xs
xsm
sm
md
lg

“ศุภมาส” นำผู้บริหารและนักวิจัยจากกระทรวง อว.ร่วมประชุม STS forum 2023 เวทีผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 1 -3 ต.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศุภมาส” นำผู้บริหารและนักวิจัยจากกระทรวง อว.ร่วมประชุม STS forum 2023 เวทีผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 1 -3 ต.ค.นี้ เตรียมนำเสนอความสำเร็จการขับเคลื่อนนโยบาย BCG ของประเทศไทย พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับรัฐมนตรีและผู้นำระดับสูงที่มีบทบาทต่อการกำหนดนโยบายด้าน วทน.

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ตนจะนำคณะผู้บริหารและนักวิจัยของกระทรวง อว.ไปร่วมการประชุมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสังคม ครั้งที่ 20 (Science and Technology in Society: STS forum 2023) ซึ่งเป็นเวทีหารือด้านนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น โดยจะมีรัฐมนตรีและผู้บริหารประเทศ ผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลก ผู้บริหารองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เช่น นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล จากทั่วโลกกว่า 81 ประเทศ นักวิจัยและผู้นำรุ่นใหม่ด้านวิทยาศาสตร์ เข้าร่วมประชุม เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความต้องการและผลกระทบจากการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อสังคม ภายใต้กรอบแนวคิด “Lights and Shadows of Science and Technology”

รมว.อว.กล่าวต่อว่า การเข้าร่วมประชุม STS Forum 2023 ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้พบปะหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์กับรัฐมนตรีและผู้นำระดับสูงที่มีบทบาทต่อการกำหนดนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ทั่วโลก ทั้งจากประเทศในอาเซียน เอเชีย ยุโรปและแอฟริกา รวมถึงยังมีนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำและผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ จากหลายประเทศ ซึ่งจะนำมาสู่การขยายเครือข่ายความร่วมมือและการเข้าถึงนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการวางแผนกลยุทธ์พัฒนาวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงวงการการอุดมศึกษาของไทยต่อไป

“การประชุม STS Forum 2023 ประเทศไทยจะนำเสนอความสำเร็จในการขับเคลื่อนนโยบายการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนตามแนวทาง Bio-Circular Green Economy model รวมทั้งเรื่อง Go Green หรือการใส่ใจสิ่งแวดล้อม เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องของ Carbon Neutrality พลังงานสะอาด เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจสร้างสรรค์และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องของการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาร่วมมือกันแก้ปัญหาของโลกและเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชากรโลกให้อยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกประเทศต้องทำงานร่วมกันจึงจะประสบความสำเร็จ” น.ส. ศุภมาส กล่าวและว่า

นอกจากนี้ ตนจะนำผู้บริหาร อว.เข้าหารือกับประธาน Japan Science and Technology Agency (JST) สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐของญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการวิจัยและความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม พร้อมหารือกับผู้บริหารสูงจาก TOYOTA Motor Corporation เพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรหนุนงานวิจัยและนวัตกรรม และเพิ่มบุคลากรวิจัยของประเทศไทยด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น