รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส เดินทางไปหาเสียงที่รัฐสมรภูมิเลือกตั้งสำคัญแห่งแรกเมื่อวันอังคาร (23 ก.ค.) หลังจากมั่นใจได้รับการสนับสนุนจากพวกตัวแทนพรรคเพียงพอจะได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของเดโมแครตเพื่อสู้กับ โดนัลด์ ทรัมป์ แล้ว โดยที่เวลาเพิ่งผ่านพ้นไป 2 วันจากตอนที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศถอนตัว
แฮร์ริส มุ่งหน้าสู่เมืองมิลวอกี เมืองใหญ่ที่สุดของรัฐวิสคอนซิน เพื่อเปิดการปราศรัยครั้งแรกในฐานะที่ตัวเธอเองจะลงชิงชัยเป็นประธานาธิบดีตอนต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังจากเมื่อวันอาทิตย์ (21) ไบเดนเพิ่งประกาศยอมถอนตัวตามแรงกดดันของพวกผู้นำและผู้สนับสนุนทางการเงินคนสำคัญของเดโมแครต แล้วหันมาสนับสนุนให้เธอขึ้นเป็นแคนดิเดตของพรรคแทนที่ เพื่อต่อสู้ชิงชัยกับทรัมป์
ทั้งนี้ มีรายงานว่านับจากบ่ายวันนั้นเป็นต้นมา แฮร์ริสสามารถระดมทุนสนับสนุนเข้ามาได้มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งได้รับการหนุนหลังจากเจ้าหน้าที่พรรคและกลุ่มการเมืองจำนวนมาก เป็นต้นว่า อดีตประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน และอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ฮิลลารี คลินตัน
กระทั่ง แนนซี เพโลซี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ผู้ทรงอิทธิพล ซึ่งสงวนท่าทีในตอนแรกๆ ก็ได้โพสต์ข้อความทางแพลตฟอร์มเอ็กซ์ในวันจันทร์ (22) แล้วว่า "ในขณะที่ดิฉันมีความภาคภูมิใจอย่างมหาศาลและมองในแง่บวกอย่างไม่มีขีดจำกัดต่ออนาคตของประเทศของเรา ดิฉันขอรับรองรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ"
อย่างไรก็ตาม ยังมีสมาชิกเดโมแครตมากบารมีบางคนที่ยังไม่ได้ออกมาสนับสนุนแฮร์ริส เช่น อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ตลอดจน ฮาคีม เจฟฟรีส์ ผู้นำเดโมแครตในสภาล่าง และชัค ชูเมอร์ ผู้นำเดโมแครตในสภาสูง
แม้การเดินทางไปยังมิลวอกีเป็นเรื่องกำหนดไว้ตั้งแต่ก่อนที่ไบเดนจะประกาศยุติการลงสมัครเลือกตั้ง แต่ถือเป็นโอกาสดีที่แฮร์ริสจะได้เตรียมพร้อมสำหรับการแบกรับภารกิจของเดโมแครตในการต่อสู้กับ ทรัมป์ ผู้สมัครของพรรครีพับลิกัน รวมทั้งฟื้นฟูความสงบและความเชื่อมั่นหลังจากที่ก่อนหน้านี้ภายในพรรคเดโมแครตว้าวุ่นอยู่นานหลายสัปดาห์เกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของไบเดน
การเยือนมิลวอกีของแฮร์ริสยังเกิดขึ้นหลังจากที่เมืองนี้ถูกใช้เป็นสถานที่จัดการประชุมใหญ่พรรครีพับลิกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยที่แฮร์ริสเองกำลังตระเตรียมข้อความเด็ดๆ ที่จะใช้โจมตีทรัมป์ขณะที่เหลือเวลาอีกแค่ 100 กว่าวันจะถึงวันเลือกตั้ง
วิสคอนซินนั้นถือเป็น 1 ใน 3 รัฐ “ปราการสีน้ำเงิน” ซึ่งเห็นกันว่ามีความสำคัญต่อแผนการเลือกตั้งปี 2024 ของเดโมแครต โดยอีก 2 รัฐคือ มิชิแกน และเพนซิลเวเนีย
