...ชัยชนะของนิยายกระแสนิยม กับความขื่นขมของนักเขียนชั้นครู...
คนที่ติดตามการประกวดและประกาศผลรางวัลออสการ์ปีล่าสุด เชื่อว่า ใครหลายคนคงรู้สึกตื่นเต้นดีใจไปกับหนังของผู้กำกับคริสโตเฟอร์ โนแลน เรื่อง Oppenheimer ซึ่งสามารถคว้ารางวัลใหญ่ ๆ ไปแทบทั้งหมด เช่น ผู้กำกับยอดเยี่ยมและภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นการประสบความสำเร็จอย่างสูงของผู้กำกับและหนังเรื่องนี้
อย่างไรก็ดี รางวัลใหญ่สาขาหนึ่งซึ่งน่าสนใจไม่น้อยก็คือ บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม ซึ่ง Oppenheimer ก็ได้เข้าชิงในสาขานี้ด้วย แต่เรื่องที่พิชิตรางวัลนี้ไป คือเรื่อง American Fiction ซึ่งดัดแปลงมาจากนวนิยายเรื่อง Erasure (อีเรเฌอร์) ของ เพอร์ซิวัล เอฟเวอเร็ตต์ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2001
American Fiction เดินทางสู่แผ่นฟิล์มผ่านการกำกับของ คอร์ด เจฟเฟอร์สัน ซึ่งสามารถดูได้ทางช่อง Prime หนังเรื่องนี้มี เจฟฟรีย์ ไรต์ นักแสดงมากฝีมือและคว้ารางวัลมาแล้วมากมาย เป็นดารานำ
ด้วยท่าทีการเล่าเรื่องแบบหนังดราม่าชีวิตที่ค่อยเป็นค่อยไป American Fiction พาเราไปทำความรู้จักกับ ธีโลเนียส แอลลิสัน หรือ “มังก์” ชายผิวสีที่นอกจากจะเป็นอาจารย์สอนด้านวรรณกรรมแล้ว เขายังเป็นนักเขียนนวนิยายที่ถ้าพูดตรง ๆ คือนิยายที่ขายไม่ดี มีคนอ่านน้อย แม้เขาจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับคนผิวสี แต่ก็แตกต่างจากนิยายผิวสีที่มวลชนนิยม หลายคนบอกว่านิยายของเขาเป็นแบบที่ต้อง “ปีนบันไดอ่าน”
แน่นอนว่า ในทัศนะของมังก์ เขาเห็นว่า นิยายผิวสีที่คนอ่านเยอะและขายดี รวมทั้งถูกใจคนขาว ล้วนแล้วแต่วนเวียนอยู่กับนิยายแนวกระแสนิยมซึ่งตอบสนองอารมณ์พื้น ๆ อย่างดรามาชีวิตคนผิวสีในมุมต่าง ๆ เป็นงานแบบ Stereotype ที่มีให้อ่านกันจนเกร่อ เช่น คนผิวสีติดอยู่ในกับดักยาเสพติด ชีวิตขัดสนและต้องสู้ ครอบครัวแตกสลาย ยุ่งเกี่ยวกับอาชญากรรม ไปจนถึงเรื่องคนผิวสีที่ถูกตำรวจคนขาวยิงตาย เป็นต้น
เขาเห็นว่า เมื่อไหร่นิยายเกี่ยวกับคนผิวสีจะหลุดพ้นไปจากวงจรพวกนี้เสียที และนั่นก็ทำให้เขาปฏิเสธที่จะเขียนนิยายแบบนั้น จนนักวิจารณ์และคนอ่านให้คำนิยามว่านิยายของเขานั้น “ดำไม่พอ” ซึ่งก็คือ เป็นนักเขียนผิวสีที่ไม่ได้พูดเรื่องคนผิวสีในแบบที่มวลชนคนขาวสนใจ อย่างไรก็ดี เมื่อรู้สึกหงุดหงิดกับนิยายพวกนี้มาก ๆ เข้า มังก์ก็ตัดสินใจทำประชดไปซะเลย ด้วยการเขียนนิยายประเภทที่เขาไม่ให้ค่าให้ราคา และนั่นก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่เขาเองก็คาดไม่ถึง ขนาดที่ว่า อยากจะลบนิยายเรื่องใหม่นี้ของตัวเองให้หายไปจากโลกเลยก็ว่าได้
