xs
xsm
sm
md
lg

‘แอนนา เมย์ หว่อง’ ดาราอเมริกันเชื้อสายจีนคนแรก ปรากฏบนเหรียญสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แอนนา เมย์ หว่อง (Anna May Wong) ดาราหญิงชาวอเมริกันเชื้อสายจีนที่มีบทบาทโลดโผนในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดยุคเมื่อกว่าศตวรรษที่ผ่านมา ได้หวนกลับมาเป็นข่าวหน้าสื่อโลก หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วโรงกษาปณ์สหรัฐฯ (U.S.Mint) แถลงเปิดตัวเหรียญควอเตอร์พิเศษ ที่มีภาพแอนนา เมย์ หว่อง ปรากฏอยู่บนเหรียญ โดยเป็นเหรียญควอเตอร์สหรัฐ มูลค่าหน้าเหรียญ 25 เซนต์ ด้านหนึ่งเป็นภาพปรากฏของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอร์จ วอชิงตัน ผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ และอีกด้านเป็นภาพของหว่อง


ภาพจากโรงกษาปณ์สหรัฐฯ : แอนนา เมย์ หว่อง ดาราหญิงชาวอเมริกันเชื้อสายจีนคนแรกในฮอลลีวูด ปรากฏบนเหรียญ 25 เซนต์ของสหรัฐฯ ภาพเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2022
เหรียญควอเตอร์พิเศษซึ่งเริ่มส่งมอบเข้าสู่ตลาดแล้วในวันนี้ (24 ต.ค.) ถือเป็นเหรียญรุ่นที่ 5 ในโครงการเหรียญเชิดชูเกียรติสตรีอเมริกัน (American Women Quarters) ซึ่งเป็นโครงการระยะ 4 ปี (2022-2025) ที่เฉลิมฉลองความสำเร็จและการมีส่วนร่วมของสตรีอเมริกันด้านการพัฒนาและสร้างประวัติศาสตร์แก่ประเทศ โดยบรรดาสตรีที่ได้รับเกียรติในโครงการนี้ต่างมาจากภูมิหลังที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เชื้อชาติ และภูมิศาสตร์

ดาราอเมริกันเชื้อสายจีน นักสู้แห่งยุคกฎหมายกีดกันเชื้อชาติ


แอนนา เมย์ หว่อง (1905-1961) มีชื่อจีนคือ หวงหลิ่วซวง (黄柳霜) เกิดในนครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย พ่อและแม่ของหว่องเป็นชาวจีนอพยพเข้ามายังสหรัฐฯ และเธอถือเป็นชาวอเมริกันรุ่นแรกของครอบครัว อ้างอิงจากพ็อดแคส joysauce สื่อโคเรียนอเมริกันระบุว่า หว่องมักแอบหนีเรียนไปคลุกคลีที่กองถ่ายภาพยนตร์ฮอลลีวูด

แอนนา เมย์ หว่อง ในวัย 14 ปี ได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องแรก คือ ภาพยนตร์เงียบดรามาอเมริกัน “เทพีโคมแดงส่องแสง” (The Red Lantern) เมื่อปี 1919 โดยเป็นนักแสดงตัวประกอบ

แอนนา เมย์ หว่อง ดาราหญิงอเมริกันเชื้อสายจีน ภาพถ่ายเมื่อปี 1922 (แฟ้มภาพ เอพี)
ในที่สุด หว่อง ก็ได้รับบทนักแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง “เดอะ โทลล์ ออน เดอะ ซี” (The Toll of the Sea) ในปี 1922 สองปีต่อมา เธอได้บทแสดงเป็นทาสมองโกล ในภาพยนตร์เรื่อง “The Thief of Bagdad” เป็นเวลาหลายปีที่เธอไม่มีงานแสดงเข้ามาเสนอให้โดยมีเพียงบทสาวยั่วสวาทชาวเอเชีย ต่อมาเธอเผ่นไปทำงานเกี่ยวกับฉากภาพยนตร์ในยุโรป และกลับสหรัฐฯ ในต้นทศวรรษที่ 1930 หว่องได้ร่วมแสดงภาพยนตร์ในบทอย่างเช่น ลูกสาวสุดแสบในภาพยนตร์เรื่อง “Daughter of the Dragon” และมาดังระเบิดเถิดเทิงในปี 1932 จากการสวมบทบาทโสเภณีในภาพยนตร์ “Shanghai Express”

หว่อง ยังเป็นนักแสดงนำชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ปรากฏตัวในละครโทรทัศน์ของสหรัฐฯ เรื่อง “เดอะ แกลลอรี ออฟ มาดาม หลิ่วซวง” (The Gallery of Madame Liu-Tsong) เมื่อปี 1951

แม้ในยุคที่หว่องมีชีวิต กฎหมายกีดกันเชื้อชาติที่ยังมีอิทธิพลอยู่ ทำให้กลุ่มนักแสดงเชื้อสายเอเชียมีบทบาทจำกัด อย่างเช่นห้ามหญิงเลือดผสมได้รับการจุมพิตจากชายผิวขาว แต่หว่องก็ประสบความสำเร็จอย่างมากในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด เธอมีผลงานการแสดง รวมมากกว่า 60 เรื่อง