ผลโพลที่ออกมาก่อนหน้านี้พบว่า ทรัมป์มีคะแนนนำไบเดนในวิสคอนซิน แต่เมื่อมาถึงเวลานี้ ถือว่ายังเร็วเกินไปที่จะชี้ว่า ทรัมป์จะยังนำหรือไม่เมื่อต้องชิงชัยกับแฮร์ริส
เมื่อวันจันทร์ (22) ระหว่างแวะที่สำนักงานใหญ่ทีมรณรงค์หาเสียงซึ่งเธอได้รับสืบทอดต่อจากไบเดน ณ เมืองวิลมิงตัน รัฐเดลาแวร์ แฮร์ริสได้กล่าวปราศรัยพูดถึงประเด็นหลักๆ ที่น่าจะใช้ในการต่อสู้กับทรัมป์ ด้วยการชูความแตกต่างระหว่างตนเองซึ่งเคยเป็นอัยการรัฐ กับทรัมป์ที่เป็นผู้ถูกตัดสินกระทำผิดอาญาร้ายแรง โดยเธอย้ำว่า “รู้จักคนอย่างทรัมป์ดี” และเคยจัดการกับคนเช่นนี้มามาก พร้อมบรรยายภาพตัวเองเป็นผู้ปกป้องโอกาสทางเศรษฐกิจและสิทธิในการทำแท้ง
แฮร์ริสสำทับว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเสนอทางเลือกที่ชัดเจนระหว่างจุดยืนของทรัมป์ที่ต้องการนำอเมริกากลับไปยังยุคที่ประชาชนไม่มีเสรีภาพอย่างเต็มที่และขาดสิทธิที่เท่าเทียม ขณะที่ตนเองเชื่อมั่นในอนาคตที่จะส่งเสริมประชาธิปไตย ปกป้องเสรีภาพในการเจริญพันธุ์ และรับประกันว่า ทุกคนจะมีโอกาสไม่ได้แค่อยู่รอดเท่านั้น แต่ยังมีโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าด้วย
ท่าทีที่มั่นอกมั่นใจเช่นนี้ของแฮร์ริส เกิดขึ้นหลังจากมีรายงานว่าเธอได้ใช้ความพยายามอย่างหนักในการโน้มน้าวให้พวกผู้แทนของพรรคเดโมแครต ที่มีสิทธิออกเสียงในการประชุมใหญ่พรรคเดือนสิงหาคมนี้ ให้หันมาลงคะแนนให้เธอ ทั้งนี้ ผู้แทนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีพันธะผูกพันตามผลการเลือกตั้งขั้นต้นทั้งแบบไพรมารีและแบบคอคัสตามรัฐต่างๆ ตั้งแต่ต้นปีนี้ว่าจะลงคะแนนเลือกไบเดนเป็นแคนดิเดต แต่เมื่อไบเดนถอนตัว ก็ทำให้พวกเขาสามารถไปเลือกคนอื่น
จากผลสำรวจของสำนักข่าวเอพีระบุว่า เมื่อถึงคืนวันจันทร์ แฮร์ริสได้รับการสนับสนุนจากคณะผู้แทนแล้วกว่า 2,500 คน เกินไปไกลจากขีด 1,976 คนที่เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับการได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรคลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
อย่างไรก็ดี เอพียังไม่สามารถระบุว่า แฮร์ริสเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรคอย่างเป็นทางการ เนื่องจากผู้แทนเหล่านี้ยังมีอิสระที่จะเปลี่ยนใจ จวบจนกระทั่งถึงการประชุมใหญ่พรรคกลางเดือนสิงหาคมนี้ หรือเกิดกรณีที่เดโมแครตตกลงจัดให้มีการลงคะแนนเสมือนจริงก่อนการประชุมใหญ่ที่ชิคาโก ตามที่มีบางฝ่ายเสนอ
ในอีกด้านหนึ่ง เรื่องที่มีการคาดเดากันอย่างกว้างขวางอีกเรื่องหนึ่ง คือผู้ที่แฮร์ริสจะเลือกเป็นคู่แคนดิเดตในตำแหน่งรองประธานาธิบดี โดยแหล่งข่าววงในเปิดเผยรายชื่อตัวเก็งว่า มีเช่น แอนดี บีเชียร์ ผู้ว่าการรัฐเคนทักกี พีต บุตติเจจ รัฐมนตรีคมนาคม รอย คูเปอร์ ผู้ว่าการรัฐนอร์ทแคโรไลนา วุฒิสมาชิกมาร์ก เคลลี จากรัฐแอริโซนา จอช ชาปิโร ผู้ว่าการรัฐเพนซิลเวเนีย เจ.บี. พริตซ์เกอร์ ผู้ว่าการรัฐอิลลินอยส์ และเกรทเชน วิตเมอร์ ผู้ว่าการรัฐมิชิแกน
(ที่มา : เอพี/เอเอฟพี/รอยเตอร์)