การประท้วงของนักศึกษาปัญญาชนตามแคมปัสต่างๆ กว่า 45 รัฐของสหรัฐฯ ทั้งไอวีลีก, ท็อปเทน, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชั้นนำ, มหาวิทยาลัยแห่งรัฐต่างๆ กำลังสร้างจิตสำนึกแก่สังคมอเมริกันที่จะทบทวนการตีขลุมมากว่า 70 ปีว่า ประเทศสหรัฐฯ และประเทศเกิดใหม่อิสราเอล มีค่านิยมเหมือนกันในการเทิดทูนประชาธิปไตย และสหรัฐฯ มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องปกป้องอิสราเอลที่ตนเองได้ทำคลอดมากับมือ (เมื่อปี 1948-ที่ล็อบบี้ให้รับรองประเทศอิสราเอลในองค์การสหประชาชาติ) ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอิสราเอล (ตั้งแต่การประท้วงการเริ่มก่อตั้งรกรากของประเทศอิสราเอล หรือการต่อต้านของเหล่าประเทศอาหรับที่ล้อมกรอบอิสราเอล และอิสราเอลได้ทำการขยายนิคมรุกแผ่นดินเกิดของชาวปาเลสไตน์ตลอดเวลา) รวมทั้งการปิดล้อมคว่ำบาตรของอิสราเอลต่อดินแดนฉนวนกาซา จนเด็กปาเลสไตน์ต้องขาดอาหารและยาตั้งแต่ 1993 และตายไปเป็นล้านๆ คน
การเทิดทูนความเป็นประชาธิปไตยในอิสราเอล (ตรงข้ามกับประเทศที่ห้อมล้อมอิสราเอล ซึ่งเป็นทั้งเหล่าอาหรับหรือชาวเปอร์เชีย หรือชาวเติร์ก ที่สหรัฐฯ มองว่าเป็นเผด็จการหรือราชาธิปไตย ไม่ใช่ประชาธิปไตย) ก็คล้ายกับประเทศสหรัฐฯ ที่ยอมส่งทหารอเมริกันไปพิทักษ์ประชาธิปไตยในเวียดนามใต้ เพราะเวียดนามใต้กำลังต่อสู้กับเวียดนามเหนือ (เวียดกง) ทั้งๆ ที่เวียดนามใต้มีรัฐบาลที่นำโดยปธน.กังฉินที่มีคอร์รัปชันสูงมาก ตลอดจนแม่ทัพนายกองที่โกงกินบ้านเมือง จนพระสงฆ์ชาวเวียดนามทนไม่ไหว ต้องออกมาจุดไฟเผาตนเองมรณภาพไปหลายรูปทีเดียว และทหารอเมริกันก็ตายไปถึง 58,000 คน และบาดเจ็บหลายแสนคน ในการพิทักษ์มหามิตรที่เวียดนามใต้
และคงไม่ต่างจากการส่งทหารอเมริกันเข้าไปสู้กับตอลิบานในอัฟกานิสถานที่มาเหยียบจมูกสหรัฐฯ ด้วยการระเบิดทำลายอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ที่นิวยอร์ก และบางส่วนของอาคารเพนตากอน
สว.คนดังเบอร์นี แซนเดอร์ส (เขานับถือศาสนายิวด้วย) ได้ฟันธงให้เห็นภาพชัดว่า ปธน.ไบเดนมีโอกาสสูงมากที่จะแพ้การเลือกตั้งปลายปีนี้ ก็จากนโยบายต่างประเทศที่ผิดพลาดในการสนับสนุนอย่างหลับหูหลับตาค้ำชูนายกฯ เนทันยาฮู และครม.สงครามของอิสราเอล ที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์
เช่นเดียวกับพรรคเดโมแครตในปี 1968 ที่ต้องเสียตำแหน่งปธน.สหรัฐฯ ให้กับนายริชาร์ด นิกสัน; ทำให้ปธน.ลินดอน จอห์นสัน เป็นปธน.จากพรรคเดโมแครตได้แค่สมัยเดียว (JFK ถูกลอบสังหารปี 1963 และ LBJ ซึ่งเป็นรองปธน.ได้เข้ารับตำแหน่งแทนอยู่ 1 ปี; ต่อมาเขาได้รับชัยชนะเป็นปธน.ช่วง 1965-1968); เพราะนโยบายเพิ่มกำลังทหารอเมริกันเข้าสู่สงครามเวียดนาม ทำให้เกิดการต่อต้านในแคมปัสต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ ที่นักศึกษาไม่ยอมให้ถูกเกณฑ์ไปรับใช้ชาติ เพื่อพิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตยในเวียดนาม แม้แต่นักมวยแชมป์คนดังมูฮัมหมัด อาลี ก็ออกมาต่อต้านการถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารเพื่อรบในเวียดนาม
การประชุมใหญ่คัดเลือกผู้สมัครในนามพรรคเดโมแครต (เพื่อสมัคร ปธน.) ที่เมืองชิคาโกในปี 1968 กำลังถูกเปรียบเทียบกับการประชุมใหญ่ในปีนี้ ที่หมุนเวียนมาจัดที่เมืองชิคาโกอีกครั้ง
ปี 1968 เป็นการประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตที่ชุลมุนวุ่นวายที่สุดในประวัติของเดโมแครต เพราะมีการประท้วงกลุ่มต่อต้านสงครามเวียดนามอย่างดุเดือดเลือดพล่านที่ล้อมรอบการประชุม และกองทัพตำรวจได้ปะทะกับผู้ประท้วง จนเกิดคนตายถึง 11 คน บาดเจ็บเป็นร้อย ตำรวจเองบาดเจ็บสาหัส 90 คน ซึ่งก่อนหน้าการประชุมก็มีการประท้วงตามแคมปัสต่างๆ ทั่วประเทศต่อต้านสงครามดังเช่นในปีนี้
แม้มีความแตกต่างกับปี 1968 เพราะวันนั้นเป็นการประท้วงสงครามเวียดนาม และการเกณฑ์ทหารไปรับใช้สงคราม แต่วันนี้ไม่มีการเกณฑ์ทหาร (มีแต่อาสาสมัคร) แต่ภาพจากโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะจากติ๊กต๊อกได้ปลุกวิญญาณการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้กับชาวปาเลสไตน์ ซึ่งแม้แต่นักศึกษายิว, อาจารย์มหาวิทยาลัยชาวยิวเอง ก็ออกมาร่วมประท้วงสงครามที่ครม.ของนายเนทันยาฮูฆ่าฟันชีวิตและทำลายบ้านเรือนของชาวปาเลสไตน์เพื่อให้สูญสิ้นเผ่าพันธุ์
คะแนนนิยมในปธน.ไบเดน ที่ตีตื้นขึ้นมาหลังการแถลงนโยบาย (State of the Union Address) ช่วงต้นกุมภาพันธ์ กำลังลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มฐานเสียงคนหนุ่มสาวและปัญญาชน
แม้ไบเดนจะพยายามกู้คะแนนนิยมให้กลับคืนมา ด้วยการพยายามอย่างหนักให้มีการหยุดยิงในกาซาให้ได้ในขณะนี้ ก็ยังมีความไม่แน่นอนอย่างสูงว่าจะสำเร็จหรือไม่...หรือบางทีอาจจะสายเกินไปเสียแล้ว