xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยวัคซีนโควิด mRNA คว้ารางวัลโนเบลสาขาการแพทย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คาทาลิน คาริโค และดริว ไวส์แมน 2 นักวิจัย คว้ารางวัลโนเบลสาขาการแพทย์เมื่อวันจันทร์ (2 ต.ค.) สำหรับการทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยี messenger RNA(mRNA) ที่เปิดทางให้เกิดการพัฒนาวัคซีนโควิด-19

คณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลโนเบลประกาศมอบรางวัลสาขาการเเพทย์ให้เเก่ ดริว ไวส์แมน แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียของสหรัฐฯ และศาสตราจารย์คาทาลิน คาริโคแห่งมหาวิยาลัยซาแกนส์ (Sagan’s University) ที่ประเทศฮังการี ผู้เป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) ด้วยเช่นกัน

ถ้อยแถลงของคณะกรรมการระบุว่า ทั้งคู่ซึ่งถูกยกให้เป็นตัวเต็งมาตลอด "มีส่วนช่วยทำให้เกิดอัตราการพัฒนาวัคซีนอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ในช่วงที่โลกเผชิญกับภัยคุกคามด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่" คณะกรรมการกล่าว

องค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ในเดือนมีนาคม 2020 และวัคซีน mRNA ได้รับอนุมัติใช้กับโรคดังกล่าว ในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน และนับตั้งแต่นั้นวัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทค และโมเดอร์นา หลายพันล้านโดสก็ถูกฉีดให้ผู้คนทั่วโลก "เมื่อรวมกับวัคซีนโควิดอื่นๆ วัคซีนช่วยรักษาชีวิตผู้คนหลายล้านคนและป้องกันการติดเชื้ออาการรุนแรงอีกมากมายหลายเท่า" คณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลโนเบลระบุ

ที่ผ่านมา คาริโค วัย 68 ปี และไวส์แมน วัย 64 ปี คว้ารางวัลต่างๆ มามากมายต่องานวิจัยของพวกเขา

แม้งานวิจัยของผู้ชนะรางวัลโนเบลเป็นงานวิจัยที่ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2005 แต่วัคซีนตัวแรกที่ใช้เทคโนโลยี mRNA เพิ่งถูกปล่อยออกมาเมื่อ 3 ปีก่อน

ตามปกติการสร้างวัคซีนต้องมีการเพาะเชื้อไวรัสในเซลล์ และบ่อยครั้งที่อาศัยกระบวนการให้ไวรัสเติบโตในไข่ไก่ จากนั้นจึงผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ ก่อนนำไปสู่ขั้นตอนการพัฒนาสูตรวัคซีน ตามรายงานของเอพี

เทคนิค mRNA ทำให้กระบวนการดังกล่าวเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเริ่มจากการใช้รหัสพันธุกรรมเล็กๆ ที่มีข้อมูลการสร้างโปรตีน เมื่อเลือกโปรตีนไวรัสที่ต้องการอย่างถูกต้อง ร่างกายมนุษย์จะทำหน้าที่เสมือนโรงงานวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้นกันโรค

นายเเพทย์พอล ฮันเตอร์ ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยอีสต์ แองเกลีย (University of East Anglia) กล่าวว่า วัคซีน mRNA เป็น "ตัวเปลี่ยนเกม" ในการต่อสู้กับการระบาดของโคโรนาไวรัส และเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนหลายล้านคนรอดชีวิต

แนวคิดเกี่ยวกับเทคนิค mRNA ถูกทดลองเป็นครั้งแรกในปี 1990 ทว่าต้องใช้เวลาจนถึงช่วงกลางทศวรรษ 2000 ที่ ไวส์แมน ชาวสหรัฐฯ และคาริโค ชาวฮังการี จะคิดค้นเทคนิคหนึ่งขึ้นมาเพื่อควบคุมปฏิกิริยาอักเสบที่เป็นอันตราย(dangerous inflammatory response) ในสัตว์ที่สัมผัสกับโมเลกุลเหล่านี้ เปิดทางสำหรับการพัฒนาวัคซีนที่ปลอดภัยกับมนุษย์

ทั้งนี้ รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยา หรือการแพทย์ เป็นหนึ่งในรางวัลอันทรงเกียรติที่สุดในวงการวิทยาศาสตร์ คัดเลือกโดยคณะกรรมการโนเบล แล้วตัดสินโดยสมัชชาโนเบลแห่งสถาบันแคโรลินสกา ประเทศสวีเดน ซึ่งผู้ได้รับรางวัลนี้จะได้รับเหรียญทองรางวัลโนเบล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 11 ล้านโครนสวีเดน (ประมาณ 37 ล้านบาท)

วัคซีนโดยทั่วไปจะฝึกระบบภูมิคุ้มกันให้รับรู้และต่อสู้กับภัยคุกคาม เช่น ไวรัสหรือแบคทีเรีย โดยที่เทคโนโลยีวัคซีนแบบดั้งเดิมจะใช้ชิ้นส่วนของไวรัสหรือแบคทีเรียที่ตายหรืออ่อนแอลง แต่วัคซีน mRNA ใช้วิธีการที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

เทคโนโลยี mRNA ทำงานเหมือนกับเครื่องแปลในร่างกายมนุษย์ โดยจะแปลงภาษาของ DNA จากชุดคำสั่งทางพันธุกรรมไปเป็นโปรตีนจริงที่สร้างและทำงานในร่างกายของเรา

แนวคิดเบื้องหลังวัคซีน mRNA คือการแอบเข้าไปในกระบวนการนั้น พัฒนา mRNA ที่จำลองหรือแสร้งว่าเป็นชิ้นส่วนของไวรัสได้ ร่างกายจะสร้างโปรตีนเหล่านั้นขึ้นมา และระบบภูมิคุ้มกันจะเรียนรู้วิธีต่อสู้กับพวกมัน

คาริโก และไวสส์แมน พบกันตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 ขณะทำงานที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย โดยขณะนั้นความสนใจในเทคโนโลยี mRNA ยังคงถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกพูดถึงและไม่เป็นที่รู้จัก

เดิมทีเทคโนโลยีนี้มีปัญหาในระยะแรก แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นักวิจัยสามารถผลิตโปรตีนที่ต้องการได้จำนวนมาก โดยไม่ก่อให้เกิดการอักเสบหรือผลข้างเคียงในระดับที่เป็นอันตราย ปูทางไปสู่การพัฒนาวัคซีนที่ใช้ในมนุษย์ได้จริงในที่สุด

(ที่มา : เอเอฟพี/เอพี/วอยซ์ออฟอเมริกา)


กำลังโหลดความคิดเห็น