ทันทีที่งบประมาณชั่วคราว (CR-Continuing Resolution) ผ่านวุฒิสภารอบสอง (ในไม่กี่นาทีก่อนเที่ยงคืนวันเสาร์ที่ 30 กันยายน) และส่งต่อไปให้ปธน.ไบเดนลงนาม…ผู้นำเสียงข้างมากของวุฒิสภาคือ สว.อาวุโสจากรัฐนิวยอร์ก สว.ชัค ชูเมอร์ ก็ได้ประกาศแถลงหน้าอาคารรัฐสภาว่า จะนำคณะ (Mission) ไปยังปักกิ่ง โดยจะเป็น Bi-Partisan, ได้แก่คณะ สว.จากทั้งสองพรรคใหญ่ร่วมกัน, เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ (ที่ร้าวฉานหนักระหว่างสหรัฐฯ และจีน) ให้กลับคืนสู่ปกติให้มากสุด จะได้กลับสู่ความร่วมมือกันในหลายด้าน เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ รวมทั้งเพื่อช่วยเสริมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งโลก และความสงบสุขทั่วหน้ากัน
มีการแย้มออกมาด้วยว่า เพื่อไปหว่านล้อม (อ้อนวอน?) จีนให้ยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าชิปจากบ.อเมริกันผู้ผลิตชิปรายใหญ่สุดคือ Micron ด้วย
ที่เขาไม่ได้แถลงออกมา แต่เป็นที่ทราบกันจากเหล่านักวิเคราะห์ก็คือ การที่จีนห้ามส่งออกสารตั้งต้นของการผลิตชิปสำคัญ 2 ตัวคือ Gallium และ Germanium ซึ่งอาจตามมาด้วยสารตั้งต้นตัวอื่นๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการผลิต ทั้งชิปที่ใช้กับไอโฟน, AI, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สารพัด รวมทั้งขีปนาวุธด้วย และที่จะผลิตแบตเตอรี่ในอุปกรณ์ไฟฟ้าและอาวุธนานาชนิดอีกมากมาย
ที่เขาไม่ได้แถลงออกมาด้วย น่าจะเป็นการไปหว่านล้อมให้จีน...ไม่เทขายพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน ซึ่งเดิมจีนเป็นผู้ถือรายใหญ่สุดของโลก (เพราะเป็นสินทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือสูงมากสุดของโลก) แต่หลัง 24 ก.พ.ที่รัสเซียบุกยูเครน ทางสหรัฐฯ ประกาศอายัดเงินสำรองของรัสเซียที่ฝากในรูปแบบพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน รวมทั้งทองคำ และเงินสกุลแข็งอื่นๆ ที่ฝากไว้ในสถาบันการเงินสหรัฐฯ และในยุโรป มูลค่าสูงกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นการลงโทษรัสเซีย...และต่อมาได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวจะนำเงินของรัสเซียนี้ไปมอบให้แก่ยูเครนเพื่อใช้สำหรับฟื้นฟูยูเครนเมื่อสงครามสิ้นสุดลง (หรือจะทยอยเอาออกมามอบให้ยูเครน...ขณะที่สงครามยังไม่จบสิ้นลง เพื่อให้ยูเครนนำมาใช้จ่ายขณะนี้ด้วย...ซึ่งส่วนหนึ่งคือ ยูเครนจะได้มีเงินไว้ซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ บางส่วน หรือซ่อมแซมประเทศในขณะที่สาธารณูปโภคถูกทำลายลงสิ้น)
สหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาลอเมริกันเมื่อตอนต้นปี และทางกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะต้องออกพันธบัตรมาใช้สูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งจะต้องพยายามหารัฐบาลประเทศต่างๆ มาซื้อพันธบัตรนี้; และจีนเคยเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน; แต่หลัง 24 ก.พ.ปีที่แล้ว จีนทยอยลดน้ำหนักการถือครองพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน; รวมทั้งประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศผู้ผลิตน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย ก็ทยอยลดน้ำหนักการถือครองพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน เพราะเกรงว่าจะตกที่นั่งเดียวกันกับรัสเซียคือ ถ้ารัฐบาลอเมริกันไม่พอใจนโยบายต่างประเทศ และความมั่นคงของประเทศใดๆ ก็จะอายัด (หรือยึด) เงินฝากและพันธบัตรที่พวกเขาถือไว้ และทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันอย่างที่ปธน.ปูตินออกมาประณามรัฐบาลอเมริกันของปธน.ไบเดนว่า “ใช้ดอลลาร์เป็นอาวุธ” คือ ทั้งอายัด หรือยึดเงินฝากของประเทศรัสเซีย พร้อมกับไม่ให้รัสเซียใช้ระบบบ SWIFT ในการแลกเงินดอลลาร์ด้วย ทำเอาเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่ายวบลงจาก 70 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์ กลายเป็น 130 รูเบิลในพริบตาเดียว
รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งรมต.คลัง เจเน็ต เยลเลน ไปเจรจากับจีนเมื่อช่วงไตรมาส 2 ซึ่งมีคำพูดเป็นมิตรที่ออกมาจากปากของเธอว่า โลกเรานี้ใหญ่พอสำหรับสองประเทศคือ สหรัฐฯ และจีน และเปิดทางสำหรับการเจรจาลดภาษีสินค้าที่เก็บในระดับสูงมาก (เริ่มจาก Trade War สมัยทรัมป์ด้วยซ้ำ) รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นโดยพยายามหว่านล้อมไม่ให้จีนเดินหน้าลดน้ำหนักการถือครองพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน...หรือให้กลับมาซื้อพันธบัตรใหม่ที่กำลังจะออกมา
อีกเรื่องที่ 3 ที่ สว.ชัค ชูเมอร์ ไม่ได้แถลงต่อสื่อ แต่เป็นที่รู้กันว่า เขาจะพยายามหว่านล้อมให้ ปธน.สีเดินทางมาร่วมประชุม APEC ซึ่งจะจัดที่ซานฟรานซิสโก ในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยมีปธน.ไบเดนเป็นเจ้าภาพนั่นเอง...เพื่อนำไปสู่การเปิดทางสื่อสารระหว่างผู้นำทั้งสอง แทนการห่างเหินและเข้าใจผิดกันง่ายขึ้น และน่าจะเพิ่มคะแนนนิยมให้แก่ไบเดนในการเลือกตั้งปีหน้า
Mission ของ สว.ชัค ชูเมอร์ ครั้งนี้ เขาพูดผ่านหน้าจอไปว่า อยากขอโอกาสเข้าพบปธน.สีอย่างยิ่ง! เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนดีขึ้นมาบ้าง (ยังไม่มีคำตอบว่า ปธน.สี จะให้พบหรือไม่!)
ชัค ชูเมอร์ คงไม่ได้หวังว่าจะได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ถ้า Mission ครั้งนี้ของเขาจะทำให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนคืนดีขึ้น (คงไม่น่าเทียบได้กับรมต.ต่างประเทศจีน หวัง อี้ ที่ทำให้เกิดการคืนดีระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน)...แต่จะเป็น Mission ครั้งแรกในปีนี้ที่มีโอกาสปรับสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน…เพราะ 4 Mission ก่อนหน้านี้ไม่ประสบผลสำเร็จใดๆ นั่นคือ
Mission แรก โดยรมต.ต่างประเทศบลิงเคน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากเขาระงับการเดินทางไปปักกิ่งอย่างไม่มีกำหนด (หลังจากปธน.ไบเดนสั่งยิงบอลลูนยักษ์ของจีนจนแตกกระจายร่วงลงมหาสมุทรแอตแลนติก...ด้วยข้อหาสอดแนมแอบถ่ายภาพฐานทัพสหรัฐฯ ในแผ่นดินใหญ่)...ซึ่งต่อมาเพิ่งเปิดเผยเมื่อปลายกันยายน โดยประธานคณะเสนาธิการร่วม...(คล้าย ผบ.สส.ของไทย) ชื่อ พลเอกมาร์ค มิลลีย์, ก่อนเกษียณ 10 วันว่า ในบอลลูนนั้น ไม่ได้เปิด Senser คือ ไม่มีการเก็บข้อมูลของกองทัพสหรัฐฯ แต่อย่างใด
ปธน.สีไม่ยอมตอบว่าจะให้บลิงเคนเข้าพบได้หรือไม่ จนใกล้หมดเวลาจะให้คำตอบ ก็แค่ 1 ชม.ก่อนการให้เข้าพบ ถือเป็นการดูถูกรมต.บลิงเคน พอสมควร
Mission ที่ 2 คือ รมต.คลัง เจเน็ต เยลเลน ที่ไปย้ำว่า การเจรจาเรื่องลดภาษีนั้น เหลือเวลาเจรจาอีกไม่มากแล้ว ก่อนการเปิดฉากหาเสียงในต้นปีหน้า ที่คงจะไม่เปิดโอกาสอันดีที่จะลดภาษี เพราะจะทำให้ดูว่าไบเดนยอมอ่อนข้อให้จีน
Mission ที่ 3 โดยจอห์น แคร์รี ในเรื่องโลกร้อน ก็ไม่มีคำตอบจากจีนในความร่วมมือแต่ประการใด…จนถึง Mission ที่ 4 คือ รมต.พาณิชย์ เรมอนโด ก็ยังไม่ได้ลงลึกในด้านเนื้อหาของสินค้าประเภทต่างๆ ที่จะลดภาษี รวมทั้งการคว่ำบาตรต่างๆ ซึ่งกันและกัน; เพียงแค่จัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อเดินหน้าสู่การเจรจาต่อไปเท่านั้น
Mission ที่ 5 ของคณะ สว.อเมริกันครั้งนี้จะได้ผลแค่ไหน คงต้องรอดูกันซึ่งน่าจะต่างกับคณะของท่านประธาน (House Speaker) เพโลซี ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ที่หยามน้ำหน้าจีน โดยเดินทางไปเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการ จนทำให้เกิดการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงของจีนถึง 7 วัน 7 คืนนั่นเอง