เหลือเวลาสั้นมากสุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน ที่พรรคเดโมแครตจะเปลี่ยนตัวผู้จะเป็นตัวแทนของพรรคเข้าแข่งขันในตำแหน่งประธานาธิบดี
แต่วิกฤตย่อมสร้างโอกาสใหม่เสมอ ดังภาษิตจีนที่เราได้ยินมาตลอด จากอักษรจีนตัวเดียวกันที่อ่านเป็น “วิกฤต” ก็ได้ หรือเป็น “โอกาส” ก็ได้
หรือดังเช่นที่นายกฯ ลิ้นทอง วินสตัน เชอร์ชิล ของอังกฤษได้พูดไว้ว่า “จงอย่าได้ทิ้งวิกฤตให้เสียของอย่างเด็ดขาด (Never let a Serious Crisis go to Waste”) ซึ่งทั้งเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำโตเกียวคนปัจจุบัน ฯพณฯ ราห์ม เอมานูเอล (Rahm Emanuel)...ซึ่งเป็น Chief of Staff...ตำแหน่งคล้ายเลขาธิการประธานาธิบดี....หรือเป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว-ของปธน.โอบามา) และอดีตรมต.ต่างประเทศฮิลลารี คลินตัน ได้พร่ำย้ำแล้วย้ำอีกในทุกวิกฤตที่สหรัฐฯ เผชิญในเวทีระหว่างประเทศ
วิกฤตมีไว้เพื่อเข้าไปลุย; พลิกแพลงไม่ใช่มีไว้เพื่อทำใจยอมรับสภาพ งอมืองอเท้ายอมจำนน
นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในพรรคเดโมแครตขณะนี้
ขณะที่เงินอุดหนุนหยุดไหลเข้าทันทีที่ปธน.ไบเดนแพ้โต้วาทีอย่างราบคาบกับทรัมป์จากความชราของเขา ซึ่งทำให้เขาต้องยืนงงเพราะหาคำพูดมาตอบโต้ไม่ทันต่อคำโกหกที่พรั่งพรูออกมาจากปากของทรัมป์ (ที่พ่อสั่งสอนมาว่า ต้องชนะเท่านั้น ไม่ว่าจะได้ด้วยเล่ห์, กล, มนต์, คาถา และคำโกหกยกเมฆ...จะต้องเป็นผู้ชนะ...ต่างกับสี จิ้นผิง ที่ว่า ต้อง win-win…สำหรับทรัมป์คือ มีแต่ผู้ชนะ-และอีกฝ่ายต้องแพ้... ขนาดพ่อเฟรด-บอกว่า เขาต้องเป็นผู้ฆ่า (Killer)…ไม่ใช่ผู้ถูกฆ่า... และต้องไม่ยอมรับความผิดใดๆ ทุกกรณี)
ในคำแถลงถอนการลงชิงปธน. (รอบสอง) ของไบเดน เขาพูดถึงการตัดสินใจที่ถูกต้องและดีมากที่สุดในปี 2020 ในการเลือกกมลา แฮร์ริส มาเป็นคู่หูของเขา (ในตำแหน่งรองปธน.) เพราะเธอสามารถเข้ารับตำแหน่งปธน.แทนเขาได้ทันทีในทุกกรณี... ซึ่งไบเดนก็ได้มอบความไว้วางใจ (endorse) ให้กมลา ลงชิงตำแหน่งปธน.ในเวลาที่แสนคับขันของพรรคขณะนี้
ซึ่งเธอก็สามารถขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งในการติดต่อ (ทางโทรศัพท์ส่วนใหญ่) กับทั้งเหล่าผู้มากบารมีในพรรคเช่น อดีตปธน.คลินตัน และภรรยาที่เคยเป็นถึงรมต.ต่างประเทศ และเคยสมัครแข่งกับทรัมป์ รวมถึงผู้นำ สว., สส.ของเดโมแครตทุกๆ คน ซึ่งหลายคนเป็น สว.ที่เล็งจะลงแข่งกับกมลา ถ้าพรรคเปิดให้สมัครแข่ง เช่น สว.ผิวดำรัฐนิวเจอร์ซีย์ ชื่อ คอรี บุ๊กเกอร์ รวมทั้งผู้ว่าการรัฐอีกหลายคนที่เล็งลงสมัครปธน.ทั้งในปี 2024, หรือครั้งหน้า 2028 หรือ 2032 เป็นต้น
เธอสามารถรวบรวมการออกมา Endorse เธอได้เกือบ 100% ของทั้งผู้มีบารมีและผู้ที่เล็งจะแข่งกับเธอ เพราะเวลาอันคับขันจนเหล่าคู่แข่งมองแล้วว่า เป็นการเข็นครกขึ้นเขาและไม่อยากเสี่ยงลงแข่งกับเธอ
ผู้ว่าหญิงแกร่งแห่งรัฐมิชิแกน...เกรทเชน วิทเมอร์ (Gretchen Whitmer) ออกมา Endorse ถึงขนาดขอเป็นประธานร่วมของคณะรณรงค์หาเสียงให้แก่กมลาด้วยซ้ำ เพื่อตัดความเป็นไปได้ที่เกรทเชน จะลงมาท้าทายกมลาในการเปิดลงคะแนนในวันประชุมใหญ่ของพรรค 19 สิงหาคม ที่พรรคจะลงคะแนนคัดเลือกสุดท้ายอย่างเป็นทางการ
