ประธานาธิบดี โจ ไบเดน และอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ บรรลุเป้าหมายเก็บจำนวนคณะผู้แทนออกเสียง (delegates) ได้เพียงพอที่จะถูกเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันลงชิงชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเดือน พ.ย.แล้ว ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นการ "รีแมตช์" ครั้งแรกของผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในรอบ 70 ปี
ไบเดน จำเป็นต้องเก็บจำนวนผู้แทนออกเสียงให้ได้ถึง 1,968 เสียง และทำได้สำเร็จเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (12 มี.ค.) หลังผลการนับคะแนนในศึกไพรแมรีที่รัฐจอร์เจีย มิสซิสซิปปี วอชิงตัน และหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา เริ่มทยอยถูกประกาศ
หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ทรัมป์เองก็กวาดคณะผู้แทนออกเสียงได้ถึงเกณฑ์ 1,215 เสียงสำหรับการล็อกเก้าอี้ผู้แทนพรรครีพับลิกัน จากการแข่งขันชิงผู้แทน 161 คนใน 4 รัฐ ได้แก่ ฮาวาย มิสซิสซิปปี วอชิงตัน รวมถึงจอร์เจียซึ่งเป็นสนามเลือกตั้งที่ ทรัมป์ โดนฟ้องคดีอาญาฐานพยายามล้มผลเลือกตั้งในปี 2020
ไบเดน วัย 81 ปี ได้เปิดแถลงข่าวหลังคว้าตำแหน่งผู้แทนพรรคเดโมแครตอย่างแน่นอนแล้ว โดยบอกว่าการกลับคืนสังเวียนเลือกตั้งของ ทรัมป์ นั้นก็เพื่อที่จะ "ก่อความไม่พอใจ การแก้แค้น และการเอาคืน" ซึ่งบ่อนทำลายรากฐานความเป็นอเมริกา
"ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกันจะต้องเลือกอนาคตของประเทศ เราจะยืนหยัดปกป้องระบอบประชาธิปไตยหรือปล่อยให้คนอื่นมาทำลายมัน? เราจะฟื้นฟูสิทธิในการเลือกและปกป้องเสรีภาพ หรือปล่อยให้พวกหัวรุนแรงสุดโต่งมาช่วงชิงมันไป?" ไบเดน กล่าว
อันที่จริงการคว้าตั๋วผู้แทนรีพับลิกันของ ทรัมป์ เป็นผลลัพธ์ที่ทุกฝ่ายคาดเดาได้ล่วงหน้า หลังจากที่ นิกกี เฮลีย์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ตัดสินใจถอนตัวออกจากการแข่งขันชิงผู้แทนพรรครีพับลิกัน ตามหลังศึก "ซูเปอร์ทิวสเดย์" สัปดาห์ที่แล้วที่ ทรัมป์ เก็บชัยชนะไปได้ 14 รัฐจากทั้งหมด 15 รัฐ
อดีตผู้นำสหรัฐฯ ได้โพสต์คลิปลงโซเชียลมีเดีย โดยบอกเหล่าแฟนคลับว่า "ยังไม่ถึงเวลา" ที่จะฉลองชัยชนะ และหลังจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการเอาชนะ โจ ไบเดน ซึ่งเขาวิจารณ์ว่าเป็นประธานาธิบดีที่ "ห่วยที่สุด" เท่าที่สหรัฐฯ เคยมีมา
สำหรับ ไบเดน นั้นเผชิญกระแสต่อต้านเพียงเล็กน้อยจากคนในพรรคเดโมแครต แม้นักเคลื่อนไหวสายลิเบอรัลที่ไม่พอใจการสนับสนุนอิสราเอลในสงครามกาซาจะสามารถโน้มน้าวให้ฐานเสียงเดโมแครตส่วนน้อยออกมาประท้วง ไบเดน ด้วยการกาบัตรในช่อง "uncommitted" คือไม่โหวตให้ผู้สมัครชิงตัวแทนพรรคคนใดเลยก็ตาม
เวลานี้ทั้ง ทรัมป์ และ ไบเดน ต่างมุ่งความสนใจไปยังศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 5 พ.ย. และได้มีการเดินสายปราศรัยพร้อมกันที่รัฐจอร์เจียเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (9)
ทรัมป์ วัย 77 ปี ยังคงอ้างกับฐานเสียงที่จอร์เจียว่ามีการโกงผลการเลือกตั้งในปี 2020 พร้อมกล่าวหา ฟานี วิลลิส พนักงานอัยการเทศมณฑลฟุลตันว่าสั่งฟ้องตนโดยมีเหตุจูงใจทางการเมือง ขณะเดียวกัน ก็โจมตีรัฐบาล ไบเดน ว่าล้มเหลวในการสกัดกั้นผู้อพยพไม่ให้ทะลักเข้าสู่พรมแดนตอนใต้ของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นประเด็นหลักที่ ทรัมป์ ใช้ในการหาเสียงมาตั้งแต่ปี 2020
ด้านทีมหาเสียงของ ไบเดน ก็เข้าสู่เฟส “รุก” เต็มขั้น โดยประกาศว่าผู้นำสหรัฐฯ จะลงพื้นที่หาเสียงในรัฐสมรภูมิสำคัญๆ และมีการทุ่มงบโฆษณาสูงถึง 30 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ทีมงาน ไบเดน ยังสามารถระดมทุนได้ถึง 10 ล้านดอลลาร์ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากที่ ไบเดน กล่าวแถลงนโยบายประจำปี (State of the Union) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
