กองทัพอิสราเอลยังคงปฏิบัติการก่ออาชญากรรมสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา แต่ละวันมีเด็ก สตรีและพลเรือนอื่นๆ เสียชีวิตหลายสิบคน
ยอดผู้เสียชีวิตชาวปาเลสไตน์มีมากกว่า 34,000 ราย บาดเจ็บกว่า 76,000 รายและที่สูญหายภายใต้ซากตึกอาคารต่างๆ ยังไม่ทราบจำนวนชัดเจน
ผู้นำรัฐบาลและกองทัพอิสราเอล ไม่สนใจเสียงประณามทั่วโลก ไม่แยแสคำวินิจฉัยของศาลโลกและคณะมนตรีความมั่นคงที่ให้หยุดยิงและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์
สิ่งที่เกิดขึ้นนอกประเทศอิสราเอลนั่นคือชาวยิวรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 40 ปีในสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้แสดงความเห็นอกเห็นใจชาวปาเลสไตน์และเดินขบวนเรียกร้องให้มีการหยุดยิง
ความไม่พอใจของชาวยิวรุ่นใหม่เริ่มขยายเป็นวงกว้างไปนอกสหรัฐฯ และยุโรปมีการเดินขบวนชุมนุมร่วมกับชาวปาเลสไตน์และชาวอาหรับรวมทั้งกลุ่มอื่นๆ ซึ่งต่อต้านอิสราเอล
ส่วนชาวยิวอายุเกินกว่า 40 ปีขึ้นไปยังคงสนับสนุนอิสราเอลในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์โดยมีรัฐบาลสหรัฐฯ สนับสนุนด้านด้านอาวุธ และเงินงบประมาณต่อเนื่อง
สหรัฐฯ ได้เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ร่วมกับอิสราเอลและถูกรังเกียจโดยประชาคมโลก
รัฐบาลในยุโรปเช่นอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี รวมทั้งประเทศอื่นๆ ที่สนับสนุนอิสราเอลด้านอาวุธก็ไม่พ้นข้อกล่าวหาเรื่องสมรู้ร่วมคิดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เช่นกัน
สิ่งที่ได้สร้างความกังวลและไม่พอใจอย่างแรงต่อผู้นำสหรัฐฯประธานาธิบดีโจ ไบเดนคือการชุมนุมในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐฯ ประท้วงสงครามในฉนวนกาซา
การชุมนุมยืดเยื้ออยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย รัฐนิวยอร์กและลามไปสู่มหาวิทยาลัยอื่นๆ มีนักศึกษาถูกจับกุมกว่า 100 รายและถูกกล่าวหาว่าเป็นการรณรงค์ต่อต้านชาวยิวหรือ anti-semitism นั่นเอง
ต้องเข้าใจว่าชาวยิวรุ่นใหม่ไม่พอใจพฤติกรรมของรัฐบาลอิสราเอลและกองทัพแม้จะเป็นคนยิวด้วยกัน เพราะคนยิวอาศัยอยู่ในหลายประเทศและก็เป็นพลเมืองมีสัญชาติของประเทศนั้น
เช่นชาวยิวในสหรัฐฯ และในยุโรป รวมถึงยิวในประเทศอื่นๆมองว่าตัวเองไม่เกี่ยวโยงกับชาวยิวในอิสราเอลและเรียกคนยิวในอิสราเอล ว่าเป็นชาวอิสราเอล
คนอิสราเอลก็เดินขบวนต่อต้านรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู เพราะการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ทำให้ชาวยิวถูกเกลียดชังทั่วโลกและเป็นภัยต่อชีวิตความเป็นอยู่และการเดินทาง
ดังนั้น ชาวอิสราเอลจึงเดินขบวนในหลายเมืองโดยเฉพาะในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่และให้เนทันยาฮู ออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศ
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความหวั่นไหวว่าผลกระทบต่อประเทศอิสราเอลจะนำไปสู่ความเกลียดชังและการต่อต้านชาวยิวหรือการขยายวงของ anti-semitism นอกจากในกลุ่มประเทศอาหรับและชาติมุสลิม
คะแนนเสียงในกลุ่มพรรคเดโมแครตต่อโจ ไบเดนตกต่ำ เพราะยิ่งใกล้เลือกตั้งชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีในต้นเดือนพฤศจิกายน ดังที่ปรากฏในรัฐมิชิแกน และกำลังขยายวงทำให้ความนิยมของโจ ไบเดนต่ำกว่า 50%
แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่หยุดสนับสนุนด้านอาวุธแก่อิสราเอล เพราะนักการเมืองสหรัฐฯ กลัวว่าจะไม่ได้คะแนนเสียงและการสนับสนุนด้านการเงินจากกลุ่มชาวยิว ซึ่งมีอิทธิพลสูง สามารถทำให้สอบตกได้
คนอเมริกันยังต้องเลือกว่าจะเอาโจ ไบเดนวัย 81 ปีซึ่งมีอาการเอ๋อหลงๆ ลืมๆ สร้างความขายหน้าหลายครั้ง หรือจะเอาโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีคดีอาญาสารพัดและมีโอกาสติดคุกด้วย ทั้งยังอยู่ในวัย 78 ปี
คนอเมริกันต้องเลือกหนึ่งในสองผู้เฒ่าว่าจะเอาใครเป็นผู้นำและล้วนเป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
แต่ปัญหาสงครามทั้งในฉนวนกาซาและยูเครน ยังเป็นเรื่องที่สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศนาโตหาทางออกไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรเพราะโอกาสที่ยูเครนจะชนะรัสเซียนั้นเป็นไปไม่ได้
มีปัญหาว่าอิสราเอลอาจจะก่อสงครามกับอิหร่านหลังจากที่ใช้จรวดและอาวุธยิงข้ามแดนไปมาและจะมีการตอบโต้กันอีกถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่หยุด
ในสหรัฐฯ จะเป็นเรื่องที่ตัดสินอนาคตและทิศทางของประเทศว่าจะเป็นอย่างไรทางด้านเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยสหรัฐฯ มองว่ารัสเซียและจีนเป็นศัตรู และยังเพิ่มอิหร่านเข้าไปด้วย
สหรัฐฯ เป็นนักค้าสงคราม ไม่เคยจริงใจกับใคร ก่อนหน้านี้ก็ทิ้งอัฟกานิสถาน และมีแว่วว่าจะทิ้งยูเครนต่อไปและสถานการณ์จะชัดเจนหลังจากการเลือกตั้งและรู้ว่าใครเป็นผู้นำทำเนียบขาว
ใครจะไป ใครจะมา ประชาคมโลกก็ยังมองว่าสหรัฐฯ คือตัวปัญหาอยากเป็นเจ้าโลก หาเรื่องทำสงครามไปทั่ว