xs
xsm
sm
md
lg

ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ... รัฐปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนจริงหรือ ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากใครติดตามข่าวสารในแวดวงยาสูบ คงได้เห็นว่า ช่วงนี้บริษัทผู้ประกอบการยาสูบ สมาคมผู้ค้ายาสูบ สหภาพแรงงานโรงงานยาสูบ ไปจนถึงกลุ่มเกษตรกรชาวไร่ยาสูบผนึกกำลังเหนียวแน่น ร่วมกันคัดค้านร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ... ที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมผลักดันเข้าคณะรัฐมนตรี โดยหนึ่งในหลายเหตุผลที่คัดค้านก็คือ กระทรวงสาธารณสุขปิดกั้นการมีส่วนร่วม ไม่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมาย

ในฐานะคณะกรรมการร่างฯ ด้วยคนหนึ่ง จึงเห็นควรให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการทำงานเพื่อตอบข้อคัดค้านดังกล่าว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว กระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ ถึง ๔ เวที ใน ๔ ภูมิภาคด้วยกัน โดยมีการประชาสัมพันธ์ทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ เวทีเสวนาด้านสุขภาพ รวมทั้งในสื่ออิเล็กทรอนิกส์และโซเชียลมีเดีย สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบผู้รับผิดชอบงาน ยังได้จัดทำเว็บไซต์ http://www.tobaccohearing.com/ และเพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/Thaiantitobacco ขึ้นเฉพาะ เพื่อรับข้อคิดเห็นของประชาชนต่อตัวร่างด้วย โดยเปิดตัวไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ก่อนที่ร่างฉบับแรกจะสำเร็จเป็นรูปร่างถึงกว่าหนึ่งเดือน

จากเอกสารการลงทะเบียนเข้าร่วมประชาพิจารณ์ซึ่งประชาชนสามารถขอตรวจสอบได้ ก็ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน ทั้งที่มีจดหมายเชิญ ทำหนังสือขอเข้าร่วม และมาเข้าร่วมเองที่หน้างาน ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้าน ผู้แทนจากภาครัฐและเอกชน นักกฎหมายจากบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ผู้แทนโรงงานยาสูบ สมาคมผู้ค้า ไปจนถึงกลุ่มเกษตรกรชาวไร่ยาสูบซึ่งเข้าร่วมหลายร้อยคนที่เวทีภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย ผู้เขียนเองต้องร่วมชี้แจงร่างด้วยในทุกเวที จึงกล้ายืนยันว่า การทำประชาพิจารณ์ต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่มีขบวนการจัดตั้ง ไม่มีการงุบงิบหรือปิดโอกาสไม่ให้กลุ่มใดแสดงความเห็น นอกจากนี้ยังมีการบันทึกและถอดเทปทุกความเห็นจากทุกเวที

ภายหลังทำประชาพิจารณ์แล้ว คณะกรรมการร่างฯ ถูกเรียกประชุมอีกหลายสิบนัด นับตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕ จนถึงสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗ เพื่อนำความคิดเห็นต่างๆ ที่รวบรวมจากทำประชาพิจารณ์ และจากเว็บไซต์มาพิจารณากับร่างทีละมาตรา เพื่อทบทวนอีกรอบว่า มีประเด็นที่พวกเราหลงลืม ผิดพลาด หรือขาดตกบกพร่องบ้างหรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกปีกว่าในการแก้ไขจนสำเร็จเป็นร่างสุดท้ายตามข้อเสนอแนะ

อนึ่ง ควรทำความเข้าใจด้วยว่า หลักการของการทำประชาพิจารณ์ คือการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในวงกว้างและอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ต่อกฎระเบียบ โครงการ หรือการดำเนินงานใดๆ ของรัฐ ก่อนที่รัฐจะตัดสินใจ โดยมีจุดประสงค์ เพื่อให้ข้อมูลที่แท้จริงและเพียงพอแก่มวลชนเจ้าของประเทศพร้อม ๆ กับขอคำปรึกษา การตัดสินใจของรัฐจะได้ครบถ้วนรอบด้าน สอดคล้องกับประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง รวมทั้งลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ทำให้การทำประชาพิจารณ์แตกต่างไปจากการทำประชามติ ก็คือ ข้อคิดเห็นที่ได้จากการประชาพิจารณ์มีสถานะเป็นเพียง "ข้อเสนอแนะ" หรือข้อมูลอีกด้านหนึ่งเพื่อประกอบการตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้าย เท่านั้น มิใช่ "คำตัดสิน หรือมติสุดท้าย" จึงไม่มีข้อผูกพันให้รัฐหรือหน่วยงานของรัฐต้องเห็นด้วยหรือปฏิบัติตามทุกๆ ความคิดเห็นที่ถูกนำเสนอ หน่วยงานรัฐยังคงไว้ซึ่งอำนาจในการใช้ดุลพินิจ ดังนั้น หากได้มีการพิจารณาความเห็นทั้งหมดอย่างรอบคอบแล้ว แต่ด้วยเหตุผลความจำเป็นในการออกกฎหมาย การพิจารณาชั่งน้ำหนักส่วนได้เสียระหว่างผลประโยชน์สาธารณะกับประโยชน์ของธุรกิจยาสูบ คณะกรรมการร่างฯ ย่อมสามารถยืนยันในหลักการหรือในบทมาตราต่าง ๆ ที่เคยร่างไว้แล้วได้ ไม่ถือว่าขัดต่อกฎหมาย ผิดธรรมเนียมปฏิบัติ ผิดมารยาท หรือขัดกับหลักสากลแต่อย่างใด

ที่เล่ามา ผู้เขียนไม่ได้เรียกร้องให้กลุ่มคัดค้านหยุดโต้เถียง หรือหันมาเห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ เพียงแต่ต้องการแสดงข้อเท็จจริงอีกชุดหนึ่งเท่านั้นว่า สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข ได้พยายามอย่างถึงที่สุดที่จะร่างกฎหมายอย่างโปร่งใส ให้ถูกต้องตามหลักสากล เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น รวมทั้งให้ความสำคัญกับความเห็นเหล่านั้นแล้ว สุดท้ายก็หวังแค่ว่า ข้อคัดค้านหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ หลังจากนี้ไปจะมุ่งเน้นกันที่หลักการและเนื้อหาของร่างกฎหมาย เพื่อจะได้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง
_________________________________
บทความ โดย ผศ.สาวตรี สุขศรี
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
_________________________________
ข้อมูลโดย สสส

กำลังโหลดความคิดเห็น