การกลับมาพบกันครั้งที่ 2 ของคู่ชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้นเคยเกิดขึ้นล่าสุดในปี 1965 โดยประธานาธิบดี ดไวท์ ไอเซนฮาวร์ จากพรรครีพับลิกันสามารถเอาชนะ แอดไล สตีเวนสัน อดีตผู้ว่าการรัฐอิลลินอยส์จากพรรคเดโมแครตได้เป็นครั้งที่สอง
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจโดยรอยเตอร์/อิปซอสพบว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกันส่วนใหญ่รู้สึกเหนื่อยหน่ายกับศึกชิงประธานาธิบดีที่กำลังจะมาถึง และส่วนใหญ่บอกว่าไม่อยากเห็นทั้ง ไบเดน และ ทรัมป์ กลับมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ อีก
การที่ ทรัมป์ ถูกอัยการสั่งฟ้องคดีต่างๆ รวม 91 กระทง ทั้งจากกรณีการบิดเบือนข้อมูลทางธุรกิจเรื่อยไปจนถึงการจ่ายเงินปิดปากอดีตดาราหนังผู้ใหญ่ที่ตนเคยมีสัมพันธ์สวาทด้วย ยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เขายากจะได้คะแนนเสียงจากกลุ่มคนเมืองที่มีการศึกษาสูง
สำหรับคดีร้ายแรงที่สุดที่ ทรัมป์ ตกเป็นจำเลยคือคดีล้มผลเลือกตั้งปี 2020 ทว่าศาลสูงสุดสหรัฐฯ มีคำสั่งระงับการไต่สวนไว้ก่อน เพื่อพิจารณาข้อโต้แย้งของ ทรัมป์ ที่อ้างว่าตนได้รับความคุ้มครองจากการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายขณะดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ และยังไม่แน่ว่าการไต่สวนคดีนี้จะสามารถเริ่มขึ้นได้ก่อนถึงวันเลือกตั้ง 5 พ.ย.หรือไม่
ในส่วนของ ไบเดน ก็มีจุดอ่อนตรงที่คนอเมริกันส่วนใหญ่คิดว่าเขา “แก่เกินไป” ที่จะดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 และยังรู้สึกว่ารัฐบาลของเขารับมือวิกฤตผู้อพยพหลั่งไหลเข้าสหรัฐฯ ผ่านทางพรมแดนเม็กซิโกได้ไม่ดีพอ ซึ่งในประเด็นนี้ ไบเดน พยายามโยนความผิดไปให้ ทรัมป์ หลังจากที่อดีตผู้นำสหรัฐฯ ไปยุให้พวก ส.ส.รีพับลิกันขัดขวางร่างกฎหมายซึ่งจะเพิ่มมาตรการป้องกันชายแดนให้เข้มแข็งขึ้น
ในด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลไบเดนถือว่าทำผลงานเอาไว้ค่อนข้างดี โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการขยายตัวต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อลดลง ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็พุ่งแรงเป็นประวัติการณ์ แต่กระนั้นผลสำรวจความคิดเห็นกลับพบว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ได้ให้เครดิตกับประธานาธิบดีสักเท่าไหร่ และยังไม่พอใจปัญหาค่าครองชีพและราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก
ขณะเดียวกัน แนวโน้มที่ ทรัมป์ อาจจะ “คัมแบ็ก” กลับมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ ในปีหน้าก็ทำให้บรรดาผู้นำยุโรปต่างวิตกกังวล เพราะนั้นหมายความว่าสหรัฐฯ อาจจะลดการสนับสนุนทั้งยูเครนและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต)
เดือนที่แล้ว ทรัมป์ ออกมาขู่ว่าสหรัฐฯ ซึ่งมีเขาเป็นผู้นำจะไม่ปกป้องรัฐสมาชิกนาโตที่ยังไม่ยอมใช้จ่ายงบประมาณกลาโหมถึง 2% ของจีดีพี และจะปล่อยให้รัสเซีย “ทำอะไรก็ได้ตามใจ” กับประเทศเหล่านั้น
ด้านนายกรัฐมนตรี วิกเตอร์ ออร์บาน แห่งฮังการี ซึ่งเดินทางไปพบ ทรัมป์ ที่รัฐฟลอริดาเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (9) ก็เผยกับสื่อมวลชนว่า ทรัมป์ จะไม่อัดฉีดงบช่วยยูเครนอีกต่อไปหากเขาชนะเลือกตั้ง และนั่นจะช่วยให้สงครามรัสเซีย-ยูเครนปิดฉากเร็วขึ้น
“เขาจะไม่ให้เงินสนับสนุนสงครามรัสเซีย-ยูเครนแม้แต่เพนนีเดียว ดังนั้นสงครามจะจบแน่นอน” ออร์บาน ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์แห่งชาติฮังการีเมื่อค่ำวันอาทิตย์ (10 มี.ค.)
