xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองในเดโมแครตยังไม่นิ่ง! รอลุ้นงานประชุมใหญ่หลังไบเดนยอมถอนตัว หนุนรอง ปธน.แฮร์ริสลงศึกชิงทำเนียบขาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ชูมือของรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส หลังจากชมการจุดพลุเฉลิมฉลองวันชาติสหรัฐฯ 4 กรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา จากระเบียงอาคารทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ทั้งนี้ ไบเดนเพิ่งประกาศในวันอาทิตย์ (21 ก.ค.) ยอมถอนตัวจากการลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยในเดือนพฤศจิกายนนี้ และจะให้การสนับสนุนแฮร์ริสเป็นแคนดิเดตของพรรคเดโมแครตแทนที่
“ไบเดน” ประกาศถอนตัวจากการลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย และหันมารับรอง “แฮร์ริส” ลงสนามแทน อย่างไรก็ดี แม้ชาวเดโมแครตจำนวนมากออกมาสนับสนุนรองประธานาธิบดีหญิงผู้นี้อย่างรวดเร็ว แต่ยังมีสมาชิกทรงอิทธิพลหลายคน เช่น โอบามา และเพโลซี ที่ยังนิ่งเฉย ขณะที่โพลซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาพบว่า แฮร์ริสไม่ได้มีภาษีดีกว่าไบเดนในการลงแข่งขันกับทรัมป์

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน วัย 81 ปี ประกาศผ่านจดหมายที่โพสต์บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์เมื่อวันอาทิตย์ (21 ก.ค.) ว่า เป็นเกียรติอย่างที่สุดในชีวิตที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และแม้เขามีความตั้งใจลงรับเลือกตั้งอีกสมัย แต่เชื่อว่าจะเป็นการดีที่สุดสำหรับทั้งพรรคเดโมแครตและประเทศชาติที่เขาจะถอนตัวและโฟกัสกับการปฏิบัติหน้าที่จนครบวาระ

หลังจากนั้นไม่นาน ไบเดนประกาศให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่และรับรองรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส เป็นตัวแทนพรรคลงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี แข่งกับโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน

การตัดสินใจที่สร้างความประหลาดใจอย่างมากครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากผลงานที่เลวร้ายของไบเดนในการดีเบตกับทรัมป์เมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งกระตุ้นความกังวลเกี่ยวกับอายุและความเฉียบแหลมทางความคิดสติปัญญาของเขา และเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสกดดันให้เขาถอนตัวออกไป

พวกผู้สนับสนุนเดโมแครตจำนวนไม่น้อยมองการณ์แง่ดีว่า ถึงแม้ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้พรรควุ่นหนักอีกครั้งก่อนถึงศึกเลือกตั้งวันที่ 5 พ.ย. แต่ก็อาจชุบชีวิตเดโมแครตให้กลับกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาใหม่ โดยแฮร์ริสนั้นได้รีบออกมาแถลงยืนยันเป้าหมายในการเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของอเมริกาและ “คว่ำโดนัลด์ ทรัมป์”

ทางฝั่งทรัมป์นั้น ไม่พลาดที่จะโพสต์ข้อความบนเครือข่าย “ทรูธ โซเชียล” ของตัวเอง โจมตีไบเดนทันควันว่า ขาดคุณสมบัติทั้งในการลงเลือกตั้งประธานาธิบดีและในการดำรงตำแหน่งนี้ต่อไป

ด้านวุฒิสมาชิก เจ.ดี. แวนซ์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กับทรัมป์ วิพากษ์วิจารณ์แฮร์ริสว่า เป็นผู้ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่มาตลอดกับไบเดน ซึ่งตนถือว่าเป็นประธานาธิบดีแย่ที่สุดตลอดชั่วชีวิตของตนทีเดียว

กระนั้น มีนักวิเคราะห์บางรายมองว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โตอย่างปุบปับคราวนี้ อาจทำให้รีพับลิกันเสียศูนย์ เนื่องจากวางแผนหาเสียงโดยเน้นการโจมตีไบเดนเป็นหลัก นอกจากนั้นแล้ว ยังอาจทำให้ทรัมป์ วัย 78 ปี กลายเป็นเป้าแทนที่ ในฐานะเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน โดยที่ต้องต่อกรกับคู่แข่งซึ่งน่าจะมีอายุน้อยกว่าหลายสิบปี

การตัดสินใจล่าสุดของไบเดนยังส่งผลให้การเลือกตั้งที่คนจำนวนมากมองว่า เป็นศึกล้างตาระหว่างสองผู้เฒ่าทรัมป์-ไบเดนที่น่าเบื่อ กลับกลายเป็นหนึ่งในการต่อสู้ที่น่าสนใจที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันยุคใหม่

หลังการประกาศถอนตัวของไบเดน สมาชิกทรงอิทธิพลหลายคนของเดโมแครต เช่น บิลล์ และฮิลลารี คลินตัน รวมถึงผู้ที่ถูกมองว่า อาจเป็นคู่แข่งแย่งชิงการเป็นตัวแทนเดโมแครตอย่าง แกวิน นิวซอม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ออกมาประกาศสนับสนุนแฮร์ริสแทบจะในทันที

