xs
xsm
sm
md
lg

แฉ บ.บุหรี่จ่อล้ม กม.ฉบับใหม่ จวกโกยเงินพัน ล.ทิ้งไทยเสียค่ารักษาหมื่น ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฉ บ.บุหรี่ รุกหนักทุกทางจ่อล้ม กม. ยาสูบไทยฉบับใหม่ จวกโกยเงินกลับประเทศปีละกว่า 3 พันล้านบาท แต่ทิ้งค่าใช้จ่ายการรักษาโรคจากบุหรี่ปีละกว่า 5 หมื่นล้านบาท วอนอัยการสูงสุดเร่งดำเนินคดี บ.บุหรี่ ข้ามชาติเลี่ยงภาษีกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท

วันนี้ (19 ม.ค.) ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทพยายามทำทุกวิถีทางที่จะล้มร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ที่กำลังรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ได้เคลื่อนไหวคัดค้านอย่างเป็นขบวนการ โดยอาศัยสมาคมการค้ายาสูบไทยที่บริษัทบุหรี่ให้เงินสนับสนุน เป็นคนออกหน้าในนามร้านค้าปลีก และล่าสุด ได้ยืมมือสภาหอการค้าต่างๆ มาแทรกการออกกฎหมาย โดยการส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีบางกระทรวง โดยอ้างเป็นสมาพันธ์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นตัวแทนของธุรกิจกว่าสามล้านราย เพื่อแสดงถึงพลังอำนาจทางเศรษฐกิจในการข่มขู่รัฐบาลไทย

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า สภาเหล่านี้เป็นสภาของธุรกิจเอกชน ที่มีผู้แทนของบริษัทบุหรี่เป็นสมาชิก และอยู่ในบอร์ดบริหาร ในอดีตบริษัทบุหรี่จะอาศัยสำนักผู้แทนการค้า หรือ ยูเอสทีอาร์ และสถานทูตเป็นผู้ล็อบบีให้ แต่ปัจจุบันไม่สามารถทำได้ เพราะสหรัฐฯมีกฎหมายห้ามสำนักผู้แทนการค้าแทรกแซงกฎหมายควบคุมยาสูบของประเทศอื่น และประธานาธิบดีได้ออกคำสั่งห้ามสถานทูตสหรัฐฯประจำประเทศต่างๆ สนับสนุนบริษัทบุหรี่อเมริกันในการส่งเสริมการค้ายาสูบ หรือแทรกแซงกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของประเทศอื่น

“ผมเป็นห่วงอย่างมากที่เห็นกฎหมายของประเทศกำลังถูกแทรกแซงโดยบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ที่อาศัยองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศออกหน้าและทำงานกันเป็นเครือข่าย โดยมีบริษัทกฎหมายต่างชาติที่มีสาขาในประเทศไทย เป็นคนวางแผน ถือเป็นการรุกรานอธิปไตยของประเทศ และทำให้ประเทศไทยถอยหลัง เพราะการที่กฎหมายก้าวไม่ทันกับกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ จะทำให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสติดบุหรี่มากขึ้น ก่อภาระทางเศรษฐกิจต่อประเทศชาติในระระยาว แต่เชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่หลงกลบริษัทบุหรี่ ผมมั่นใจว่านายกฯให้ความสำคัญกับอนาคตของเด็กและเยาวชน” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส อดีตนายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และอดีตนายกแพทยสมาคมโลก กล่าวว่า ที่บริษัทบุหรี่ต้องการล้มกฎหมาย เพราะต้องการท้าทายและลดทอนอำนาจรัฐ เพื่อให้ธุรกิจของตนจะได้ถูกคุมแบบหลวมๆ เปิดช่องให้ตนเองขยายตลาดสู่เด็กรุ่นใหม่ได้ โกยกำไรจากคนไทยต่อไป อย่างบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส บริษัทเดียวก็โกยกำไรกลับบ้านเกิดปีละกว่า 3,000 ล้านบาท แต่ทิ้งค่าใช้จ่ายการรักษาโรคจากบุหรี่ในไทยให้เป็นภาระจำนวนมหาศาล ไม่ต่ำกว่าปีละ 50,000 ล้านบาท และอีกเรื่องที่ขอให้สังคมไทยติดตามอย่างใกล้ชิด คือ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส กับพวก ถูกอัยการสูงสุดสั่งฟ้อง ฐานแสดงราคานำเข้าบุหรี่ยี่ห้อ Marlboro และ L&M จากประเทศฟิลิปปินส์ ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อเลี่ยงภาษีสรรพสามิตตั้งแต่ปี 2546 - 2550 ทำให้รัฐสูญเสียภาษีกว่า 68,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตนและคณะได้ยื่นจดหมายถึงอัยการสูงสุด เพื่อขอให้ท่านเร่งดำเนินการคดีแล้ว

ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการพิจารณาและจัดทำร่างกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่า พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ถือว่าเก่ามาก ไม่ทันต่อเทคโนโลยีปัจจุบัน เช่น อินเทอร์เน็ต พริตตี้ บารากู่ บุหรี่ไฟฟ้า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จึงพยายามอุดช่องว่างของกฎหมายเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ๆ แต่ไม่ได้มีความสุดโต่งเกินจำเป็นตามที่บริษัทบุหรี่อ้าง ตรงข้ามมีความรัดกุม ซึ่งจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นระบบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

คณะกรรมการยกร่างฯ เริ่มทำงานกันตั้งแต่ มิ.ย. 2554 เมื่อร่างเสร็จก็เข้าสู่การประชาพิจารณ์ตามขั้นตอน ซึ่งทั้งสมาคมผู้ค้าปลีก สมาคมชาวไร่ยาสูบ รวมทั้งบริษัทบุหรี่ และบริษัทกฎหมาย ที่บริษัทบุหรี่ว่าจ้างไว้ ก็ได้เข้าไปร่วมเวทีประชาพิจารณ์ และให้ความเห็นด้วย หลังจากนั้น คณะกรรมการได้ดำเนินการปรับปรุงอย่างรอบคอบถี่ถ้วน การที่เครือข่ายของบริษัทบุหรี่ออกมาเรียกร้องให้นายกฯ ชะลอการพิจารณา และขอเข้ามาแก้ไขมาตราต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะกฎหมายได้ผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเรียบร้อยแล้ว” ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น