“เราก็เห็นชัดเจนกันอยู่แล้วว่า ยูเครนไม่สามารถยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้” ผู้นำฮังการีเอ่ยเสริม “ถ้าชาวอเมริกันไม่ให้เงินและอาวุธ รวมถึงชาวยุโรปด้วย สงครามครั้งนี้ก็จะจบ และหากชาวอเมริกันไม่ให้เงิน ชาวยุโรปก็ไม่มีปัญญาจะควักกระเป๋าตัวเองสนับสนุนสงครามเช่นกัน ดังนั้นสงครามก็ต้องจบแน่นอน”
ออร์บาน เอ่ยเสริมว่า ภายหลังการหยุดยิงสงครามจะจบลงด้วยการเจรจาสันติภาพหรือไม่ และยุโรปจะมีเสถียรภาพและปลอดภัยอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือสันติภาพต้องเกิดขึ้นก่อน ซึ่ง ทรัมป์ มีศักยภาพพอที่จะทำได้
นับตั้งแต่รัสเซียส่งทหารบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ปี 2022 ออร์บาน ยืนกรานปฏิเสธไม่ยอมให้ฮังการีซึ่งเป็นทั้งสมาชิกนาโตและอียูจัดส่งอาวุธไปช่วยเคียฟ มิหนำซ้ำยังหันไปยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับมอสโก รวมถึงมีการพบปะหารือกับประธานาธิบดี ปูติน ของรัสเซียหลายครั้ง
หนังสือพิมพ์เทเลกราฟของอังกฤษรายงานเมื่อวันเสาร์ (9) ว่า นักการทูตนาโตหลายคนออกมาแสดงความเป็นห่วงว่านาโตเผชิญความเสี่ยงร้ายแรงที่สหรัฐฯ จะปลีกตัวออกห่างจากพันธมิตรทางทหารแห่งนี้ หากว่า โดนัลด์ ทรัมป์ คว้าชัยกลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำอีกสมัยในศึกเลือกตั้งเดือน พ.ย. นอกจากนี้พวกผู้แทนทูตยังเสนอให้รัฐสมาชิกนาโตในยุโรปเตรียมแผนยุทธศาสตร์บางอย่างขึ้นมาเพื่อรับมือกับความสุ่มเสี่ยงดังกล่าว และกลับมาพิจารณาทบทวนแสนยานุภาพในการป้องกันตนเองของทางกลุ่ม
ด้านประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้ให้สัมภาษณ์สื่อของรัฐบาลหมีขาวในสัปดาห์นี้ว่า มอสโกไม่มีแผนแทรกแซงศึกเลือกตั้งในสหรัฐฯ และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับผู้นำที่ชาวอเมริกันเลือกมา ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม
“เราไม่เคยแทรกแซงการเลือกตั้งที่ไหน ไม่ว่าจะในรูปแบบใด... และก็อย่างที่ผมเคยพูดไปหลายครั้งแล้วว่า เรายินดีทำงานร่วมกับผู้นำที่ชาวอเมริกัน และผู้ออกเสียงชาวอเมริกันไว้วางใจเลือกมา” เขากล่าว
ปูติน เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่า เขาอยากให้ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ มากกว่า ทรัมป์ เพราะเป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์สูงและ “คาดเดาได้ง่ายกว่า” ทว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ตีความว่าผู้นำหมีขาวมีเจตนาตรงกันข้ามกับสิ่งที่พูด