แอนนา เมย์ หว่อง ในภัตตาคารที่ Brown Derby ในลอสแองเจลิส ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 29 ต.ค.1942 (แฟ้มภาพ เอพี)
ผู้อำนวยการโรงกษาปณ์สหรัฐฯ เวนตริส ซี.กิบสัน (Ventris C.Gibson) กล่าวยกย่องหว่องเป็นผู้สนับสนุนที่กล้าหาญ ประสบความสำเร็จในการเพิ่มความหลากหลายและบทบาทที่หลากมิติมากขึ้นสำหรับนักแสดงอเมริกันเชื้อสายเอเชีย เหรียญควอเตอร์ภาพหว่องได้รับการออกแบบเพื่อสะท้อนความยิ่งใหญ่และล้ำลึกในความสำเร็จของ แอนนา เมย์ หว่อง ผู้พิชิตปัญหาท้าทายและอุปสรรคต่างๆ ที่เธอเผชิญมาตลอดชีวิต

หว่องได้รับรางวัล Hollywood Walk of Frame ในปี 1960 ปีต่อมาเสียชีวิตระหว่างกำลังหลับจากปัญหาหัวใจกำเริบ ในวันที่ 3 ก.พ.ปี 1961

‘The Red Lantern’ ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ แอนนา เมย์ หว่อง ได้ร่วมแสดง

‘มุมจีน’ ขอเล่าแถมเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องแรกที่ แอนนา เมย์ หว่อง แสดง คือ The Red Lantern ปี 1919 และขอใช้ชื่อหนังเรื่องนี้ในพากย์ไทย ว่า  ‘เทพีโคมแดงส่องแสง’ สาวน้อยหว่องได้รับบทตัวประกอบใน The Red Lantern ภาพยนตร์เงียบดรามาอเมริกัน ที่นำเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ปลายราชวงศ์ชิง มาเป็นฉากหลัง

ภาพปกดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Red Lantern 1919  (แฟ้มภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/The_Red_Lantern)
The Red Lantern เป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมของสาวเลือดผสมผิวขาวและจีน ชื่อ Mahlee สวมบทโดย Alla Nozimova ที่ไปเป็นมิชชันนารีคริสเตียนในปักกิ่ง และได้ตกหลุมรักบุตรชายผู้นำมิชชัน ขณะเดียวกันในมิชชันยังมี ดร.แซม หวัง (Dr.Sam Wang) ผู้นำ ‘ขบวนการนักมวย’ ที่แฝงตัวอย่างลับๆ  แซม หวังหลงรัก Mahlee เขาได้ฉวยโอกาสในขณะที่ Mahlee ทุกข์ระทมขมขื่นในชะตาชีวิตที่ถูกดูแคลนในความเป็นคนเลือดผสมของเธอและยังผิดหวังในความรัก จึงชักชวนเธอมาเข้าร่วมขบวนการนักมวย และสวมบทบาทเป็น เทพีโคมแดงส่องแสง ผู้ทรงอำนาจศักดิ์สิทธิ์ลึกลับ  ‘เทพีโคมแดงส่องแสง’ มาปรากฏตัวในวันตรุษจีน เพื่อยืนยันว่าชัยชนะการปฏิวัติกำลังอยู่แค่เอื้อม การต่อสู้ของ ‘ขบวนการนักมวย’ กับกลุ่มพันธมิตรต่างชาติในจีน จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของชาวจีน ในที่สุด Mahlee ก็จบชีวิตด้วยยาพิษที่หวังยื่นให้เธอ

ทั้งนี้ ขบวนการนักมวย หรือที่มักเรียกกันว่า กบฏนักมวย เป็นเหตุการณ์ที่ชนชั้นรากหญ้าคือ ชาวบ้าน ชาวนา เกษตรกรในภาคเหนือจีนลุกขึ้นมาก่อการกำเริบขับไล่ชาวต่างชาติที่เข้ามาข่มเหงชาวจีนจนกลายเป็นจลาจลใหญ่ระหว่างปี ค.ศ.1899 และ ค.ศ.1901 หรือ ศึกพันธมิตรแปดชาติ (อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย-ฮังการี รัสเซีย ญี่ปุ่น)  สื่อตะวันตกเรียกกลุ่มก่อการนี้ว่า “นักมวย” (Boxer) เพราะพวกเขาฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบจีนที่เรียกว่า ‘มวยจีน’ โดยมีความเชื่อว่าจะอยู่ยงคงกระพันต้านทานอาวุธต่างชาติได้ ผู้หญิงที่เข้าร่วมขบวนการนักมวย ถูกเรียกขานว่า “โคมแดงส่องแสง” เนื่องจากสวมชุดสีแดงและถือโคมแดง


กำลังโหลดความคิดเห็น