00 น.)

รถไฟ มีขบวนรถไฟสายกรุงเทพ-อุบลราชธานี ผ่านสถานีศีขรภูมิ ทั้งรถด่วนพิเศษอีสานวัฒนา รถด่วนดีเซลราง และรถเร็ว รวม 8 ขบวน และรถท้องถิ่นสายนครราชสีมา-อุบลราชธานี, ลำชี-อุบลราชธานี และ ลำชี-สำโรงทาบ รวม 5 ขบวน

เครื่องบิน มีเที่ยวบินกรุงเทพฯ-บุรีรัมย์-สุรินทร์ ของสายการบินแอร์เอเชียและนกแอร์ โดยเลือกจอง “สุรินทร์” เมื่อเที่ยวบินถึงบุรีรัมย์จะมีรถตู้รับ-ส่งไปถึงตัวเมืองสุรินทร์ จากนั้นให้นั่งรถตู้ที่สถานีขนส่งฯ ไปยังอำเภอศีขรภูมิอีกต่อหนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น