เวลาเดียวกัน “แอ็กต์บลู” ซึ่งเป็นกลุ่มระดมทุนของเดโมแครต รายงานว่า แฮร์ริสได้รับเงินบริจาคจากผู้สนับสนุนรายย่อยรวม 46.7 ล้านดอลลาร์ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังประกาศลงแข่งแทนไบเดน และถือเป็นยอดการระดมทุนสูงสุดในวันเดียวในรอบปีนี้

สำหรับขั้นตอนต่อไปถัดจากนี้ เดโมแครตต้องรีบใช้โอกาสการประชุมใหญ่ของพรรคที่กำหนดจัดขึ้นในเมืองชิคาโก ตั้งแต่วันที่ 19 เดือนหน้า เพื่อยืนยันชื่อผู้สมัครที่เป็นตัวแทนพรรคคนใหม่ โดยที่พรรคเดโมแครตให้สัญญาว่า จะจัดการเสนอชื่อแคนดิเดตแทนไบเดนอย่างโปร่งใสและเป็นระเบียบเรียบร้อย

ทั้งนี้ แฮร์ริส ซึ่งเป็นรองประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์อเมริกา แถมยังเป็นคนผิวดำคนแรกและคนเชื้อสายเอเชียใต้คนแรกซึ่งได้ขึ้นครองตำแหน่งทางการเมืองสูงถึงขนาดนี้ แถลงยกย่องไบเดนว่ากระทำเพื่อส่วนรวมและด้วยความรักชาติ พร้อมประกาศว่า เธอจะทำให้ตัวเองได้เป็นตัวแทนพรรคในศึกเลือกตั้งครั้งนี้

อย่างไรก็ดี ยังมีสมาชิกทรงอิทธิพลบางคน เช่น อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา แนนซี เพโลซี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ฮาคีม เจฟฟรีส์ ผู้นำเสียงข้างน้อยในสภาล่าง และชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา รวมทั้งเกรตเชน วิตเมอร์ ผู้ว่าการรัฐมิชิแกน และแอนดี้ บีเชียร์ ผู้ว่าการรัฐเคนทักกี ซึ่งเป็นสองตัวเก็งที่อาจลงสมัครเพื่อเป็นตัวแทนพรรค ที่ยังไม่ได้ประกาศสนับสนุนแฮร์ริสอย่างเป็นทางการ

โอบามานั้นพูดตั้งข้อสังเกตเพียงว่า สถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยกำลังรออยู่ แต่เขามั่นใจว่า เหล่าผู้นำพรรคจะสามารถจัดการเสนอชื่อตัวแทนพรรคที่จะเป็นแคนดิเดตซึ่งโดดเด่น

การตัดสินใจถอนตัวของไบเดนเกิดขึ้นขณะที่บรรยากาศการเลือกตั้งของอเมริกากำลังทั้งตึงเครียดและทั้งวุ่นวาย โดยทางฝ่ายทรัมป์เพิ่งรอดชีวิตจากการพยายามลอบสังหารระหว่างหาเสียงเมื่อวันที่ 13 ที่ผ่านมา ขณะที่ฝั่งเดโมแครตถกเถียงกันหนักมาตลอดหลายสัปดาห์มานี้ว่า ไบเดนควรถอนตัวหรือสู้ต่อ

มาถึงตอนนี้ไบเดนกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์อเมริกาที่ถอนตัวจากการลงเลือกตั้งอีกสมัยกลางคัน อีกทั้งเป็นการถอนตัวที่ค่อนข้างล่าช้า โดยใช้เวลากว่า 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาในการต้านทานเสียงเรียกร้องให้เขาสละสิทธิในการเข้าแข่งขัน หลังการดีเบตสุดช็อกเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่หลายครั้งเขายืนอ้าปากค้างลืมถ้อยคำที่จะพูด

ขณะที่แฮร์ริสนั้น มีจุดอ่อนตรงที่ไม่สามารถสร้างผลงานโดดเด่นในช่วงปีแรกๆ ในทำเนียบขาว รวมทั้งย่ำแย่ในเรื่องการแก้ปัญหาผู้อพยพ แต่ทำได้ดีในการหาเสียงประเด็นที่ได้รับความสนใจสูงอย่างสิทธิการทำแท้ง ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มหนุ่มสาวและหัวก้าวหน้าให้ความสำคัญ

กระนั้น สมาชิกเดโมแครตบางคนยังกังวลกับการเสนอชื่อแฮร์ริสเป็นตัวแทนพรรค ส่วนหนึ่งเนื่องจากประวัติศาสตร์ยาวนานในอเมริกาในเรื่องการกีดกันเชื้อชาติและเพศภาวะ

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า แฮร์ริสไม่ได้มีคะแนนนิยมดีกว่าไบเดนหากต้องเข้าแข่งขันกับทรัมป์ โดยโพลของรอยเตอร์/อิปซอสส์ระบุว่า แฮร์ริสและทรัมป์ได้คะแนน 44% เท่ากันระหว่างการสำรวจความคิดเห็นในวันที่ 15-16 ก.ค. หลังจากความพยายามลอบสังหารทรัมป์เมื่อวันที่ 13 ก.ค.

ขณะเดียวกัน ทรัมป์นำไบเดน 43% ต่อ 41% ในโพลเดียวกัน ซึ่งความแตกต่างเพียง 2% ไม่มีความหมายนักเมื่อพิจารณาว่า โพลมีค่าความคลาดเคลื่อน 3%

(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี/เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น