กรมวิทย์เผยเตรียมพร้อม "แล็บ" รองรับคัดกรองมะเร็ง ตามนโยบาย "มะเร็งครบวงจร" ของ "หมอชลน่าน" เผยตรวจยีน "มะเร็งเต้านม" อยู่ในสิทธิประโยชน์แล้ว แต่มีเกณฑ์ข้อบ่งชี้ ไม่ได้ตรวจทุกคน หากมีการขยายตรวจมากขึ้น ก็พร้อมคัดกรอง ย้ำตรวจยีนไม่ใช่ทุกอย่าง เป็นปัจจัยแค่ 30% หากตรวจเจอต้องปรับพฤติกรรมเสี่ยงด้วย ส่วนมะเร็งปากมดลูกมี HPV DNA Test เก็บสิ่งส่งตรวจเองได้ ขณะที่มะเร็งลำไส้ตรวจจากอุจจาระได้
เมื่อวันที่ 25 ก.ย. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมของห้องปฏิบัติการ (แล็บ) รองรับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่างๆ ตามนโยบาย "มะเร็งครบวงจร" ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งจะรุกคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านมในเพศหญิง และคัดกรองมะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ และมะเร็งปอดในเพศชาย ว่า วันนี้ที่แล็บเราทำได้ที่ค่อนข้างต่างจากเดิมคือ การตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ซึ่งเป็นการคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิง ซึ่งไม่ต้องทำอะไรที่เป็นการเจ็บตัว เพียงแค่เจาะเลือดมาตรวจ ว่าเจ้าตัวมีรหัสพันธุกรรมของตัวอะไร ถ้ามีนี้อยู่ก็จะมีความเสี่ยงการมะเร็งเต้านมสูงขึ้นหลายเท่า ซึ่งกรมวิทย์ร่วมมือกับกรมการแพทย์ โดย รพ.มะเร็งอุดรธานี ในการศึกษาอย่างจริงจัง ที่จะดูว่าคนไทยเองมีความสัมพันธ์มากน้อยแค่ไหน โดยการตรวจยีนดังกล่าว เนื่องจากโรคกำลังเดินไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Precision Medicine หรือการแพทย์แม่นยำ เรื่องของยีนถ้าตรวจเจอจะพยากรณ์โรคได้ว่าใครจะเป็นอะไรอย่างไร จะได้ไปปรับพฤติกรรมส่วนที่เหลือ
"Genetic ไม่ใช่ทุกอย่าง แต่เป็นปัจจัยประมาณ 30% แต่ที่เหลืออีก 60-70% เป็นเรื่องของพฤติกรรม ถ้าคิดว่าเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ก็จะได้ลดพฤติกรรมที่ทำให้ซ้ำเติมหรือเป็นมะเร็งง่ายๆ สำหรับศักยภาพในการตรวจคัดกรองยีนมะเร็งเต้านมนั้น เนื่องจากมีการให้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ไม่ได้ให้ผู้หญิงทุกคนตรวจ เพราะจะมีเกณฑ์ในการตรวจ เช่น ต้องมีญาติสายตรง เป็นต้น ซึ่งในการตรวจจะมีการจ่ายให้ รพ.และแล็บที่ดำเนินการตรวจตรงนี้รายละ 1 หมื่นบาทต่อเคส ถ้าเราได้เห็นความสัมพันธ์มากๆ คิดว่าเป็นประโยชน์ก็จะกระจายออกไปอย่างกว้างขวาง โดยกรมวิทย์มีความพร้อมถ้าจะมีการขยายการตรวจมากขึ้น เรายินดีที่จะคัดกรองให้ได้มากขึ้น" นพ.ศุภกิจกล่าว
เมื่อถามว่ามีการตรวจยีนมะเร็งเต้านมและเก็บเป็นฐานข้อมูลของประเทศมากน้อยแค่ไหนแล้ว นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขณะนี้ยังมีคนมาตรวจไม่มาก แต่ถามว่าคนเป็นมะเร็งเต้านมเยอะหรือไม่ ถือว่าเยอะเพราะเป็นเบอร์ 1 เบอร์ 2 หรือเรียกว่าเป็น Big 5 ของมะเร็ง ซึ่งถ้ามาตรวจแล้วรู้ว่ามียีนที่มีความเสี่ยงจะได้ลดปัจจัยที่ทำให้เกิด เราพบว่า มี 2-3 เรื่องที่เคยมีการศึกษาพบว่า สัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งเต้านม คือเคยมีญาติสายตรงเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน ได้ใช้ยาคุมกำเนิดบางชนิดมายาวนานมาก โดยไม่ได้เปลี่ยนวิธีอื่น และภาวะอ้วน ที่จะทำให้สุดท้ายอายุมากขึ้นอาจเป็นมะเร็งเต้านม หากเราตรวจเจอยีน ทางเลือกเรายังไม่แนะนำให้ตัดนมเหมือนดาราในสหรัฐฯ แต่สามารถลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดปัญหา คือ ลดความเสี่ยงอื่นได้ นอกจากนี้ ทุกรายที่ตรวจเราก็จะเก็บข้อมูลเป็น Data ของประเทศด้วย ซึ่งเรามีโครงการจีโนมิกส์ไทยแลนด์ ซึ่งมะเร็งก็เป็นกลุ่มหนึ่งแต่ไม่ใช่แค่มะเร็งเต้านม ก็จะมีมะเร็งทั่วๆ ไป เราจะตรวจเรื่องรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ด้วย จนเป็นฐานข้อมูลประเทศ
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ส่วนมะเร็งอีกตัวของผู้หญิงอย่างมะเร็งปากมดลูก เกิดจากเชื้อ HPV วิธีตรวจมะเร็งปากมดลูกในอดีต จะมีการตรวจที่เรียกว่า แปปสเมียร์ (Pap Smear) ที่ต้องไปขึ้นขาหยั่งใน รพ. ให้คุณหมอตรวจ หลายคนก็ไม่ค่อยยินดีจะไปทำ อัตราการตรวจก็น้อย ตอนหลังเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น เราสามารถตรวจเชื้อ HPV ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับมะเร็งปากมดลูก ด้วย HPV DNA Test ก็ไม่ต้องมาขึ้นขาหยั่ง เป้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง ซึ่งแล็บก้มีความพร้อมในการตรวจ ก็จะสอดคล้องกับที่รัฐบาลประกาศว่าจะฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก 1 ล้านโดส ในผู้หญิงอายุ 11-20 ปี เพราะวัคซีนนี้ใช้ป้องกันเชื้อโรคตัวนี้โดยตรง
ถามถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งในผู้ชายแล็บก็มีความพร้อมด้วยหรือไม่ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า เราเริ่มมีเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างบริษัท บีจีไอ จีโนมิกส์ ก็กำลังทดลองอยู่ ในส่วนของการนำอุจจาระไปตรวจดูว่า มีเซลล์ที่อาจจะมีปัญหาเรื่องมะเร็งหรือไม่ โดยไม่ต้องไปสวนทวารดูกล้อง ซึ่งค่อนข้างยาก และคนก็จะกลัวกังวลว่าจะอันตราย ก็จะเก็บอุจจาระเอามาตรวจ ซึ่งขณะนี้กำลังดูว่า มีความสัมพันธ์มากน้อยแค่ไหนกับมะเร็ง เจอมากน้อยแค่ไหน ซึ่งต่อไปในอนาคตเทคโนโลยีพวกนี้ก็จะมีเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