xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง! ร่วมค้าเสรีเปิดช่องยาสูบข้ามชาติเหยียบย่ำ กม.สุขภาพไทย เพิ่มสิงห์อมควัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

WHO แนะไทยจับตาการค้าเสรี หวั่นรับข้อตกลงทำกฎหมายด้านสุขภาพถูกการค้าเสรีเหยียบย่ำ คุ้มครองสุขภาพประชาชนยากขึ้น ควบคุมยาสูบไม่ได้ “หมอหทัย” เผยผลวิจัยเข้าร่วมการค้าเสรี TPP ทำราคาบุหรี่ถูกลง สิงห์อมควันเพิ่มขึ้น 10% ทำคนไทยเสี่ยงป่วยตายมากขึ้น เปิดช่องบริษัทบุหรี่ข้ามชาติเมินกฎหมายไทย วอน คสช. อย่าให้ไทยเข้าร่วมสัญญาอุบาทว์

วันนี้ (26 พ.ย.) ที่โรงแรมแชงกรี-ลา ในแถลงข่าว “องค์การอนามัยโลก หนุนไทยเพิ่มคุมเข้มบุหรี่” ดร.มานิชาร์ สิทธรา ที่ปรึกษาด้านยาสูบ องค์การอนามัยโลก ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศไทย ถือว่าทำได้ดี โดยล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการออกประกาศให้บริษัทบุหรี่ต้องพิมพ์ภาพคำเตือนขนาดไม่ต่ำกว่า 85% ของพื้นที่ซองบุหรี่ ขณะที่ต่างประเทศนั้นพบว่า มีหลายประเทศที่ดำเนินการตามนโยบายเช่นนี้ เช่น อินเดีย มีการออกประกาศให้พิมพ์ภาพคำเตือน 85% ของพื้นที่ซองบุหรี่ตามหลังไทย หรือออสเตรเลีย ออกประกาศให้ใช้ซองบุหรี่แบบเรียบ คือ ไม่มีการใส่ยี่ห้อและสีสัน ซึ่งมาตรการเหล่านี้ทำให้บริษัทบุหรี่ไม่ชอบใจเป็นอย่างมาก และมักนำกฎหมายการค้าเสรีมาฟ้องในหลายประเทศว่ามาตรการเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนนั้นเป็นการละเมิดทางการค้า นอกจากนี้ ยังพยายามเข้าไปสร้างอิทธิพลในการประชุมการค้าเสรี ซึ่งมีทั้งระดับทวิภาคี และพหุภาคี ซึ่งล้วนส่งผลต่อการควบคุมยาสูบทั้งสิ้น

ดร.เบนน์ แมกกราดี นักกฎหมาย มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ นั้น ส่งผลต่อมาตรการการคุ้มครองสุขภาพประชาชนได้ง่ายๆ หลายประเทศไม่สามารถออกข้อบังคับอย่างคล่องตัวได้ เพราะการค้าเสรีห้ามเอาไว้ ดังนั้น การเจรจาการค้าเสรีจะต้องมีการติดตามอย่างละเอียดและต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งมีทั้งการเจรจาการค้าเสรีความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย - แปซิฟิก (TPP) และ ไทย - สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งจะต้องจับตาดูข้อตกลงใหม่ๆ ให้ดี เพราะอาจมีการหยิบยกเรื่องการปกป้องลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรขึ้นมา เช่น อียูอยากให้สิทธิบัตรด้านยาอยู่ไปนานๆ เป็นต้น ยิ่งการหารือแบบทวิภาคีเช่นนี้ อียูก็จะต้องวางกฎการค้าเสรีให้เหมือนกับในยุโรป ระเบียบต่างๆ จะแตกต่างคือก้าวหน้าหรือล้าหลังไปกว่ายุโรปไม่ได้ อย่างการห้ามพิมพ์ยี่ห้อหรือสีสันบนซองบุหรี่ก็ถือว่าเป็นการละเมิดทางการค้า ดังนั้น การเจรจาการค้าเสรีภาคประชาสังคมจะต้องมีความเข้าใจและมีส่วนร่วม เพราะเราต้องการความโปร่งใส

นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันมูลนิธิส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า จากการทำงานวิจัยแบะรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียดเป็นเวลา 2 ปี พบว่า ประเทศไทยจะเกิดความเสียหาย หากเข้าร่วมเป็นสมาชิกการค้าเสรี TPP คือ 1. อัตราการสูบบุหรี่จะเพิ่มขึ้น คนไทยป่วยมากขึ้น ค่ารักษาเพิ่มขึ้น และเสียชีวิตมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ที่เข้าเป็นสมาชิก TPP แล้วทำให้ราคาบุหรี่ถูกลง และมีการทำตลาดมากขึ้น มีการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 10% 2. รัฐวิสาหกิจในประเทศไทยจะถูกสัญญาเหล่านี้บีบให้เกิดการตัดสิทธิที่เคยได้รับออกทั้งหมด ทำให้เสียเปรียบบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ 3. เมื่อเข้าเป็นประเทศสมาชิกจะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติตามอนุสัญญา FCTC มาตรา 5.3 ได้ ซึ่งจะกระทบมาตรการการควบคุมการบริโภคยาสูบในประเทศ 4. การตกลงข้อเสนอแบบทริปส์พลัส จะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบได้ เพราะถือเป็นการละเมิดกฎการค้าเสรี เช่น การทำภาพคำเตือนขนาดใหญ่บนซอง การห้ามใช้คำเพื่อโฆษณาบนซอง และ 5. หากทำการค้า TPP จะเปิดช่องให้บริษัทยาสูบไม่ต้องทำตามกฎหมายด้านสุขภาพ และสามารถฟ้องร้องประเทศไทยได้โดยขึ้นศาลอนุญาโตตุลาการ

“แม้ปัจจุบันจะไม่มีมาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญในเรื่องการเจรจากับต่างประเทศ แต่ก็จำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวัง ซึ่งเมื่อวันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการเสนอประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปแล้วว่า ไม่ให้ประเทศไทยเข้าร่วมการเจรจาการเป็นสมาชิกของสัญญาอุบาทว์” นพ.หทัย กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น