ไม่ว่าจะอย่างไร นอกเหนือไปจากเรื่องของอาชีพและหน้าที่การงาน มังก์ยังมีอีกด้านของชีวิตที่เห็นเผิน ๆ ตอนแรก เหมือนจะสวยงามตามสมควร แต่เมื่อหนังดำเนินไป เราจะเห็นรอยปริแตกระหว่างเขากับสมาชิกในครอบครัว เป็นรอยรั่วที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมังก์และพี่น้องห่างเหินกันมานานหลายปี หรือถ้าจะพูดให้ถูกก็คือ เป็นตัวของมังก์เองที่จงใจห่างเหินและไม่คิดที่จะอุดรอยรั่วนั้น ด้วยเหตุนี้ เมื่อเขาถูกมหาวิทยาลัยขอให้เขาพักการสอนเพราะก่อเหตุไม่สบายใจให้กับนักศึกษาและสถาบัน เขาจึงใช้โอกาสนี้เดินทางกลับบอสตันถิ่นบ้านเกิดของเขา
แน่นอนว่า การเดินทางกลับบ้านครั้งนี้ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้เขาได้ทำความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างเขากับสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ รวมทั้งเป็นจุดเปลี่ยนเกี่ยวกับมุมมองการเขียนนวนิยายของเขาด้วย
ต้องยอมรับว่า ถึงแม้หนังจะไม่ได้มีอะไรโฉ่งฉ่าง แต่กลับทำให้เราติดตามเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบได้อยู่หมัด อีกทั้งการเล่าเรื่องสองส่วน ระหว่างสัมพันธ์ของมังก์กับครอบครัว และเรื่องในส่วนอาชีพนักเขียนของเขา ทั้งสองส่วนดำเนินไปด้วยกันอย่างกลมกล่อมกลมกลืน และดูเหมือนจะมีแง่มุมที่สะท้อนกันไปมาระหว่างสองส่วนนี้อย่างชวนให้คิด
เช่น ในแง่ชีวิต เขาห่างเหินกับครอบครัวคนรู้จักที่พร้อมจะรักและเข้าใจเขาเสมอ ในแง่งานเขียน เขาเหมือนนั่งอยู่บนหอคอยงาช้างโดยไม่ใส่ใจว่าคนอ่านต้องการอะไร คำพูดหนึ่งของน้องชายของมังก์ที่พูดกับเขาครั้งหนึ่งว่า “นายเป็นคนที่ทุกคนพร้อมจะรัก เพียงแต่นายยอมเปิดตัวเองให้คนเขารักบ้างเท่านั้น” อาจจะตีความได้ทั้งในแง่ชีวิตและการเขียนนิยายของเขาด้วย
อย่างไรก็ดี ในภาพรวมต้องบอกว่า อารมณ์ของหนังมีความตลกร้ายอยู่สูงมาก อีกทั้งเย้ยหยันเสียดสีอย่างเจ็บแสบ ผ่านบทสนทนาที่ฉลาดคมคาย แฝงนัยยะให้คิดต่อและตลกร้ายขึ้นไปอีก ความเสียดสีส่วนหนึ่งพุ่งเข้าใส่รสนิยมการสร้างสรรค์และเสพงานศิลปะอย่างวรรณกรรมหรือนวนิยาย ไปจนถึงภาพยนตร์ ที่เสียดสีสังคมอเมริกัน ตลอดจนการทำหนังของฮอลลีวูด ที่มักจะเสพและสร้างแต่งานสูตรที่ตอกย้ำภาพจำของคนดำแบบเดิม ๆ
ที่มันตลกร้ายแบบขำไม่ค่อยออกก็คือ ในขณะที่อเมริกันชนพยายามเชิดชูความหลากหลาย โดยเฉพาะความหลากหลายทางชาติพันธุ์หรือผิวสี แต่พอถึงงานวรรณกรรมและภาพยนตร์เกี่ยวกับคนผิวสี สังคมกลับแฮปปี้ที่จะตอบรับแต่ผลงานสูตรเดิม ๆ จากคนดำ ซึ่งในมุมมองของมังก์ มันไม่มีความหลากหลายและไม่มีอะไรให้ค้นหาแล้ว
หรือว่าจริง ๆ แล้ว เราจะทำอะไรให้แตกต่างไปทำไม ในเมื่อใคร ๆ เขาก็ทำกันแบบนี้ ชอบเสพกันแบบนี้ แบบที่มังก์เรียกว่างานแบบ Stereotype ซึ่งคนเขียน-คนทำหนัง ก็ประสบความสำเร็จกันอย่างดี ฝั่งคนอ่านคนดูก็ฟินดี แน่นอนว่า ข้อเท็จจริงนี้ มังก์ได้ประจักษ์ชัดกับตัวเองเป็นอย่างดี หลังจากที่งานเขียนของเขาซึ่งเขียนมาอย่างสั่ว ๆ ดันโดนใจใครต่อใครและขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แถมฮอลลีวูดยังของานเขียนชิ้นนี้ไปทำเป็นหนังซะอีกแน่ะ ตลกร้ายซะไม่มี!