การประกาศ Endorse โดยไบเดนนี้สำคัญยิ่ง ต่างกับปี 1953 ที่อดีตปธน.ทรูแมน ได้ประกาศยอมถอนจากการลงสมัครปธน.รอบ 2 ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม...ก่อนประชาชนเลือกตั้งในต้นเดือนพฤศจิกายน ถึง 7 เดือน...โดยเขาไม่ได้เสนอชื่อรองปธน.ของเขาให้ลงสมัครตำแหน่งปธน.แต่อย่างใด
เช่นเดียวกับ ปธน.ลินดอน จอห์นสัน ในการประกาศถอนตัวจากการสมัครรอบ 2 เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 1968 และไม่ได้เสนอชื่อรองปธน.เข้าสมัครปธน.แต่อย่างใดเช่นกัน
เป็นการพลิกเกมทางการเมืองอย่างชนิดที่ฝ่ายทรัมป์จะต้องเผชิญกับคู่แข่ง...กมลา แฮร์ริส...อย่างตั้งตัวไม่ติด เพราะคาดไม่ถึงว่าไบเดนจะเลือกกมลา เพื่อปิดช่องทางไม่ให้พรรคเดโมแครตเกิดความแตกแยกเป็นหลายมุ้งที่จะฟัดเหวี่ยงกันแข่งขันเป็นตัวแทนพรรค
ในปี 1953 พรรคเดโมแครตต้องแพ้ให้แก่นายพลไอเซนฮาวร์ จากพรรครีพับลิกัน...เช่นเดียวกับปี 1968 ที่นิกสันจากรีพับลิกันกำชัยชนะ... เพราะเดโมแครตเกิดความแตกแยกในการประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อคัดเลือกตัวแทนพรรค
กมลา แฮร์ริส ยังสามารถเรียกความเชื่อมั่นคืนมาจากผู้บริจาค ทั้งรายเล็กรายน้อยที่ภายใน 2 ชม.เงินบริจาคเข้ามาเกือบ 50 ล้านดอลลาร์ และใน 24 ชม.ก็เข้ามาเกือบ 100 ล้าน...และผู้บริจาครายใหญ่ก็เข้ามาถึง 150 ล้านเหรียญ...จากนักแสดงยักษ์เช่น จอร์จ คลูนีย์ และเหล่าดาราดังๆ จากฮอลลีวูด
เธอยังสามารถได้รับคะแนนจากเหล่าตัวแทน (delegates) ที่เคยมอบให้แก่ไบเดน ช่วงทำการซาวเสียง (Primaries) ตอนต้นปี...ในเวลาเพียง 24 ชม. เธอได้ติดต่อและรวบรวมคะแนนได้กว่า 2,200 คะแนน จากทั้งหมดประมาณ 4,000 คะแนน...เรียกว่า ชนะขาดลอย (ถ้าจะบังเอิญมีใครเสนอหน้าเข้ามาแข่ง...ซึ่งนาทีนี้ไม่น่ามีใครกล้ามาแข่งด้วยแล้ว)
ช่วงต้นสิงหาคม ทางพรรคน่าจะจัดให้มีการลงคะแนนจากเหล่า delegates อย่างไม่เป็นทางการเรียกว่า Roll-Call mini primary เพื่อรวมเสียงเป็นปึกแผ่น แล้วเมื่อถึง 19 สิงหาคม ในการประชุมใหญ่ของพรรค ก็จะไม่มีการแตกแยกแบบที่เกิดขึ้นในปี 1953 และ 1968 นั่นเอง
เป็นการเปลี่ยนวิกฤตขั้นรุนแรงให้เป็นโอกาสที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพรรคเดโมแครตอย่างไม่น่าเชื่อ
และเป็นโอกาสอันงามที่สหรัฐฯ อาจได้ปธน.หญิงคนแรก และเป็นหญิงผิวดำและหญิงเชื้อสายเอเชียพร้อมๆ ในคนเดียวกันคือ 3 in 1 ทีเดียว (ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้นได้ในภาวะปกติ)
ด้านรีพับลิกันที่เดิมดูเกิดกระแสทรัมป์ฟีเวอร์-ทั้งโดนยิงได้คะแนนสงสาร; ทั้งอายุน้อยกว่าและกระฉับกระเฉงกว่าไบเดน...ขณะนี้ดูจะพลิกจากเป็นต่อ, มาเป็นรองทันที เมื่อต้องมาต่อสู้กับอดีตอัยการที่ยึดถือกฎหมายและความถูกต้องเป็นอาวุธ เพื่อมาปราบคนที่ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และความถูกต้องศีลธรรมอันดีงาม...และความฉับไวของกมลา ที่จะตอบโต้อย่างทันควันและเฉียบคมกับคำพูดบิดเบือนและหยาบกระด้างของทรัมป์